ประวัติศาสตร์ผัวเดียวเมียเดียว : ความมากเมียของคนชั้นสูง ภาวะกึ่งเมืองขึ้น และการต่อสู้เพื่อเมียเดียวของคนชั้นกลาง

9/2023

หนังสือเล่มนี้อ่านสนุกมากถึงมากที่สุด!

ชื่อเรื่องของหนังสือคือ ‘ผัวเดียว เมีย…เดียว’ ที่ใส่ … เอาไว้ คล้ายลังเลใจ คล้ายไม่รู้ว่ามันควรจะเมียเดียวหรือมิใช่

โดยมีโปรยรองบนปกบอกว่า นี่คือ ‘อาณานิคมครอบครัวในสยาม’

ถ้าถามคุณว่า สังคมไทยเป็นสังคมผัวเดียวเมียเดียวหรือเปล่า หลายคนคงตอบตรงกันว่า – ไม่ใช่

แต่หลายคนคงไม่รู้ ว่าการที่สังคมไทยแต่อ้อนแต่ออกแต่ดั้งแต่เดิมไม่ได้เป็นสังคมผัวเดียวเมียเดียวนั้น มันสะท้อนย้อนลึกเข้าไปใน ‘หัวอก’ ของ ‘เพศผู้’ หรือ ‘ชายไทย’ ที่เป็นคนชั้นสูง ที่นำเอาเรื่องความ ‘หลายเมีย’ ของ ‘ชายไทย’ ไปผูกเอาไว้กับพุทธศาสนา

ค่านิยมผัวเดียวหลายเมียนั้น เป็นค่านิยมที่แพร่หลายอยู่ในสังคมไทยมาช้านาน นานเสียจนหลายคนเห็นว่า ถ้าเปลี่ยนไปทำให้ชายไทยมีเมียได้คนเดียว จะเป็นการทำให้คนเดือดร้อน ด้วยข้ออ้างว่า – เพราะประเทศของเรายังไม่พร้อม

เหมือนข้ออ้างเรื่องการเป็นประชาธิปไตยเปี๊ยบ!

หนังสือเล่มนี้ฉายภาพให้เห็นว่า คนชั้นสูงในระดับสูงมากๆ โต้แย้งมโนทัศน์เรื่องผัวเดียวเมียเดียว ที่ถูกมองว่าเป็นของตะวันตก (และดังนั้นจึงเป็น ‘คริสต์’ อย่างยิ่ง) ด้วยวิธีการนำเอาพุทธศาสนามาโต้ตอบ

ที่น่าสนใจก็คือ สังคมสยามตกอยู่ใต้การถกเถียงกันเรื่องจะผัวเดียวเมียเดียวหรือผัวเดียวหลายเมียอยู่นานหลายสิบปี หลายรัชกาล และสองระบอบการปกครอง!

มโนทัศน์เรื่องผัวเดียวเมียเดียวเข้ามากับลัทธิอาณานิคม เมื่อสยามเห็นว่าตัวเองไม่ได้เป็นอาณานิคม แม้กระทั่งเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ก็อาจไม่ได้มองว่าเป็นการลดทอนเอกราช แต่เป็นแค่การเสียเสรีภาพไปนิดๆ หน่อยๆ สยามก็เลยไม่จำยอมกับมโนทัศน์นี้ และมีท่าทีอิหลักอิเหลื่อพิพักพิพ่วนอยู่นานมาก

หนังสือเล่มนี้ทำให้เราเห็นว่า คนไทยสมัยก่อนมองว่าผู้หญิงเป็นสิ่งมีชีวิตที่ ‘ต่ำ’ เพียงใด นั่นคือต่ำกว่ากะเทย ต่ำกว่าสัตว์ที่ถูกตอน และต่ำกว่าผู้ชาย โดยมีคติความเชื่อว่า ผู้ชายที่ไปเป็นชู้กับเมียของชายอื่น จะต้องไปเกิดเป็นผู้หญิง กะเทย และสัตว์ถูกตอนอย่างละ 500 ชาติ เพื่อชดใช้กรรม ก่อนจะกลับมาเกิดเป็นผู้ชายได้ใหม่

กว่าสังคมไทยจะยอมรับวิธีคิดแบบผัวเดียวเมียเดียวทั้งในทางกฎหมายและในทางสังคม ก็คือหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองไปแล้ว และผู้หญิงเริ่มมีสิทธิมีเสียง เริ่มเรียกร้อง ‘อำนาจ’ ของตัวเอง ประกอบกับ ‘อำนาจ’ ในระดับโลกก็กดดัน เพราะประเทศที่ผู้ชายมีหลายเมีย (โดยเฉพาะผู้ชายชั้นสูง) ในระดับโลกถือว่าประเทศนั้นด้อยพัฒนา กว่าจะเกิดการแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ กฎหมายลักษณะผัวเมีย ก็กินเวลายาวนานมาก ยาวนานจนแทบจะเข้าใจได้เลยว่าทำไมการแก้ประมวลกฎหมายนี้เพื่อนำมารองรับการแต่งงานของคนเพศเดียวกันถึงได้ยากนัก นั่นก็เพราะเราตกอยู่ในหลุมของอนุรักษ์นิยมแบบต่างๆ หลุมแล้วหลุมเล่าไม่รู้แล้วนั่นเอง

ที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งก็คือ หนังสือเล่มนี้เล่าถึงการ ‘ประดิษฐ์’ การแต่งงานขึ้นมาในยุคของ จอมพล ป. ด้วย ซึ่งก็คือการเหวี่ยงข้างไปเฉลิมฉลองอาการผัวเดียวเมียเดียว ที่ไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมคนไทยแต่ดั้งเดิม ที่นิยมหนีตามกัน หรือไปอยู่ด้วยกันโดยไม่ต้องมีพิธีรีตองอะไรมากกว่า

โดยสรุป หนังสือเล่มนี้ไม่ได้คลี่ให้เราเห็นแค่เรื่องของผัวเดียวเมียเดียวหรือหลายเมียเท่านั้น แต่ทำให้เราเห็นอาการถูกบังคับให้ต้อง ‘อยากสมัยใหม่’ ทัดเทียมอารยประเทศ แต่ก็พิพักพิพ่วนเพราะยังอยากมากเมียตามที่เคยคุ้นมาแต่เบื้องบรรพ์นั่นเอง โดยรวมจึงคือ ‘จริตไทยๆ’ ที่ฝังรากลึกอยู่ข้างใน และผลิดอกออกมาอยู่ในประวัติศาสตร์การสร้างกฎหมายพื้นฐานที่สุดกฎหมายหนึ่งที่มีผลต่อชีวิตของเราทุกคน

ควรอ่านเป็นอย่างยิ่ง!