จีนเดียว

วิธีคิดแบบ ‘จีนเดียว’ หรือ ‘รวมแผ่นดิน’ ให้เป็นหนึ่งเดียว หรือที่เคยมีคนเรียกว่า ‘ใต้หล้า’ นั้น ไม่ใช่ของใหม่เลย

มันฝังรากลึกอยู่กับจีนมาตั้งแต่สองพันกว่าปีแล้ว กับสงครามสำคัญที่สุดของจีน คือสงคราม ‘รวมแผ่นดิน’ โดยกษัตริย์ที่คนไทยคุ้นชื่อมากๆ ว่า – จิ๋นซี ซึ่งนับว่าเป็นจักรพรรดิองค์แรกของจีน

พูดแบบเหมารวมรวบรัดที่สุด วิธีคิดแบบจีนก็คือ ยิ่งแตกแยกยิ่งต้องพยายามรวมกันเป็นหนึ่งได้ โดยมีผู้ทรงอำนาจยิ่งใหญ่มากๆ ในระดับที่เป็น ‘ฮ่องเต้’ (ซึ่งเกี่ยวพันกับอำนาจแห่งสวรรค์) มาเป็นศูนย์กลางของการรวมรวบแผ่นดินที่ว่า

นั่นคือ – ยิ่ง ‘รู้สึก’ ว่ามีศัตรูที่แข็งแกร่งเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องการจักรพรรดิที่แข็งแกร่งยิ่งใหญ่มากเท่านั้น

วิธีคิดแบบนี้แตกต่างอย่างถึงรากกับวิธีคิดในการรวมกันแบบ ‘หลวมๆ’ อย่างการรวมกันเป็นชาติของสหรัฐอเมริกาที่มีประวัติศาสตร์เริ่มต้นจากการอพยพมาอยู่บนแผ่นดินใหม่ที่ค่อยๆ ทยอยมาเป็นกลุ่มๆ

แต่ะละกลุ่มถึงจะเป็นคนขาวเหมือนกัน แต่มีความคิดความเชื่อต่างกัน จึงไม่น่าแปลกใจที่สุดท้ายแล้วสหรัฐอเมริกาจะเลือกแบ่งเป็น ‘รัฐ’ ต่างๆ หลายสิบรัฐ แต่ละรัฐมีกฎหมายของตัวเอง และมอบอำนาจสำคัญๆ แค่บางอย่างให้กับรัฐบาลกลางเท่านั้น

จะเห็นว่า ตัวตนที่แตกต่างทั้งสองแบบนี้ สามารถ ‘ยิ่งใหญ่’ ได้ทั้งคู่ แต่คำถามก็คือ ความแตกต่างของตัวตน ราก และที่มานั้น เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องก่อให้เกิดความขัดแย้งกันด้วยหรือ หรือในด้านกลับกัน ความขัดแย้งที่เห็น เมื่อมองให้ลึกลงไปในประวัติศาสตร์แล้ว อาจเกิดจากความต่างที่มาจาก ‘ราก’ ของวิธีคิดเหล่านี้ด้วยเหรือเปล่า

โดยส่วนตัวคิดว่า เราจะมองว่าทุเรียนหนึ่งลูกเป็นทุเรียนหนึ่งลูกก็ได้ หรือจะมองว่าทุเรียนหนึ่งลูกมี ‘พูย่อย’ ที่เป็นเอกเทศแยกกันหลายๆ พูก็ได้อีกเหมือนกัน

ปัญหาอยู่ที่ถ้าเราชอบทุเรียน ก็ไม่ควรต้องไปบังคับให้คนที่เกลียดทุเรียนต้องกลืนกินทุเรียนเหล่านั้นลงคอ – ไม่ว่าเราจะคิดว่าทุเรียนทั้งแบบลูกและแบบพูของเราอร่อยแค่ไหนก็ตาม