เรามีชีวิตอยู่ได้ – ก็เพราะเรารู้ว่ามันมีความหมายอย่างไร

8/2023

วิคเตอร์ อี. ฟรังเกิล เป็นชาวยิวที่ผ่านค่ายกักกันของพวกนาซีในสงครามโลกครั้งที่สองมาได้อย่างมหัศจรรย์

แน่นอน หนังสือเล่มนี้เล่าถึง ‘ชีวิต’ ของคนที่แทบจะ ‘ไร้ความหมาย’ ของการมีชีวิตอยู่อีกต่อไปแล้วอย่างนักโทษในค่ายกักกัน เพราะพวกเขาไม่รู้เลยว่าจะอยู่ไปทำไม ความตายอยู่ใกล้ตัวเอามากๆ จนสำหรับหลายคนอาจคิดว่าการมีชีวิตอยู่ไม่มีความหมายอีกต่อไปแล้ว

แต่ฟรังเกิลมอง ‘ความหมาย’ ของชีวิตจากหลายมุมมอง เป็นไปได้เช่นกัน ที่การถูกพรากจากชีวิต จะทำให้เราย่ิงรู้สึกว่าการมีชีวิตอยู่นั้นมัน ‘เข้มข้น’ ขึ้น และในท่ามกลางความโหดร้าย ก็อาจมีประกายของความเมตตาเล็กๆ แทรกซอนซ่อนอยู่ตามท่ีต่างๆ ให้เราได้พยายามลองมองหาความหมายของมัน

ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับความหมายของการมีชีวิตอยู่ ซึ่งโดยเนื้อแท้ – ก็คือความหมายของชีวิตนั่นเอง

ในหนังสือเล่มนี้ ฟรังเกิลพูดถึงนักคิดหลายคน แต่มีอยู่สองคนที่สะดุดตาผมเอามากๆ คนแรกก็คือ ดอสโตเยฟสกี นักเขียนชาวรัสเซีย ผู้ตั้งคำถามกับตัวเองว่า เขาจะ ‘มีคุณค่า’ มากพอต่อความทุกข์ที่ได้รับหรือเปล่า

สำหรับดอสโตเยฟสกี ความทุกข์ไม่ใช่เรื่องที่ทำให้เขาอยากสลัดทิ้งชีวิต แต่กระทั่งความทุกข์ก็มีความหมายของมัน คำถามสำหรับดอสโตเยฟสกีมีเพียงว่า แล้วตัวเขา ‘มีค่า’ มากพอที่จะรับความทุกข์นั้น และมองเห็นความหมายของมันหรือเปล่า หรือว่าเขาจะทำได้เพียงชิงชังความทุกข์ และพยายามหลีกหนีไปจากมันแทนที่จะโอบรับและมองหาความหมายต่างๆ จากความทุกข์

ความคิดของดอสโตเยฟสกี คลับคล้ายกับความคิดของโชเปนฮาวเออร์ ที่ฟรังเกิลบอกไว้ในหนังสือเล่มนี้ว่า โชเปนฮาวเออร์เห็นว่า มนุษย์เรามีชีวิตอยู่บนเส้นสเปคตรัมที่สุดขั้วระหว่าง ‘ความทุกข์ทรมาน’ กับ ‘ความเบื่อหน่าย’

ในฝั่งหนึ่ง มนุษย์เราอาจไม่มีความทุกข์อะไรเลยก็ได้ มีชีวิตที่สุขสบายอย่างเหลือเกิน แต่นั่นจะผลักเราเข้าสู่ ‘ความเบื่อหน่าย’ ซึ่งแม้ไม่ได้ทุกข์จากสิ่งต่างๆ มารุมเร้า แต่เราจะทุกข์เพราะเราไม่รู้เลยว่าเรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร อะไรคือความหมายของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้

แต่ในอีกฟากฝั่งหนึ่ง ความทุกข์ทรมานอาจเลวร้ายอย่างเหลือเกิน แต่มันทำให้คนจำนวนมากได้มองเห็นถึง ‘ความหมาย’ ที่ชีวิตมอบให้พวกเขา

ฟรังเกิลเขียนครึ่งแรกของหนังสือเล่มนี้ในเวลาเพียงเก้าวัน มันคือการ ‘กลั่น’ ประสบการณ์ในค่ายกักกันออกมารวดเดียว จึงเป็นวิธีเล่าเหมือนเพื่อนเล่าเรื่องให้ฟัง ไม่ได้เรียบเรียงเป็นขั้นเป็นตอน แต่ค่อยๆ เล่าให้เห็นถึงชีวิตในค่าย การสูญสลายซึ่งความหมายของชีวิต ความผิดหวัง และความบังเอิญครั้งแล้วครั้งเล่าที่ทำให้เขารอดชีวิตมาได้

ส่วนในครึ่งหลัง ฟรังเกิลเขียนถึง ‘โลโกเธอราปี’ ซึ่งเป็นวิธีการบำบัดอย่างหนึ่งที่ได้ชื่อว่าเป็นสำนักบำบัดที่สามแห่งเวียนนา ถัดจากฟรอยด์และ อัลเฟรด แอดเลอร์ มันคือการมองว่า ความป่วยไข้ทางใจของมนุษย์ อาจไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเรื่องทางจิตหรือทางร่างกายอย่างเดียว แต่อาจเกิดขึ้นเพราะเราสูญเสียหรือไม่อาจมองเห็นถึง ‘ความหมาย’ ในการมีชีวิตอยู่ด้วย

การมองให้เห็นถึงความหมายแห่งชีวิต จึงเป็นเรื่องสำคัญมากๆ สำหรับฟรังเกิล – ผู้เคยผ่านพ้นทุกข์ทรมานแสนสาหัสที่สุดเท่าที่มนุษยชาติจะเคยจินตนาการถึงมาแล้ว