กล่าวกันว่า สติปัญญา ความชาญฉลาด หรือปรีชาญาณ ไม่ว่าจะมาในนามของ Wisdom หรือ Intelectuality มีนิยามสำคัญอยู่เพียงนิยามเดียว
นิยามนั้นคือ : ความฉลาดคือความสามารถที่จะยึดโยงแนวคิดที่ ‘ตรงข้ามกัน’ อย่างน้อยสองแนวคิดเอาไว้ในตัวได้ในเวลาเดียวกัน แต่กระนั้นก็ยัง ‘ฟังก์ชัน’ คือสามารถทำหน้าที่ต่างๆ ได้อยู่
ยกตัวอย่างเช่น หากเราเป็นคนที่ฝังตัวตกจมอยู่กับอุดมการณ์แบบอนุรักษ์นิยมเพียงอย่างเดียว หลงใหลและมีชีวิตอยู่กับอดีต ไม่อยากให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปเลย โดยไม่เคยเปิดตามองว่า คนอื่นๆ ในโลกไปถึงไหน มีความก้าวหน้าอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นบ้าง ซึ่งจะทำให้ชีวิตของเราและของคนอื่นๆ ดีขึ้น – ไม่ว่าเราจะล่วงรู้เรื่องราวของอนุรักษ์นิยมนั้นๆ ละเอียดมากแค่ไหน, ก็ไม่อาจจัดเป็น ‘คนฉลาด’ ไปได้
กลับกัน คนที่ฝักใฝ่แต่แนวคิดก้าวหน้าเพียงอย่างเดียว จนละเลยไม่สนใจอดีต ประวัติศาสตร์ ความเป็นมา หรือการค้นพบหลักฐานใหม่ๆ ทั้งเพื่อนำไปปรับความเข้าใจในอดีต และเพื่อนำมาใช้กับโลกข้างหน้าที่จะก้าวต่อไปในอนาคต – ก็อีกนั่นแหละ, คนเหล่านี้ไม่อาจจัดเป็น ‘คนฉลาด’ ไปได้
‘ความฉลาด’ (ในนิยามนี้) หมายถึงต่อให้คุณเป็นพวกอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว แต่คุณก็มี ‘ความสามารถ’ ที่จะเข้าใจ (หรือแม้กระทั่ง ‘เห็นใจ’) คนที่เป็นเสรีนิยมด้วย และกลับกัน ต่อให้คุณคิดว่าตัวเอง ‘ก้าวหน้า’ มากแค่ไหน คุณก็ยังมี ‘ความสามารถ’ ที่จะเข้าใจ (หรือแม้กระทั่ง ‘เห็นใจ’) คนที่เป็นอนุรักษ์นิยมด้วย
เพราะสิ่งที่เรียกว่า ‘การคิดวิเคราะห์’ นั้น คือทักษะที่ต้องการการฝึกฝน ไม่ใช่เพื่อวิเคราะห์ ‘ฝ่ายตรงข้าม’ ของเราเท่านั้น แต่เรายังจำเป็นต้องวิเคราะห์ความคิดของตัวเองอยู่เสมอด้วย
ดังนั้น ทักษะในการวิเคราะห์จึงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะคนส่วนใหญ่มักอยาก ‘เลือก’ จะอยู่ฝั่งใดฝั่งหนึ่งเท่านั้นโดยไม่ยอมกระโดดมาทำความเข้าใจอีกฝั่งหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม เอาเข้าจริงแล้ว ไม่น่าจะมีใครในโลกนี้หรอก ที่พูดได้เต็มปากว่าตัวเองเป็น ‘อะไร’ ร้อยเปอร์เซ็นต์
คนที่ก้าวหน้าอย่างเหลือเกิน ย่อมมีมุมอนุรักษ์ฯ อยู่ในตัวบ้าง และคนที่อนุรักษ์นิยมอย่างที่สุด ลงเอยแล้วก็อาจมีมุมที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ในตัวอยู่ด้วยเหมือนกัน
เราคือสิ่งมีชีวิตแห่งการผสมผสาน ดังนั้น มนุษย์จึงมีแนวโน้มที่จะกลายเป็น ‘ผู้ฉลาด’ หรือมีสติปัญญาในการใคร่ครวญมองโลกกันได้ทุกคน
แต่ปัญหาอยู่ที่การยึดมั่นในมุมเดียวของเรา เรามัก ‘เลือก’ จะมองโลกเพียงมุมเดียว ยึดถืออยู่กับชุดความคิดบางชุด โดยเห็นว่านั่นคือสิ่งที่ถูกต้องที่สุด เพราะมัน ‘สะดวกดี’ มันทำให้เรามีพวก ทำให้เรานิยามตัวเองได้ง่ายว่าฉันเป็นอะไร ทำให้เรารู้สึกปลอดภัยอยู่ในฝูงที่คิดแบบเดียวกับเราและมี ‘ศัตรูร่วม’ กับเรา จึงกลายเป็นวิธีคิดของเราเอง ที่ไปกีดกั้นการเดินทางสู่วิธีคิดแบบ ‘โอบรับ’ และ ‘เปิดกว้าง’ ซึ่งจะนำเราไปสู่ปัญญา
เพราะเส้นขอบฟ้าที่เรารู้สึกว่ามันคือกรอบกรงขังเราเอาไว้นั้นไม่ได้มีอยู่จริง มันเป็นเพียงภาพลวงตาเท่านั้น
แต่มักเป็นตัวเรานี่เอง – ที่ยินดียอมถูกขังอยู่ในความลวงเหล่านั้น