7/2023
ลำปางเป็นเมืองที่แปลก
จริงๆ แล้ว ลำปางมีประวัติศาสตร์ความเป็นมา และมีสถานที่กับข้าวของต่างๆ ที่น่าสนใจเต็มไปหมด
แต่ผู้คนมักจะ ‘ผ่าน’ ลำปางไปอย่างไม่สนใจสักเท่าไหร่ หลายคนเห็นว่าลำปางเป็นเมืองที่ ‘เงียบดี’ แต่ก็ไม่เงียบสงัดสุดปลายทางอย่างน่าน บางอาจอาจเห็นว่าลำปางกำลังคึกคักไปด้วยร้านกาแฟใหม่ๆ แต่ก็ไม่รู้สึกว่าลำปางมีลักษณะ Happening เหมือนเชียงใหม่หรือแม้แต่พะเยา
ที่จริงแล้ว โดยที่ตั้ง ลำปางถือว่าอยู่ ‘ใจกลาง’ ภาคเหนือตอนบน จะไปจังหวัดไหนก็ต้องผ่านลำปางทั้งสิ้น (ถ้าไม่นั่งเครื่องบินข้ามไป) แต่อาจเป็นอย่างนั้นเองที่ทำให้หลายคน ‘ผ่าน’ ลำปางไปบ่อยๆ โดยไม่ได้ค่อยได้ทำความรู้จักกับลำปาง
บังเอิญช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา ผมได้ใช้เวลาอยู่กับลำปางค่อนข้างมาก ได้แวะไปยังวัดสำคัญๆ ของลำปาง อย่างเช่นวัดปงสนุก ซึ่งมีโบราณสถานที่ได้รับการยกย่องจากยูเนสโก (แต่หลายคนไม่รู้) จึงได้รับหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ลำปางมาหลายเล่ม
เล่มนี้เป็นเล่มแรกที่หยิบมาอ่านจนจบแบบรวดเดียว – เพราะสนุกอย่างเหลือเกิน
‘พินิจตำนานลำปาง’ เป็นงานเขียนของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สรัสวดี อ๋องสกุล (ซึ่งเป็นผู้เขียน ‘ประวัติศาสตร์ล้านนา’ ด้วย)
ผู้เขียนนำ ‘ตำนาน’ ลำปางจำนวน 10 เรื่อง มารวบรวมเอาไว้ และเขียนอรรถาธิบายว่า ตำนานแต่ละเรื่องนั้นสำคัญอย่างไร โดยแบ่งตำนาน 10 เรื่องที่ว่านี้ออกเป็นสองกลุ่ม
กลุ่มแรกคือตำนานที่เก่าแก่มากๆ ได้แก่ ตำนานพระธาตุลำปางหลวง, ตำนานพระธาตุจุมภิต (จอมพิง) และตำนานพระธาตุเสด็จ ซึ่งทั้งสามเรื่องจะเกี่ยวพันไปถึงพระพุทธเจ้าตามความเชื่อที่ว่า พระองค์เคยเสด็จฯ มาในแถบนี้
ตำนานที่เหลืออีกเจ็ดเรื่อง จะเป็นตำนานของสถานที่ต่างๆ เช่น วัดพระแก้วดอนเต้า ม่อนพญาแช่ งาว เถิน และอื่นๆ ซึ่งบางตำนานก็เกี่ยวพันกับพระพุทธเจ้า แต่บางตำนานก็ไม่เกี่ยวกับศาสนาเลยก็มี
บางตำนานฉายให้เราเห็นที่มาของชื่อ เช่น ตำนานพระธาตุปางม่วง อธิบายชื่อของ ‘ห้างฉัตร’ ว่าเดิมชื่อ ‘บ้านกางฉัตร’ เพราะเป็นที่กางฉัตรถวายพระพุทธเจ้า หรือวัดพระแก้วดอนเต้า มีที่มาจากนกแขกเต้าอันเป็นอดีตของพระพุทธเจ้าเมื่อเสวยพระชาติเป็นนกแขกเต้า
ที่ตลกดีก็คือตำนานม่อนทรายนอนเมืองงาว ที่ชาวบ้านไม่เชื่อว่าพระพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้า คิดว่าพระองค์เป็นยักษ์ บอกเท่าไหร่ก็ไม่รู้ พระองค์จึงว่า – ง่าวจริงๆ (หน้า 27) แต่ทรงพยากรณ์ว่าต่อไปจะได้ชื่อว่าเมืองาว
ตำนานเหล่านี้อาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ แต่มันก็คือร่องรอยความคิด ความเชื่อของผู้คน และทำให้เรารู้ว่า ลำปางเป็นเมืองเก่าแก่ และมี ‘ราก’ ที่น่าสนใจศึกษาอย่างยิ่ง
อย่าเห็นลำปางเป็นเพียงแค่เมืองผ่านเลยครับ
