4/2023
นี่คือหนังสือเกี่ยวกับต้นไม้ที่ ‘มีชีวิต’ ที่สุดเล่มหนึ่ง
หลายคนอาจจะงงๆ อ้าว! ต้นไม้ก็มีชีวิตของมันอยู่แล้วไม่ใช่หรอกหรือ?
แต่คุณลองคิดถึงต้นไม้สักต้นดูสิครับ คุณคิดว่ามันมี ‘ชีวิต’ แบบเดียวกับที่คุณมีหรือเปล่า
คุณคิดว่าต้นไม้ ‘เจ็บปวด’ หรือ ‘ส่งเสียงร้อง’ ออกมาในยามที่ต้องการจะสื่อสารกับคนอื่นๆ ได้หรือเปล่า
ผมว่าคุณไม่เคยคิดแบบนั้น ผมเองก็ไม่เคยคิดแบบนั้นด้วยเหมือนกัน เพราะโดยทั่วไปแล้ว เราจะมองต้นไม้เป็นเหมือนสิ่งมีชีวิตอีกรูปแบบหนึ่ง (พูดให้ถึงที่สุดก็คืออยู่คนละ ‘คิงดอม’ หรือ ‘อาณาจักร’ กับเราด้วยซ้ำไป เพราะต้นไม้เป็นพืช ส่วนเราอยู่ในอาณาจักรสัตว์)
ดังนั้น เราจึงแทบไม่เคยคิดเลยว่า ต้นไม้ก็ ‘อาจ’ เจ็บปวดเป็น และพวกมันอาจสามารถสื่อสารกันได้ด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งวิธีที่เราพอรู้กันอยู่แล้ว เช่นการใช้ระบบรากใต้พื้นดินสื่อสารกัน รวมถึงวิธีที่หลายคนไม่แน่ใจว่ามันสามารถ ‘ส่งเสียง’ หากันได้หรือเปล่า!
หนังสือเล่มนี้เริ่มเรื่องมาก็ทำให้เราตกตะลึงกับความคิดว่าด้วยต้นไม้เลยทันที เพราะผู้เขียนที่ทำงานเกี่ยวกับป่าไม้ พาเราไปพบกับต้นไม้ที่ถูกตัดจนเหลือแต่ตอมาเป็นเวลานาน จนเขาคิดว่ามันจะต้อง ‘ตาย’ ไปแล้ว เพราะไม่มีใบเอาไว้สังเคราะห์แสง แต่เขากลับพบว่าตอไม้นั้นยังมีบางส่วนที่มีชีวิตอยู่ทั้งที่สังเคราะห์แสงไม่ได้
แต่มันได้รับอาหารจาก ‘เพื่อน’ ที่เป็นต้นไม้ด้วยกัน!
มันเป็นไปได้อย่างไร?
หนังสือเล่มนี้ยังเล่าถึง ‘ชีวิตเร้นลับ’ ของต้นไม้อีกหลายอย่าง ซึ่งมัน ‘เร้นลับ’ ได้ ก็เพราะมนุษย์เราไม่ใส่ใจกับมันนั่นแหละครับ เราชอบคิดว่าต้นไม้ไม่รู้สึกอะไร จะตัด จะหัก จะโค่น มันก็ไม่ปริปาก
แต่แท้จริงแล้ว ต้นไม้ไม่ชอบอยู่ลำพัง พวกมันอยู่กันเป็นชุมชนที่เกื้อกูลกันหลายมิติ เมื่อขาดต้นใดต้นหนึ่งไป ต้นที่เหลืออาจ ‘เจ็บปวด’ ได้หลายวิธี
ผมเคยมีต้นขี้เหล็กที่ขึ้นเคียงคู่กับต้นกัลปพฤกษ์อยู่ต้นหนึ่ง แต่มีความเข้าใจผิด ทำให้คนตัดต้นไม้ตัดต้นขี้เหล็กต้นนั้นทิ้งไป ต้นกัลปพฤกษ์จึงยืนต้นอยู่เดียวดาย ซึ่งเดิมทีผมไม่ได้คิดอะไรกับความเดียวดายนั้นเลย แต่หนังสือเล่มนี้บอกเราว่า ต้นไม้ที่เพื่อนข้างเคียงหายไปนั้น มันอาจ ‘เจ็บปวด’ ได้ เพราะต้นไม้พึ่งพิงกัน มันจึงไม่สร้างกิ่งก้านออกมามากนัก ดังนั้นเมื่อเหลือแต่ลำต้นโล้นเลี่ยน ยามลมพัดกรรโชก ต้นไม้จะบิด แล้วทำให้เกิดรอยปริแตกเล็กๆ ไปทั่วลำต้น ซึ่งมันก็จะต้องพยายามสร้างเนื้อไม้มาปิดรอยปริแตกเหล่านั้น
เป็นอาการเหล่านี้เอง ที่ผู้เขียนคือคุณ เพเทอร์ โวลเลเบน – ผู้เขียน, บอกว่าคือความเจ็บปวดของต้นไม้
ยังมีเรื่องราวอื่นๆ อีกมาก ที่ทำให้เรารู้ว่า ต้นไม้ไม่ได้เป็นอย่างที่เราเห็น การ ‘ปลูกต้นไม้’ ที่เราทำๆ กันเพื่อจะตัดโค่นมันลงในอีก 80-100 ปีข้างหน้า ไม่ได้ทำให้ต้นไม้เป็นต้นไม้อย่างที่มันพึงเป็น แต่เป็นได้แค่ Plantation ที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์ เหมือนการเลี้ยงไก่แล้วรีบฆ่ามันเสียตั้งแต่ยังเป็นไก่กระทงนั่นแหละ
นี่คือหนังสือที่จะทำให้คุณเห็นต้นไม้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปโดยแท้
