หญิงสาวผมแดง : ความยิ่งใหญ่ของงานวรรณกรรม

3/2023

อย่างไรเสีย ออร์ฮาน ปามุก ก็ยังคงเป็นออร์ฮาน ปามุก!

ผมบอกตัวเองอย่างนั้น

เราสามารถพูดได้เต็มปาก ว่าเขาเป็น ‘นักเล่าเรื่อง’ ที่เก่งที่สุดคนหนึ่งเท่าที่โลกวรรณกรรมเคยมีมา จึงไม่น่าสงสัยเลยว่า เพราะเหตุใดเขาจึงได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 2006

‘หญิงสาวผมแดง’ เป็นงานเขียนในระยะหลังของเขา มันเสร็จสิ้นในปี 2015 ตีพิมพ์ในปี 2016 แต่กระนั้นก็ไม่ได้ทิ้ง ‘พลัง’ และความประณีตในการเรียงร้อยเรื่องราวของเขาลงไปเลย มันยังคงทรงพลังยิ่งใหญ่ ไม่แพ้งานยุคแรกๆ ที่ทำให้เขาเป็นที่กล่าวขวัญถึง

ปามุกเป็นนักวางพล็อตเรื่องที่ฉลาดหลักแหลม เขา ‘จัดวาง’ เรื่องทั้งหมดราวกับสถาปนิกชั้นดีที่คิด ‘โครงสร้าง’ ของอาคารเอาไว้อย่างลงตัว งดงาม และสอดประสานกันอย่างกลมกลืน

แต่ในความสอดประสานกลมกลืนนั้น เขารู้วิธีที่จะ ‘ขยัก’ ความเป็นไปบางอย่างเอาไว้ กลืนมันเอาไว้ในชั้นบรรยากาศของเนื้อหา ในความรู้สึกและคำบรรยายของตัวละคร เขาทำให้เราแน่ใจอย่างยิ่งว่าเรื่องจะต้องดำเนินไปอย่างนั้น แต่แล้วเราก็กลับไม่แน่ใจนักว่ามันจะเป็นไปเช่นนั้นจริงหรือ ความลังเลใจของเราจะกระโจนกลับไปกลับมา จนในที่สุด – เมื่อเราไม่ทันตั้งตัว ปามุกก็ลั่นไกเปรี้ยง แล้วเราก็อ้าปากค้าง ตกตะลึงไปกับการตัดสินใจของตัวละคร และแน่นอน – ของผู้เขียน

หนังสือเล่มนี้มีแทบทุกอย่าง ตั้งแต่การต่อสู้ทางการเมือง การเติบโตแบบ Coming of Age การต่อสู้กันระหว่างขนบแบบเดิมและวิถีแบบสมัยใหม่ การกลายกลืนของเมืองเข้าสู่ชนบท การต่อสู้ระหว่างเพศ การแฝงลักษณะ Racism เข้าไปในสีของเส้นผม การวิพากษ์รัฐศาสนาและรัฐโลกวิสัย ไล่ไปจนถึงระดับลึกสุด คือการกรีดเฉือน ‘ตัวตน’ แห่งความเป็นมนุษย์ของเรา หยิบมันออกมาวางแผ่ให้เห็น แล้วโบยตีมันซ้ำๆ อย่างอ่อนโยนนุ่มนวล เห็นอกเห็นใจ แต่ไม่อาจละเว้นการลงทัณฑ์

นี่คือวรรณกรรมชั้นยอดอีกเล่มหนึ่งที่ไม่มีใครควรพลาด ฉบับภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์ ‘บทจร’ นั้น แปลอย่างประณีตโดย ธนัชพร คล่องงานฉุย เป็นสำนวนแปลที่เรียบลื่น อ่านง่าย และเห็นได้ชัดเลยว่าบรรจงและคิดถึงทั้งต้นทางและผู้อ่านมากพอๆ กัน

เป็นหนึ่งในหนังสือดีที่พลาดไม่ได้จริงๆ!