เคยเจอหัวหน้างานคนหนึ่ง เป็นคนทำงานรุ่นห้าสิบปี บ่นว่าเด็กรุ่นใหม่ทำงานแย่ ไม่ตั้งใจ ไม่เข้าใจเนื้องาน เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ แถมยังค้นพบว่าเด็กเอาไปนินทาลับหลังเสียๆ หายๆ ทั้งยังคุยกันในโซเชียล (แบบลับๆ) โดยใช้ถ้อยคำหยาบคาย (เช่น กูมึงและอื่นๆ) ด้วย
ตอนแรกฟังแล้วก็รู้สึกคล้อยตามว่า เด็กรุ่นใหม่น่าจะแย่จริงๆ อย่างที่เขาว่า แต่พอได้ไปสังเกตการทำงานใกล้ชิด กลับพบว่าเรื่องเป็นอีกแบบ
แรกสุด ก็คือเป็นตัวหัวหน้างานเองนั่นแหละครับ ที่บรีฟงานไม่เป็น ไม่เข้าใจเนื้องานอย่างถ่องแท้ด้วยซ้ำไป อย่าว่าแต่จะเข้าใจว่า งานที่ต้องทำ (ซึ่งเป็นงานสื่อสาร) จะต้องทำอย่างไรให้สอดคล้องกับโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนไปเลย
พอไม่เข้าใจเนื้องาน เวลามาบรีฟงานให้เด็กๆ ฟัง ก็จะบรีฟแบบงงๆ เมื่อตัวเองงง คนฟังก็งงไปด้วย เวลารับไปปฏิบัติ ก็รับไปแบบงงๆ เนื้องานที่ออกมาก็งง
ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ ความที่หัวหน้างานงง ไม่รู้วิธีสื่อสาร ไม่รู้วิธีบรีฟ ไม่รู้จักเนื้องาน ก็เลยเลือกใช้วิธีอำนาจนิยม ด้วยการพยายามบังคับควบคุมเด็กให้ทำงานออกมา ‘ให้ได้ดังใจ’ แต่จริงๆ ตัวเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าที่ว่า ‘ได้ดังใจ’ มันคืออะไร
วิธีแก้ปัญหาก็คือ ต้องให้เด็กทำงานมาให้เยอะๆ หลายๆ แบบ แล้วตัวเองค่อยมา ‘เลือก’ ทีหลัง แต่ไม่ได้จ่าย ‘ค่าคิดงาน’ ให้ โดยมักจะมาจู้จี้จุกจิกหลังชิ้นงานออกมาแล้ว มักมีการวิจารณ์ว่าทำไม ‘ไม่’ ทำอย่างนั้น อย่างนี้ โดยไม่ได้วิจารณ์ตัวงานที่ออกมาสักเท่าไหร่ จากนั้นก็ให้กลับไปแก้งานครั้งแล้วครั้งเล่า
สังเกตพบว่า หัวหน้างานแบบนี้มักไม่เคยบอกล่วงหน้าว่าตัวเองต้องการอะไรแน่ๆ พูดอีกอย่างคือ ไม่ได้มีคอนเซ็ปต์ใหญ่อยู่ก่อนหน้า เพื่อจะได้วางวิสัยทัศน์ร่วมในทีมงาน แต่ใช้วิธีตัดสินแบบรวมศูนย์ โดยประเมิน ‘ย้อนหลัง’ ไม่ได้พาทีมงานไปข้างหน้า ไม่ได้ ‘ปล่อย’ ให้เด็กๆ ได้สำรวจที่ทางในงานของตัวเองอย่างมีอิสระ
เมื่อเริ่มต้นผิด กลัดกระดุมพลาด ตัวงานที่ออกมาก็มักจะผิด ไม่ดี ไม่ตรงเป้า ยิ่งให้กลับไปแก้บ่อยหน ก็ยิ่งมีโอกาสพลาดเดดไลน์ เมื่อเป็นแบบนี้ หัวหน้างานก็ยิ่งเครียด เมื่อเครียดก็ตามงานมากขึ้น คิดว่าวิธีแก้ปัญหา คือต้องเข้าไป ‘ควบคุม’ ให้มากกว่านี้ สุดท้ายก็กลายเป็น Work Hard แต่ไม่ Work Smart ไป ส่วนใหญ่มักเล่นใหญ่ บางครั้งตีหนึ่งตีสองก็ส่งไลน์ไปทวงงาน หรืออาจถึงขั้นโทรศัพท์ไปตามงานดึกๆ ดื่นๆ
ผลลัพธ์ก็คือ สิ่งมีชีวิตที่ถูกเรียกว่า ‘เด็กรุ่นใหม่’ เลยไม่อยากทำงานด้วย (ที่จริงรุ่นไหนๆ ก็ไม่น่าจะอยากทำงานกับคนแบบนี้หรอกนะครับ เว้นแต่จะเป็นเพื่อนพ้องที่ได้รับผลประโยชน์ร่วมกันในมิติอื่นๆ) ส่วนคนที่รับงานมาแล้ว (โดยเฉพาะฟรีแลนซ์) ก็มักจะทำให้เสร็จๆ จะได้ส่งมอบงาน รับเงิน แล้วก็จากกันไป ซึ่งก็แน่นอนว่าพอเป็นแบบนี้ ย่อมมีการคุยกันลับหลังหัวหน้างานแน่ๆ แล้วพอเป็นการคุยในกรุ๊ปลับ (เช่น ไลน์ ฯลฯ) ก็ย่อมระเบิดอารมณ์เมาท์แตกกันโดยใช้ภาษาของตัวเอง
พอหัวหน้างานรู้ (ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด) ก็เลยเหมารวมไปว่าเด็กรุ่นใหม่ทั้งหมดเป็นอย่างที่ว่ามา
คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ สภาพการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในสังคมไทยมากน้อยแค่ไหน (ที่ยกมาเป็นเพียงกรณีหนึ่ง) เพราะคล้ายเราได้ยินคำพูดที่ว่า ‘เด็กสมัยนี้’ ทำงานแย่ – มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ ‘เด็กสมัยนี้’ ทำงานแย่จริงมากน้อยแค่ไหน หรือเป็นแบบเดียวกับกรณีที่ว่ามาข้างต้นมากน้อยแค่ไหน
อีกคำถามที่ต้องย้อนกลับมาตรวจสอบให้ดีก็คือ ปัญหาเหล่านี้เริ่มจากตรงไหนกันแน่ และเรากล้าจะตอบคำถามนี้อย่างตรงไปตรงมา โดยแยกขาดออกจากระบบอาวุโสนิยมและอำนาจนิยมได้หรือเปล่า