มนุษย์ เมือง และการเดิน

All truly great thoughts are conceived by walking.

-Friedrich Nietzsche

นิทเช่อาจกล่าวเกินจริงไปบ้าง ที่ว่าความคิดอันยิ่งใหญ่ทั้งปวง ล้วนถือกำเนิดขึ้นจากการเดิน

แต่ไม่เกินจริงเลย หากเราจะกล่าวว่า การเดินนั้น สัมพันธ์กับความเป็นมนุษย์ในหลายมิติ นับแต่เรื่องของสรีระ ร่างกาย การผุดกำเนิดขึ้นของลิงที่เดินสองขา การเติบโตของเนื้อสมองอันเป็นผลมาจากการเดินสองขาที่เปิดโอกาสให้สัตว์อย่างมนุษย์ได้ใช้มือในการทำสิ่งต่างๆ กระทั่งถึงการสร้างอารยธรรม การรวมตัวกันจนกลายเป็น ‘เมือง’ แห่งแรกของโลกอย่างอูรุก (Uruk) จนกระทั่งมาถึงมิติทางวัฒนธรรมการเดินหรือ Walking Culture ในโลกยุคใหม่ ไล่ไปจนถึงการออกแบบเมืองที่ ‘เดินได้’ ซึ่งเป็นการโน้มนำมนุษย์เมืองย้อนกลับไปสู่รากเหง้าแห่งความเป็นมนุษย์ผ่านวิวัฒนาการของเรา

การ ‘เดิน’ นั้นสำคัญมากต่อความเป็นมนุษย์

ร่องรอยในฟอสซิลบอกเราว่า การเดินแบบ ‘สองขา’ หรือ Bipedal Walking นั้น คือสัญลักษณ์สำคัญแห่งการก่อกำเนิดบรรพบุรุษของมนุษย์ขึ้นมาก่อนหน้าลักษณะอื่นๆ เมื่อราวสามล้านปีก่อน การเดินแบบสองขาของมนุษย์จึงเป็นเรื่อง ‘ก้าวกระโดด’ ที่ทำให้เราเป็นมนุษย์

เราอาจคิดว่า การเดินเป็นเรื่องปกติสามัญในชีวิต แต่ให้ลองพิจารณาการเดินดูให้ดี นี่ไม่ใช่ ‘กลไก’ ที่ปกติสามัญเลย แต่คือการสร้างสรรค์อย่างมีศิลปะของธรรมชาติโดยแท้ การเดินของมนุษย์มีลักษณะที่เรียกว่า ‘ลูกตุ้มคู่’ หรือ Double Pendulum เมื่อเราเดินไปข้างหน้า ขาข้างหนึ่งจะละพื้นเพื่อแกว่งไปข้างหน้า โดยมีจุดแกว่งอยู่ที่สะโพก นั่นคือการแกว่งของลูกตุ้มแรก แล้วจากนั้นเท้าก็จะกระทบพื้นเพื่อให้ลูกตุ้มอีกข้างแกว่งตามไป การทำงานของสองขานั้นมีการควบคุมให้สอดประสานกัน เพื่อให้เท้าข้างใดข้างหนึ่งสัมผัสพื้นอยู่ตลอดเวลา โดยมีการ ‘ออกแบบ’ เท้าที่มีลักษณะพิเศษสร้างสมดุลและความมั่นคงให้กับจุดศูนย์กลางมวลของร่างกาย เราจึงสามารถยืนหยัดตัวตรงอยู่ในอากาศได้พร้อมกับเคลื่อนที่ไปข้างหน้าด้วยโดยใช้ประโยชน์จากความโน้มถ่วงของโลก

เรื่องยากที่สุดอย่างหนึ่งในการออกแบบหุ่นยนต์อย่างอาซิโม – ก็คือการทำให้อาซิโม ‘เดินได้’ นี่เอง เพราะต้องมีการสอดประสานของระบบต่างๆ มากมาย

แต่มนุษย์เราทำได้โดยแทบไม่รู้ตัว ราวกับไม่ได้คิด ราวกับไม่ได้ใช้สมอง ไม่รู้สึกถึงการทำงานของกล้ามเนื้อด้วยซ้ำ

การเดินจึงเป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่ค่อยๆ เกิดขึ้นในกระบวนการวิวัฒนาการโดยแท้

แต่เมื่ออารยธรรมเจริญขึ้น เมื่อวิถีชีวิต ‘เร็ว’ ขึ้น และสร้างวิธีเดินทางแบบอื่นๆ ด้วยหมายใจจะย่นย่อเวลาในการเดินทางด้วยเท้าลง เรากลับพบว่าเมืองที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อรองรับวิธีเดินทางด้วยรถยนต์จนกลายเป็น ‘วัฒนธรรมรถยนต์’ นั้น กลับสร้างปัญหาให้กับชีวิตของเราหลายเรื่อง ตั้งแต่ปัญหาการจราจร ปัญหามลพิษ ปัญหาสุขภาพ ไล่ไปจนถึงปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม ทั้งในระดับใหญ่และในระดับครอบครัว

เราออกแบบเมืองที่ละทิ้งการเดินไปอย่างสิ้นเชิง – นั่นเองที่คือข้อผิดพลาดของเรา

แต้่ความผิดพลาดที่ว่าเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ ไม่ใช่ด้วยการเลิกใช้รถยนต์อย่างสิ้นเชิง แต่ด้วยการกลับมาสำรวจ ‘เนื้อเมือง’ โดยเฉพาะเนื้อเมืองของกรุงเทพฯ ว่าค่อยๆ สั่งสม ‘ปัญหา’ ต่างๆ หลายระดับมาอย่างไร และปัญหาเหล่านั้นจะสามารถบรรเทาหรือหายไปด้วยการออกแบบเมืองเสียใหม่ให้สอดคล้องกับธรรมชาติดั้งเดิมที่ช่วยสร้างมนุษย์ขึ้นมาได้อย่างไร

เพราะการเดินคือรากฐานสำคัญที่สร้างมนุษย์ขึ้นมา การสร้างเมืองที่สอดคล้องกับการเดิน หรือทำให้เมือง ‘เดินได้’ คือเป็น Walkable City จึงเป็นเรื่องสำคัญ