เจิ้งเหอกับสุดขอบฟ้ามหาสมุทรแห่งชีวิต : หนังสือที่อ่านสนุกมากถึงมากที่สุด

ก่อนอื่น ขอรับประกันกับคุณเสียก่อน ว่านี่คือหนังสือที่อ่านสนุกมากถึงมากที่สุด

แนะนำให้เพื่อนคนหนึ่งอ่าน ปรากฎว่าเธออ่านหนังสือเรื่องนี้ที่มีอยู่ด้วยกันสองเล่ม จบภายในคืนเดียว เธอบอกว่านี่เป็นหนังสือในรอบไม่รู้จักกี่ปีที่เธออ่านแล้ว ‘วางไม่ลง’

หนังสือเรื่องนี้เป็นอย่างนั้นจริงๆ

ผมไม่รู้หรอกว่า คุณเคยได้ยินชื่อของ ‘เจิ้งเหอ’ มาก่อนหรือไม่ ถ้าให้เดา คาดว่าคงมีคนจำนวนหนึ่งที่เคยได้ยินชื่อเจิ้งเหอมาบ้าง แต่ในเวลาเดียวกันก็คงมีอีกหลายคนที่ไม่คุ้น

แต่ถ้าถามคุณว่า คุณรู้จักชื่อของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส หรือวาสโก ดากามา หรือแมกเจลแลน หรือแม้กระทั่งเซอร์ฟรานซิส เดรก หรือนักเดินเรือผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายในโลกตะวันตกอีกหลายต่อหลายคนไหม เชื่อว่าคุณคงตอบว่ารู้จัก

ทว่ากับชื่อของ ‘เจิ้งเหอ’ หลายคนอาจทำหน้างงๆ ว่าเขาเป็นใคร และต่อให้เป็นคนที่เคยรู้จักชื่อของเขา ก็ไม่แน่นักหรอกว่าจะมีสักกี่คนที่รู้เรื่องราวประวัติของเจิ้งเหออย่างละเอียด แต่หลายคนน่าจะรู้จักเจิ้งเหอในชื่อ ‘เจ้าพ่อซำปอกง’ มากกว่า

ที่จริงผมเองก็งงๆ เหมือนกันในตอนแรก เพราะชื่อ ‘เจิ้งเหอ’ นั้น-ออกจะเป็นชื่อคนจีน แล้วคนจีนมาเกี่ยวอะไรกับการเดินเรือเล่า ไม่ใช่ว่าคนจีนนั้นใช้เส้นทางสายไหมในการเดินทางค้าขายหรอกหรือ คนจีนไม่เคยขึ้นชื่อเรื่องกองเรือมาก่อนไม่ใช่หรือ แล้วจะเอาชื่อเจิ้งเหอไปทาบเทียบอะไรกับนักเดินเรือดังๆ ของตะวันตกเหล่านั้นได้อย่างไร

แต่กระนั้น ว่ากันว่าผู้ชนะคือผู้เขียนประวัติศาสตร์ เพราะฉะนั้น ในประวัติศาสตร์ ‘ยุคหลัง’ ของโลก โดยเฉพาะหลังจากชาติตะวันตกสามารถล่าอาณานิคมได้จนเกือบจะทั่วโลกแล้วนั้น ภาพของคนตะวันตกย่อมกลายเป็นภาพของนักผจญภัยผู้พิชิต ที่สามารถสำรวจโลกได้กว้างขวาง อเมริกาได้ชื่อว่าอเมริกาเพราะอเมริโก เวสปุชชี่ ขณะที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ได้ชื่อว่าเป็นผู้ค้นพบอเมริกา เซอร์ฟรานซิส เดรก คือคนแรกที่เดินทางรอบโลกได้สำเร็จ วาสโกดากามาแห่งโปรตุเกสเป็นคนแรกที่แล่นเรืออ้อมแหลมกู๊ดโฮปได้ และเฟอร์ดินันด์ แมกเจลแลน ก็เป็นผู้ค้นพบหมู่เกาะเครื่องเทศ

ทั้งหมดนี้คือชื่อของชาวตะวันตกที่ได้รับการยกย่องในยุคแห่งการล่าอาณานิคมทั้งสิ้น!

แต่กระนั้น ก็มีหลักฐานว่า ยังมีชาวจีนผู้หนึ่งที่เคยแล่นเรือขนาดมหึมา มีชื่อว่า ‘เรือมหาสมบัติ’ ที่ใหญ่โตราวกับมหานครลอยน้ำได้ ท่องจากจีนลัดเลาะลงมาจนถึงสุวรรณภูมิ แล้วแล่นไกลไปถึงอินเดีย ตะวันออกกลาง รวมถึงชายฝั่งแอฟริกาด้วย แถมบางคนก็บอกว่าไปไกลถึงอเมริกา จึงน่าจะเป็นคนแรกที่ได้ค้นพบอเมริกา แต่อันหลังนี้ยังไม่มีหลักฐานใดๆ ซึ่งก็ขอปักใจยังไม่เชื่อเอาไว้ก่อน เพราะอเมริกานั้นต้องข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกอันไพศาลทีเดียวถึงจะไปถึง หรือถ้าจะลัดเลาะผ่านแอตแลนติก ก็ต้องถือว่าไกลโขไม่น้อย

แต่เอาเถอะ จะไปไกลถึงไหน ชาวจีนผู้นั้นก็ได้รับการบันทึกเอาไว้ในประวัติศาสตร์แล้วว่า เขาคือนักเดินเรือที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของโลก บางทีอาจยิ่งใหญ่กว่านักเดินเรือชาวตะวันตกทั้งหมดรวมกันเสียอีก เพราะเขาเดินทะเลมาก่อนหน้าคนเหล่านี้ และได้สร้าง ‘เส้นทางสายไหม’ ทางทะเลขึ้น รวมทั้งยังเป็นหนึ่งในผู้ทำให้เกิดอารยธรรมของโลกตามที่ต่างๆขึ้นด้วย

ชื่อของเขาคือ-เจิ้งเหอ

เมื่อได้ยินกิตติศัพท์ของเขาแล้ว เชื่อว่าคุณต้องคิดว่าเจิ้งเหอเป็นชายชาตรีผู้กำยำล่ำสัน ยิ่งใหญ่ ห้าวหาญเป็นแน่แท้ หลายคนคิดว่านี่น่าจะเป็นงานของชายชาตรีเท่านั้น

แต่แล้วผมก็พบว่า เจิ้งเหอนั้น สังคมจีนไม่ถือว่าเป็นผู้ชาย

ที่จริงแล้ว สังคมจีนยุคนั้นไม่ถือว่าเขาเป็นมนุษย์เสียด้วยซ้ำ

เจิ้งเหอคือขันที แม้เขาจะคือนักเดินเรือที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก เป็นผู้นำเรือลำใหญ่โตมโหฬารที่มีชื่อว่า ‘เรือมหาสมบัติ’ ตระเวนไปทั่วทุกหนแห่ง แต่เขาคือขันทีผู้ ‘ถูกกระทำ’ มาตลอดชีวิต

ในหนังสือชุด ‘เจิ้งเหอ มหาขันทีแห่งท้องทะเล’ ที่เขียนโดย จูซูจิ้น กับเฉินหมิ่นลี่ แปลโดย เรืองชัย รักศรีอักษร ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชนนี้ ผู้เขียนได้หยิบชีวิตของเจิ้งเหอมา ‘เล่าใหม่’ อย่างมีชีวิตชีวา นี่ไม่ใช่หนังสือประวัติศาสตร์ ที่นำเอาเรื่องราวในประวัติศาสตร์มาเล่าใหม่อย่างแข็งๆ ทว่าได้นำชีวิตของเจิ้งเหอมาร้อยเรียง และใช้กลวิธีแบบนวนิยายเข้ามาจับบทตอนในประวัติศาสตร์ สร้างขึ้นเป็นตัวละครที่มีชีวิตจิตใจ พาเราเข้าไปอยู่ในยุคสมัยนั้นอย่างใกล้ชิดแทบจะเป็นเนื้อเดียวกัน แทบจะได้กลิ่นคาวเลือด กลิ่นทะเล กลิ่นเหงื่อ และทำให้เรารู้สึกใกล้ชิดกับตัวละครเหมือนเป็นเพื่อนสนิทของเราเลยทีเดียว

ชีวิตของเจิ้งเหอไม่ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างสะดวกสบาย ที่จริงแล้ว เขาต้องผ่านอันตรายและเฉียดตายในชีวิตมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง นับตั้งแต่วัยเด็ก ที่วันหนึ่งถูกจับมาเป็นขันที

การเป็นขันทีไม่ใช่เรื่องพึงปรารถนาของใคร โดยเฉพาะคนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ แต่เพราะขันทีในวังลดน้อยลง ฮ่องเต้จึงมีบัญชาให้หาขันทีมาเพิ่ม ในยุคสมัยที่อำนาจของฮ่องเต้คืออำนาจล้นฟ้ายิ่งกว่าสวรรค์ บัญชาของฮ่องเต้คือประกาศิต และเหล่าขุนนางก็ตอบสนองบัญชาเหล่านั้นเสียยิ่งกว่าที่พึงเป็น ในกรณีนี้ เมื่อฮ่องเต้ต้องการขันทีเพิ่ม การเกณฑ์คนมาเป็นขันทีจึงเกิดขึ้นอย่างโหดเหี้ยม มีการตระเวนจับเด็กๆเพื่อนำมา ‘ตอน’ ซึ่งไม่ใช่ขั้นตอนที่น่าพิสมัยนัก โดยเฉพาะเมื่อสมัยก่อนไม่มียาปฏิชีวนะ เด็กๆที่ถูกจับมาตัดอวัยวะเพศออกจึงมีไม่กี่รายที่รอดชีวิต

นอกจากถูกตอนแล้ว เมื่อได้เข้าวัง เจิ้งเหอยังต้องพบพานกับการแย่งชิงราชบัลลังก์ของผู้มีอำนาจอีกอย่างซับซ้อน โชคดีที่เขามีสติปัญญา จึงเอาตัวรอดมาได้ครั้งแล้วครั้งเล่า และที่สุด จากเด็กขันทีคนหนึ่ง ก็ได้กลายมาเป็นผู้ที่ฮ่องเต้องค์ใหม่ไว้วางพระราชหฤทัย กระทั่งสร้างเรือมหาสมบัติให้เขาได้ออกเดินทาง

เรื่องราวของเจิ้งเหอแบ่งออกเป็นสองเล่ม เล่มแรกมีรายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตเมื่อเข้าไปอยู่ในวัง ส่วนในเล่มสองคือการผจญทะเลอันมีเงื่อนไขทางการเมืองในราชสำนักคอยกำกับ เจิ้งเหอคือตัวอย่างของคนที่ ‘ถูกกระทำ’ แต่ไม่เคยยอมแพ้ เขาทุ่มตัวสุดกำลังไปข้างหน้าสู่ชะตากรรมที่ลิขิตไว้ นั่นคือหนทางเดียวเท่านั้นที่จะทำให้เขามีชีวิตอยู่ได้

และมันก็ให้ผลตอบแทนที่ยิ่งใหญ่กับเขา

นี่คือหนังสือที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้คุณ เป็นหนังสือที่จะพาคุณไปสุดขอบฟ้ามหาสมุทร ไม่ใช่เพียงมหาสมุทรแห่งผืนน้ำ แต่รวมถึงมหาสมุทรแห่งชีวิตด้วย

ผมไม่คิดว่ามีใครควรพลาดหนังสือเรื่องนี้

ไม่ควรเลยจริงๆ!


4 สิ่งที่คุณอาจไม่เคยรู้เกี่ยวกับเจิ้งเหอ

1. เจิ้งเหอเป็นมุสลิม นั่นทำให้เจิ้งเหอติดต่อค้าขายกับชุมชนมุสลิมทั้งในอินเดียและตะวันออกกลางได้อย่างสะดวก

2. ในไทย เจิ้งเหอเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘เจ้าพ่อซำปอกง’

3. เชื่อว่า แม้เจิ้งเหอจะไม่มีลูกเพราะเป็นขันที แต่พี่ชายได้ยกลูกให้ ทายาทของเจิ้งเหอบางส่วนอาศัยอยู่ในประเทศไทย ใช้นามสกุลวงศ์ลือเกียรติ

4. ผู้ที่คิดว่าเจิ้งเหอค้นพบทวีปอเมริกาก่อนโคลัมบัส คือ เควิน เมนซีส์ เจ้าของหนังสือชื่อ 1421 : The Year China Discovered the World โดยอ้างว่า ชาวจีนเดินทางมาถึงอเมริกาก่อนหน้าคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส จะค้นพบถึง 71 ปี