ราชบัณฑิตกับไม้ยมก

ครั้งหนึ่งเคยมี ‘ดราม่า’ เรื่องการเว้นวรรคก่อนหน้าไม้ยมก (เช่นเขียนว่า ต่าง ๆ นานา หรือ ต่างๆ นานา) แล้วเลยทำให้นึกขึ้นได้ว่า ทำไมตัวเองถึงเลือกเขียนแบบไม่เว้นวรรคก่อนหน้าไม้ยมกนะครับ

ก่อนอื่นต้องบอกกันก่อนว่า ถ้าจะละเมียดละไมกับการ ‘เขียน’ ภาษาไทยกันอย่างเคร่งครัดจริงๆ ต้องเขียนมือนะครับ เพราะหลักเกณฑ์การเว้นวรรคนั้น ไม่ได้มีการเว้นวรรคด้วยพื้นที่ที่ ‘เท่ากัน’ เพียงอย่างเดียว แต่ภาษาไทยนั้นงดงามละเอียดอ่อนด้วยการเว้นวรรคแบบ ‘เว้นวรรคใหญ่’ กับ ‘เว้นวรรคเล็ก’

เว้นวรรคใหญ่นี่ไม่เป็นปัญหาเท่าไหร่ เพราะมันก็คือการเว้นวรรคระหว่างประโยค คือจบประโยคก็เว้นวรรคใหญ่ไปเลย (แบบเดียวกับที่ฝรั่งใช้จุดฟูลสต็อป)

แต่เป็นเว้นวรรคเล็กนี่แหละครับ ที่มีปัญหาเยอะ เข้าใจว่า แต่เดิมก็คงเป็นความละเมียดละไมของผู้เขียน (ด้วยลายมือ) ที่จะจัดแต่งช่องไฟวรรคตอนให้งดงามตามที่ต้องการ (ไปดูคนเขียนกลอนสมัยก่อนที่เขียนด้วยลายมือ อย่างเช่นบทกวีของคุณอังคาร กัลยาณพงศ์ ก็ได้นะครับ การเว้นที่เขียนด้วยลายมือนั้น จะเห็นเลยว่าจังหวะขับจังหวะเน้น ไม่ได้เป็น ‘เครื่องจักร’ เหมือนการพิมพ์ ซึ่งนั่นแหละ คือภาษาไทยแบบดั้งเดิมจริงๆ)

เว้นวรรคเล็กนี่ จริงๆมีที่ให้ใช้เยอะนะครับ เช่น ถ้าเขียนชื่อกับนามสกุล (โตมร ศุขปรีชา นี่ก็ได้) ระหว่างชื่อกับนามสกุลน่ะ ต้องเว้นด้วยเว้นวรรคเล็กนะครับ ไม่ใช่เว้นวรรคเท่ากันกับเว้นวรรคใหญ่

พวกยศก็เหมือนกัน พล.อ. + ชื่อ ก็ต้องเว้นด้วยเว้นวรรคเล็ก ไม่ใช่ใหญ่ แม้แต่ชื่อธุรกิจ เช่น ห้างหุ้นส่วนจำกัด + ชื่อ ก็ต้องเว้นด้วยเว้นวรรคเล็ก และยังมีข้อกำหนดอีกมากมาย แต่สรุปก็คือ การ ‘เว้นวรรค’ ในภาษาไทยนั้น ไม่ได้มีแบบเดียว คือไม่ได้มี Space เว้นว่างเท่ากันเป๊ะเพียงแบบเดียว แต่มีอย่างน้อยสองแบบ

ส่วนเรื่องไม้ยมกนี่ ใน wikipedia ไทย น่าสนใจมากนะครับ เพราะเขาบอกว่า

[…หนังสือ ‘หลักเกณฑ์การใช้เครื่องหมายวรรคตอนและเครื่องหมายอื่น ๆ หลักเกณฑ์การเว้นวรรค หลักเกณฑ์การเขียนคำย่อ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5’ ระบุหลักเกณฑ์การเว้นวรรคไว้ว่า “ให้เว้นทั้งข้างหน้าและข้างหลังเครื่องหมายไปยาลใหญ่ ไม้ยมกหรือยมก เสมอภาคหรือเท่ากับ” หากแต่การเรียงพิมพ์ในเล่มกลับเว้นวรรคเฉพาะหลังไม้ยมก เช่น “หน่วยราชการต่างๆ เข้าร่วมประชุม” รวมทั้งชื่อหนังสือเอง ซึ่งชิดหน้า เว้นหลัง (“เครื่องหมายอื่นๆ”)…]

ผมไม่มีหนังสือเล่มนี้อยู่ในมือ เลยไม่รู้ว่าเป็นแบบนั้นจริงหรือเปล่า แต่ก็น่าสนใจดี ว่าการเว้นวรรคก่อนหน้าไม้ยมก ควรจะเป็นอย่างไรกันแน่

โดยส่วนตัวแล้ว คิดว่าควรคงความละเมียดละไมในเว้นวรรคเอาไว้แบบกวีโบราณที่เขียนด้วยมือ นั่นคือให้ผู้เขียนแต่ละคนสามารถกำหนดเว้นวรรค ซึ่งคือ ‘พื้นที่แห่งลมหายใจ’ ของตัวอักษรของตัวเองได้เอง แต่เนื่องจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เรารับมาจากตะวันตก เลยเกิดขึ้นจำกัดเรื่องการเว้นวรรคที่ไม่เท่ากันขึ้น

ตอนที่ทำงานที่ Readers’ Digest กับพี่เต้ย-บัญชา สุวรรณานนท์ นั้น เรื่องเว้นวรรคเป็นปัญหามาก เพราะต้องจัดหน้าแบบเสมอหน้าเสมอหลัง ทำให้การเว้นวรรคถูก ‘ดีด’ บางทีก็ถ่างกว้าง ที่เป็นปัญหามากคือไม้ยมก เพราะพอพิมพ์ว่า ต่าง ๆ นานา บางทีก็กลายเป็น ต่าง……..ๆ……..นานา ไปเสีย (ตรงจุดคือช่องว่างนะครับ) เนื่องจากเกิดการดีดของโปรแกรมภาษา

วิธีแก้ไขเรื่องนี้ คือการไปค้นมาจนเจอว่า ในโปรแกรมจัดหน้าที่ใช้สมัยนั้น (ถ้าจำไม่ผิดคือ Quark Express) มันจะมีการเคาะแบบ ‘ครึ่งเคาะ’ อยู่ด้วย เพราะฉะนั้นก่อนหน้าไม้ยมก เราก็จะใช้วิธีเคาะแบบครึ่งเคาะ ทำให้ต่อให้โปรแกรมจัดหน้ามันดีดแค่ไหน ตัว ๆ ก็จะยังคง ‘เกาะ’ อยู่กับคำข้างหน้า แต่เป็นการเกาะที่เว้นวรรคเล็กน้อย แล้วปล่อยพื้นที่ข้างหลังให้เป็นเว้นวรรคทั่วไปแทน

นอกจากนี้ ยังมีการเคาะอื่นๆอีกหลายแบบ เช่น ให้ข้างหน้าติด ข้างหลังถ่างออก หรือเคาะเพื่อบีบ space ระหว่างตัวอักษร (ซึ่งเป็นส่วนที่กองบรรณาธิการทำได้ก่อนที่ฝ่ายศิลป์จะมาดูแลรับช่วงต่อ) แล้วเราทำแบบนี้กับทุกตัวอักษร คือจะมีการเคาะพิเศษสำหรับคำนั้นคำนี้ โดยมีหลักเกณฑ์ที่แน่นอนเสมอ เพื่อให้การจัดหน้าออกมาสวยงามที่สุดเท่าที่จะทำได้ในพื้นที่จำกัด (เพราะต้องใช้พื้นที่เท่าต้นฉบับภาษาอังกฤษ)

ทุกวันนี้ เวลาใช้งานออนไลน์ ทุกเคาะทุกเว้นวรรค ล้วนแต่มีช่องไฟที่เท่ากันหมด แม้แต่การย่อหน้าก็จัดหน้าไม่ได้ (ซึ่งก็ไม่เห็นมีใครไปบ่น FB ว่าเป็น ‘เผด็จการ’ ทางตัวอักษร แถมเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จด้วย นึกอยากจะเปลี่ยนอะไรเมื่อไหร่ก็เปลี่ยน) ถ้าเป็นไปได้ ก็อยากให้ไม้ยมกนั้นเว้นห่างออกไปนิดนึง (ถ้าเว้นวรรคเล็กคือ ‘ครึ่งเว้นวรรค’ หลังไม้ยมกก็อยากให้เป็น ‘หนึ่งส่วนสี่เว้นวรรค’ อาจเรียกว่าเว้นวรรคจิ๋วก็ได้) แล้วหลังไม้ยมกค่อยเป็นเว้นวรรคเล็ก ในขณะที่การเว้นระหว่างประโยคเป็นเว้นวรรคใหญ่

แต่ในเมื่อทำแบบนี้ไม่ได้ โดยส่วนตัวจึงยึดหลักว่า ช่องไฟหน้าไม้ยมกต้องน้อยกว่าช่องไฟหลังไม้ยมก แต่เมื่อมันทำให้เว้นไม่ได้ เลยใช้วิธีที่อาจจะมักง่ายก็ได้ แต่คิดว่าเป็นมักง่ายที่สวยและสะดวกกว่า (ซึ่งก็เป็นรสนิยมส่วนตัว) คือจะไม่เคาะก่อนหน้าไม้ยมก แต่เคาะหลังแทน ส่วนคนอื่นจะเคาะก่อนเคาะหลังอย่างไร ยึดหลักราชบัณฑิตหรือไม่ ก็แล้วแต่ เพียงแต่ถ้าสำนักพิมพ์ไหนจะใช้หลักไหน ก็ให้ใช้แบบนั้นทั้งหมด จะได้มีรูปแบบที่สอดคล้องกัน

โดยส่วนตัวคิดว่า ราชบัณฑิตนั้นมีไว้เป็นเสาให้ต้นไม้เกาะ แต่เสาไม่ได้มีชีวิต (และจำเป็นต้องทำตัวให้ไม่มีชีวิตด้วย ไม่อย่างนั้นจะไม่ยึดอยู่กับที่)

แต่เป็นต้นไม้ที่เกาะเสานั้นอยู่ต่างหากที่มีชีวิต และชีวิตก็ควรมีโอกาสงอกงามในแบบที่ชีวิตเห็นสมควร อาจแตกก้านต่อกิ่งออกไปเพื่อหาแสงในสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง จะได้ออกดอกชูช่องดงาม แต่ในเวลาเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าต้องมีเสาไว้ยึดด้วยเพื่อให้มีชีวิตอยู่

เพียงแต่ต้นไม้ต้อง ‘รู้’ เท่านั้นเอง ว่าตัวเองทำอะไรไปเพื่ออะไรและเพราะอะไร