คำว่าอาหารเช้าหรือ breakfast ในภาษาอังกฤษนั้น หลายคนคงรู้นะครับ ว่ามันก็คือการ break จาก fasting คือหยุดอดอาหาร (เนื่องจากกลางคืนเราไม่ได้กิน) แต่ที่จริงแล้ว ที่มาของคำนี้มันซับซ้อนเวียนหัวเป็นที่อุตลุดยิ่งนัก
เขาบอกว่า จริงๆแล้วสมัยก่อนภาษาอังกฤษไม่มีคำว่า breakfast หรอกนะครับ แต่อังกฤษรับคำที่หมายถึงอาหารมื้อเช้ามาจากฝรั่งเศสโบราณ ว่า disdéjeuner ซึ่งตามความหมายก็คือการ un-fast หรือหยุดอดอาหารนั่นแหละครับ
แต่ทีนี้ปัญหาก็คือ คำนี้มันกร่อนมาเป็น disnare หรือ disner ในภาษา Old French ตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 เห็นคำนี้แล้วคุ้นๆไหมครับ ว่ามันคือคำว่าอะไร
ถูกแล้วครับ disner พอมาเป็นอังกฤษ ก็กลายเป็น dinner นั่นเอง
เพราะฉะนั้น จริงๆแล้ว dinner ก็คืออาหารเช้า!
พระเจ้าฟรานซิสที่ 1 แห่งฝรั่งเศส เคยประกาศ ‘พระราชนิยม’ เอาไว้ว่า rise at 5, dine at 9, sup at 5, and couch at 9 คือให้ตื่นตอนตีห้า กินอาหารเช้า (dine) ตอนเก้าโมง แล้วให้กินอาหารเย็น (sup หรือ supper) ตอนห้าโมงเย็น แล้วก็เข้านอนตอนสามทุ่ม
นั่นแปลว่า dinner เคยเป็นอาหารเช้ามาก่อนจริงๆ
คำว่า dinner กลายมาเป็น ‘อาหารมื้อหลัก’ ของวัน ในอังกฤษช่วงศตวรรษที่ 13 ซึ่งนิยมกินกันตั้งแต่กลางวันจนถึงบ่ายๆ ถ้าใครอ่านงานของชาลส์ ดิกเคนส์ ก็จะรู้นะครับ ว่าตัวละครทั้งหลายจะ dinner กันตอนเที่ยงเป็นประจำ
ทีนี้เพื่อให้สับสนมากยิ่งขึ้นไปอีก ก็ต้องมาดูว่า แล้วฝรั่งเศสเขาใช้คำว่าอะไรบ้าง ตอนนี้คำว่า déjeuner มีความหมายกลายเป็นอาหารกลางวันไปแล้วนะครับ โดยถ้าเป็นอาหารเช้า จะใช้คำว่า petit déjeuner (ซึ่งแปลว่า small lunch) แทน เพราะคนฝรั่งเศสชอบกินอาหารเช้าแบบน้อยๆ เช่น กินครัวซองต์กับกาแฟแค่นั้น ไม่มีเนื้อสัตว์ ไม่มีไข่
จะเห็นว่า ทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษนั้น ‘เลื่อน’ มื้ออาหารที่เคยเรียกว่าอาหารเช้า ไปเป็นอาหารกลางวันทั้งคู่ เช่นเดียวกันกับสเปน ที่เคยใช้คำว่า almuerzo (มาจากศัพท์ละติน admordere แปลว่ากัด) หมายถึงอาหารเช้าในสมัยก่อน คำนี้ในปัจจุบันก็กลายมาเป็นอาหารกลางวันไปแล้วด้วยเหมือนกัน (ดูเป็นเทรนด์ยังไงชอบกล)
ทีนี้ถ้าจะให้งงยิ่งขึ้น ต้องไปดูภาษาอิตาเลียน ศัพท์ที่ใช้เรียกอาหารเช้าของชาวอิตาเลียนคือ colazione ซึ่งจริงๆแล้วมาจากรากศัพท์ภาษาละติน ที่หมายถึง a light supper (ซึ่งก็คืออาหารมื้อสุดท้ายของวัน) โดยจะเรียกอาหารเช้าว่า prima colazione (อาหารเช้ามื้อแรก หรือ first breakfast) และเรียกอาหารกลางวันว่าเป็น seconda colazione (คืออาหารเช้ามื้อที่สอง) แต่ในปัจจุบันมีศัพท์ใหม่เรียกอาหารกลางวันว่า pranzo
ที่น่าสนใจก็คือ ฝรั่งเศสกับอิตาลีนั้น อาหารเช้ากับอาหารกลางวันมีความสัมพันธ์คาบเกี่ยวกันอย่างเห็นได้ชัดทั้งคู่ (petit déjeuner กับ déjeuner และ prima colazione กับ seconda colazione) ส่วนของอังกฤษ ถึงแม้จะดูไม่เหมือนกัน (breakfast กับ lunch) แต่จริงๆก็เกี่ยวข้องกันเหมือนกัน
ทีนี้ถ้าสงสัยว่าแล้ว lunch มาจากไหน ก็ต้องบอกว่ามันหมายถึงอาหารที่กินระหว่างมื้อ (จะเรียกว่าอาหารว่างก็ได้) ซึ่งถ้าไปดูนิวยอร์คสมัยยุคก่อนสงครามโลก ก็จะมีคนขายอาหารที่เรียกว่า midnight lunch (ให้งงเล่น) อยู่เหมือนกัน จริงๆก็คืออาหารรองท้องที่ขายตอนเที่ยงคืน (ซึ่งไม่ใช่ supper ด้วยนะครับ)
ในอังกฤษ breakfast นั้นจะมื้อใหญ่ (ซอมเมอร์เซ็ท มอห์ม-นักเขียนอังกฤษ บอกว่า ถ้าจะกินอาหารอังกฤษให้อร่อย ให้กิน breakfast สามมื้อเลย คือเขาจะบอกว่า full English breakfast นั้นเลอเลิศมาก) แล้วคนชั้นสูงกินเยอะแต่เช้า อาหารมื้อหลักก็เลยต้องเลื่อนออกไป พอ dinner มันเลื่อนห่างออกไปเป็นช่วงเย็น ก็ดันหิวอีก เลยเกิด lunch ขึ้นมาคั่น
สรุปว่าเรื่องมื้ออาหารทั้งหลายนี่มันสลับซับซ้อนน่าเวียนเฮดยิ่งนัก แต่ก็สนุกดีจริงๆนะครับ