คนเรา ‘หมดไฟ’ หรือเบิร์นเอาท์กันได้ แต่ไม่ได้แปลว่าหมดแล้วหมดเลยนะครับ
ภาวะเบิร์นเอาท์เป็นเหมือน ‘อาการ’ บ่งบอกเราว่า ชีวิตของเรากำลังเสียสมดุลบางอย่าง ถ้าเราย้อนกลับไปแก้ไขได้ ก็จะทำให้เรากลับมามีสมดุลอีกครั้ง ซึ่งก็จะทำให้เราหายหมดไฟ กลับมามีไฟลุกโชติช่วงได้อีกครั้ง
แต่แน่นอน – ไม่ใช่การลุกโชติช่วงแบบเดิม เพราะในแต่ละช่วงของชีวิต เราต้องการ ‘ตัวตน’ แบบใหม่ ไฟที่ลุกโชติช่วงก็จะเป็นไฟอีกแบบที่แตกต่างไปด้วย มันจะสุขุมขึ้น ตั้งคำถามมากขึ้น เพราะได้รับบทเรียนจากอาการหมดไฟที่ผ่านมา ทำให้หลีกเลี่ยงสาเหตุที่จะทำให้หมดไฟได้ดีขึ้น
มาดูกันครับ ว่าเราจะป้องกันอาการเบิร์นเอาท์ได้อย่างไรบ้าง
1. อย่าตกปากรับคำมากเกินไป
เรื่องนี้สำคัญมากนะครับ ฝรั่งเรียกว่า Over Commit คือไป ‘ยอม’ รับปากจะทำงานโน่นนั่นนี่เต็มไปหมด โดยไม่ได้ดูว่าเราทำได้จริงหรือเปล่า
สาเหตุของการทำแบบนี้มีหลายอย่าง เรื่องรายได้ก็เรื่องหนึ่ง (โดยเฉพาะคนที่เป็นฟรีแลนซ์) แต่บ่อยครั้งกว่าคือความพยายามพิสูจน์ตัวเองให้คนอื่นเห็นว่าฉันทำได้ ซึ่งในระยะแรกอาจจะทำได้จริงๆ แต่ถ้ามันมากเกินศักยภาพ (หรือแม้แต่แค่เต็มศักยภาพ) นานๆ เข้า ก็จะทำให้ล้า
คุณอาจต้องกลับมา ‘ประเมิน’ (Reevauate) และ ‘จัดลำดับ’ (Prioritize) งานของคุณดู ว่างานแบบไหนควรทำ แล้วทุ่มเต็มที่ให้มัน งานแบบไหนควรปฏิเสธ แม้แต่เป็นพนักงานประจำ ก็ต้องอธิบายกับผู้บังคับบัญชาให้รู้ว่านี่คืองานที่ทำให้เรา overextend ตัวเอง และที่สุดก็จะไม่ได้งานที่ดี
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เราต้อง ‘รู้ Limit’ ของเรา ว่ามันมีขอบเขตอยู่ตรงไหน หรือถ้าไม่รู้ ก็ให้ลอง Set Limit ของตัวเองดู ว่าเราทำอะไรได้แค่ไหนบ้าง มันจะช่วยให้เราวางแผนการทำงานและจัดลำดับการทำงานได้ แต่ในเวลาเดียวกันก็ต้องเชื่อมั่นในตัวเองด้วย ว่าเราจะขยับเส้น Limit นั้นให้กว้างออกไปได้เรื่อยๆ
2. กำจัดความเครียด
อันนี้พูดง่ายแต่ทำยากมากสำหรับหลายคน พูดง่ายๆ ก็คือ ลองดูว่าต้นตอของความเครียดในงานทั้งหลายมาจากไหน เช่น มาจากลูกค้าคนนั้นคนนี้ ซึ่งก็ต้องไปดูที่สาเหตุ ว่าเพราะอะไรเขาจึงทำให้คุณเกิดความเครียดขึ้นมา แต่ถ้ารู้สาเหตุแล้วแก้ไขไม่ได้ อย่างแรกก็คือต้องทำใจ ท่องคาถา ‘ช่างแม่ง’ หรือถ้าเป็นฟรีแลนซ์ที่ตัดสินใจรับงานเองได้ ก็ควรขีดเส้นให้ตัวเองเอาไว้ว่า ถ้าเลยเส้นนี้แล้วจะไม่สนใจแล้ว และถ้าเลยอีกเส้นหนึ่งก็อาจต้องบอกศาลา เลิกแล้วต่อกันไม่ทำงานกับเขาอีก
แต่ถ้าคุณเป็นพนักงานประจำ ก็เป็นไปได้ที่ข้อนี้จะทำได้ยาก สิ่งหนึ่งที่จะช่วยประคับประคองไปได้ก็คือการลองเปิดอกกับเพื่อนร่วมงานหรือเจ้านายของคุณ ว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน แต่เปิดอกอย่างไรก็ stay positive ไว้ก่อนนะครับ คือไม่ใช่เพื่อตำหนิใคร แต่เปิดอกระหว่างกันเพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหา และขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยกัน
บางคนบอกว่าให้ไปออกกำลังกาย แต่ถ้าเราเบิร์นเอาท์อยู่ มันจะขาดแรงขับ (Motivation) ที่จะลุกขึ้นทำอะไร ทว่าการออกกำลังกายเป็นทางออกที่ดีมากทางหนึ่ง
3. เรียนรู้อะไรใหม่ๆ
การทำงานเดิมๆ ซ้ำซากไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็จะทำให้คุณหมดใจกับมันได้ ลองไปหัดเรียนโน่นนั่นนี่ที่คุณชอบดูนะครับ เอาให้ต่างไปจากสิ่งที่ทำอยู่ เช่น ถ้างานที่คุณทำเป็นงานใช้สมอง ก็ลองไปเข้าเวิร์คช็อพงานที่ต้องใช้มือทำดูบ้าง เช่น ทำอาหาร ทำงานช่างไม้ ปักผ้า ฯลฯ
การไปเรียนรู้อะไรใหม่ๆ จะช่วยให้สมองส่วนที่ไม่ค่อยได้ทำงาน (เช่นสมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของมือ) ได้กลับมาใช้งานมากขึ้น และเป็นการพักสมองส่วนที่ถูกใช้งานจนล้า นอกจากนี้ ยังทำให้คุณได้พบความสัมพันธ์ใหม่ๆ เพื่อนใหม่ ได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ที่อาจเป็นประโยชน์กับตัวเองด้วย
4. ไปพัก
ถ้าเบิร์นเอาท์เบาๆ ลองลาพักดูนะครับ หยุดทำงานทุกอย่าง แต่ถ้าหยุดทำงานแล้วไม่มีตังค์ซื้อตั๋วเครื่องบินไปเที่ยวไกลๆ ก็แค่หยุดอยู่บ้านนี่แหละครับ ลองทาสีบ้านใหม่ ซ่อมเก้าอี้ เปลี่ยนหรือปะชุนผ้าม่าน ลองเปลี่ยนการจัดบ้าน เลื่อนเตียงมาอยู่ใกล้หน้าต่างมากข้ึนอีกนิด หรือแม้กระทั่งพลิกกลับที่นอนไปอีกข้าง บางทีอะไรเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ ก็จะช่วยคุณได้มากอย่างที่คิดไม่ถึง
หรือถ้าไม่อยากอยู่บ้าน แต่ไม่อยากเสียเงินเดินทางไกลๆ ลองทำ Staycation (มาจาก Stay + Vacation คือพักผ่อนอยู่ในเมืองที่เราอยู่นี่แหละ) ลองลางานสักวัน แล้วนั่งรถเมล์เล่น ไปกินขนมแถวบางลำพู นั่งเรือข้ามฟากไปมา หรือไปถีบเรือในสวนสาธารณะ ฯลฯ แค่นี้ก็จะจัดการกับเบิร์นเอาท์เบาๆ พอได้อยู่นะครับ