แฮโรลด์ รอส : ตำนานแห่ง The New Yorker และความร่วงโรยของวงการนิตยสาร

“เมื่อนึกย้อนกลับไป ผมเริ่มคิดว่าเขาคือยักษ์แอตลาสผู้แบกโลกเอาไว้บนหลัง แต่เขาเป็นยักษ์ที่ไม่มีกล้ามเนื้อ ทว่าให้ตายเถอะ – ถ้าไร้กล้ามยังไง เขาก็ยังตัดสินใจจะแบกโลกเอาไว้อยู่ดี”

แอนดี้ ไวต์ พูดถึงแฮโรลด์ รอส – บรรณาธิการผู้ก่อตั้งนิตยสาร The New Yorker 

1

พูดได้เต็มปากว่า นิตยสาร (ฝรั่ง) ที่ผมชอบมากที่สุด ก็คือ The New Yorker

ในปี 1950 มีข่าวว่าเจ้าของโรงแรม The Ritz ในนิวยอร์ค (ซึ่งในตอนน้ันใช้ชื่อว่า The New York Hotel) อยากจะทุบตึกทิ้งเพื่อสร้างอาคารหลังใหม่แทนที่ เนื่องจากนิวยอร์คยุคห้าศูนย์ คือยุคที่การสร้างตึกสูงๆ กำลังรุ่งเรืองเฟื่องฟู 

ดำรินี้ถูกต่อต้านอย่างมากจากเหล่านิวยอร์คเกอร์ เพราะโรงแรม The Ritz คือโรงแรมหรู เปิดในปี 1911 ที่นิวยอร์คเป็นแห่งแรก และเพิ่งจะมีอายุราวสี่สิบปีเท่านั้น การทุบตึกที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์มหาศาลจึงเป็นเรื่องที่ไม่มีใครนึกถึง

และแล้ว ในวันที่ 18 มีนาคม 1950 นิตยสารที่มีชื่อพ้องกับโรงแรม The New York Hotel อย่าง The New Yorker ก็ ‘เลือก’ จัดงานฉลองครบรอบ 25 ปีของตัวเองขึ้นที่โรงแรมแห่งนี้ก่อนที่มันจะถูกทุบทิ้งไปอย่างไม่ไยดี โดยเดรสโค้ดสำหรับแขกในงานก็คือ Dress or not, as you like ซึ่งฟังดูคล้ายๆ ‘จะแต่งตัวห่-เห-อะไรมาก็ได้ ตามใจเลย’ อันเป็นเดรสโค้ดที่แสดงออกถึงความเศร้าและขุ่นเคืองใจที่สถานที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้กำลังจะถูกรื้อทำลาย แต่แขกส่วนใหญ่ก็แต่งตัวหรูด้วยชุดทักซิโดและชุดราตรีมาอยู่ดี

ในงานคืนนั้น คนที่เป็นจุดสนใจท่ีสุดของงานไม่ใช่ใครอื่น นอกจากแฮโรลด์ รอส ซึ่งเป็นบรรณาธิการผู้ก่อตั้ง The New Yorker ซึ่งหลายคนคิดว่าเขาน่าจะเป็นหนุ่มสังคม ชอบออกงาน พบปะสังสรรค์ผู้คน ถึงได้สร้างนิตยสารที่เป็น ‘ศูนย์กลาง’ ชีวิตของชาวนิวยอร์คข้ึนมาได้อย่างประสบความสำเร็จเช่นนี้

แต่ไม่เลย รอสไม่ใช่คนแบบนั้น รอสเป็นบรรณาธิการที่เก็บตัว เขาไม่ชอบพูดในที่สาธารณะ ร่ำลือกันว่า เขาเคยหนีออกจากงานศพเพื่อนรักของเขา เพราะถูกวางตัวให้ขึ้นกล่าวไว้อาลัยด้วยซ้ำ แต่คืนนั้น – เลี่ยงไม่ได้, รอสต้องข้ึนพูด และเขาทำกระทั่งดื่ม อันเป็นเรื่องที่ปกติแล้วบรรณาธิการยิ่งใหญ่ผู้นี้ไม่ทำ

ค่ำคืนนั้นจบลงอย่างยิ่งใหญ่ ผู้คนกล่าวขานจดจำ มันคือการไว้อาลัยให้กับโรงแรมที่ยิ่งใหญ่ท่ีสุดแห่งหนึ่งของโลก สถานที่อันเป็นที่เกิดของตำรับซุปเย็นชั้นสูงอย่างวีชีซัวส์ (Vichyssoise) 

The New York Hotel ถูกรื้อทำลายลงในปีรุ่งขึ้น คือปี 1951

แต่ไม่มีใครคิดหรอก – ว่ามันจะเป็นปีเดียวกันกับที่แฮโรลด์ รอส, จากโลกนี้ไปด้วย

2

เรื่องที่เล่ามาข้างต้น อยู่ในบทนำของหนังสือ Genius in Disguise: Harold Ross of the New Yorker ของ Thomas Kunkel ซึ่งเล่าถึงประวัติชีวิตของบรรณาธิการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของโลกเอาไว้อย่างสนุกสนาน มีสีสัน และได้รับคำยกย่องว่าเป็นหนึ่งในหนังสือชีวประวัติที่ดีที่สุด

เคิร์ท แอนเดอร์เซน (Kurt Andersen) อดีตบรรณาธิการแห่งนิตยสาร New York และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งนิตยสาร Spy เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า ช่วงปี 1920 ถึง 2020 คือ ‘ศตวรรษแห่งแมกกาซีน’ เขาบอกว่านิตยสารยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกหลายฉบับ อาทิเช่น The New Yorker และ Time ต่างก็ก่อตั้งขึ้นในทศวรรษสองศูนย์ (Time เกิดในปี 1922 ส่วน The New Yorker เกิดในปี 1925) ก่อนหน้าจะเกิดเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ของโลกไม่นานนัก นิตยสารที่ ‘ผ่าน’ วิกฤตเศรษฐกิจมาได้ จึงรุ่งเรืองเฟื่องฟูมาจนถึงปัจจุบัน ก่อนต้องพบกับวิกฤตอีกลูกหนึ่ง เป็นวิกฤตใหญ่กว่าที่ แฮโรลด์ รอส เคยพบพานมาชั่วชีวิตของเขา

มันคือวิกฤตแห่งความตายของอุตสาหกรรมนิตยสาร!

แต่เดี๋ยวก่อน – มันเป็นอย่างนั้นแน่หรือ?

ในปี 2017 เกรย์ดอน คาร์เตอร์ (Graydon Carter) บรรณาธิการผู้อยู่ยั้งยืนยงดูแลนิตยสารระดับโลกอย่าง Vanity Fair ได้ประกาศอำลาตำแหน่งที่เขารั้งอยู่นานถึง 25 ปี แต่ไม่ใช่แค่คาร์เตอร์เท่านั้นที่จากไป ในปีเดียวกัน บรรณาธิการชื่อดังจากนิตยสารอีกสามเล่ม คือ Time, Elle และ Glamour ก็ประกาศเช่นเดียวกันว่าจะก้าวลงจากตำแหน่ง แถม ‘ยักษ์ใหญ่’ ในวงการนิตยสารอีกคนหนึ่ง คือ แจน เวนเนอร์ (Jan Wenner) ผู้ก่อตั้งนิตยสาร Rolling Stone ก็ประกาศแผนว่าเขาจะขายหุ้นส่วนใหญ่ของ Rolling Stone ทิ้ง หลังจากดูแลอาณาจักรแห่งนี้มานานกว่าครึ่งศตวรรษ ไม่นับรวมข่าวที่ว่ากันว่า เกลนด้า เบย์ลีย์ (Glenda Bailey) แห่ง Harper’s Bazaar ผู้รั้งตำแหน่งนี้มาตั้งแต่ปี 2001 ก็ร่ำๆ จะอำลาตำแหน่งอยู่เหมือนกัน 

นอกจากนี้ นิตยสารอีกมากมายหลายเจ้าก็ได้ขายหรือไม่ก็กำลังจ่อคิวรอขายกันอยู่ เช่น เครือ Wenner Media (ที่เป็นเจ้าของ The Rolling Stone)ขาย Us Weekly และ Men’s Journal ไปแล้ว ส่วน Johnson Publishing ที่เป็นเจ้าของ National Enquirer ก็ขายนิตยสารอย่าง Ebony และ Jet ไปแล้วเช่นกัน รวมถึงเครือ Rodale ที่เป็นเจ้าของ Bicycling, Runner’s World และ Men’s Health กับ Women’s Health ก็บอกว่ากำลังทำดีลขายอยู่ด้วยเช่นกัน

แม้แต่เครือใหญ่ๆ อย่าง Time Inc. กำไรก็ลดลงมาตลอดนับตั้งแต่ปี 2011 จนปัจจุบันกำลังมีนโยบายจะลดงบประมาณลงให้ได้ 400 ล้านเหรียญ ในช่วง 18 เดือนข้างหน้า แม้ว่าธุรกิจสิ่งพิมพ์จะยังเป็นรายได้หลัก (คือราวสองในสาม) ของรายได้ประจำปีราวสามพันล้านเหรียญอยู่ก็ตาม 

หลายคนวิเคราะห์ว่า การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้คือการเปลี่ยนแปลงถึงระดับ ‘ฐานราก’ ของธุรกิจสิ่งพิมพ์เลย เพระมัเนกิดขึ้นพร้อมๆ กัน และการจากไปของบุคลากรระดับ ‘ซีเนียร์’ ที่เกิดขึ้นแทบจะพร้อมกัน ก็เป็นคล้ายการรูดม่านปิดฉากธุรกิจนิตยสารลงด้วย

แต่กระนั้น เมื่อมองในอีกด้านหนึ่ง นี่ก็คือการ ‘ผลัดใบ’ ขนานใหญ่ เมื่อผู้อาวุโสทั้งหลายก้าวลงจากตำแหน่ง ก็เป็นโอกาสใหม่ สำหรับเหล่าบรรณาธิการรุ่นใหม่ ที่จะได้เข้ามาดูแลธุรกิจนี้แทนที่บรรณาธิการรุ่นเก่า ที่อาจไม่เข้าใจทั้ง ‘จังหวะ’ และ ‘รูปแบบ’ ของการสื่อสารแห่งศตวรรษที่ 21 ที่ต้องผนวกรวมเอาการสื่อสารออนไลน์ใส่เข้าไปด้วยพร้อมๆ กับที่ไม่ทิ้ง ‘กระดูกสันหลัง’ ดั้งเดิมของตัวเอง

เดวิด แครีย์ ประธานของ Hearst บริษัทผู้ผลิตนิตยสารรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลก บอกว่าศัตรูตัวร้ายของธุรกิจแมกกาซีนไม่ใช่อะไรอื่น แต่คือ ‘ความอ่อนไหว’ (เขาใช้คำว่า Sentimetality) เพราะนักทำหนังสือจำนวนมากยังคงหวนหาอดีต พร่ำบ่น และยังคงฝังตัวอยู่กับความสำเร็จและ ‘ศตวรรษแห่งแมกกาซีน’ ที่กำลังจะผ่านไป

แครีย์บอกว่า สิ่งที่วงการแมกกาซีนต้องทำไม่ใช่อะไรอื่นเลย นอกจากการ ‘โอบกอดอนาคต’ (Embrace the Future) ซึ่งก็คือการเปิดกว้างให้กับสิ่งใหม่ๆ และสิ่งที่ผู้บริหารรุ่นใหม่กำลังทำกันอยู่ ก็คือการเดินเข้าไปในความไม่รู้เท่าเทียมเหมือนกันหมดทุกราย เพื่อไขว่คว้าหา ‘สูตรสำเร็จ’ สูตรใหม่ๆ แบบที่แฮโรลด์ รอส เคยทำได้ในทศวรรษสองศูนย์

สิ่งที่พวกเขาทำกันก็คือใช้วิธี Try-Anything Approach หรือลองทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ อย่างเครือ Time Inc. ก็กระโดดเข้าไปหารายการทีวีออนไลน์แบบสตรีมมิ่ง ที่เน้นไปยังความน่ารักของสัตว์อย่างรายการ Paw & Claws เพื่อสร้างความ ‘ไวรัล’ ให้เกิดขึ้นและนำรายได้เข้าบริษัท ซึ่งก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำให้เกียรติภูมิของเครือ Time ต้องแปดเปื้อน เนื่องจากมันไม่ได้มีจิตวิญญาณของนักหนังสือพิมพ์หรือ Journalism แบบเดิม แต่กระนั้น แครีย์ก็บอกว่านี่เป็น ‘การทดลอง’ เพื่อจะต้องดิ้นรนหาวิธีอยู่รอดให้ได้

ที่น่าสนใจก็คือเครือ Hearst ที่ยังคงปักหลักอยู่กับการทำแมกกาซีน แต่พยายามหา ‘โมเดล’ ใหม่ๆ เพื่อให้แมกกาซีนนั้นๆ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเฉพาะของตัวเองให้ได้มากที่สุด เช่น เริ่มทำแมกกาซีน Airbnbmag ที่ผูกตัวเองเข้ากับ Airbnb และหาที่วางขายเฉพาะ เช่นในสนามบินหรือตามซูเปอร์มาร์เก็ตที่เลือกสรรแล้ว หรือเพิ่งออกนิตยสารใหม่ชื่อ The Pioneer Woman โดยไปเข้าหุ้นกับ Ree Drummond แห่ง Food Network และขายเฉพาะใน Walmart ก่อน

อีกเครือหนึ่งที่ยังคงเชื่อมั่นในนิตยสารอยู่มาก ก็คือ Condé Nast ซึ่งใช้วิธีหาหุ้นส่วนภายนอก เช่นร่วมหุ้นกับกวินเนธ พัลโธรว์ ออกนิตยสารใหม่ชื่อ Goop เป็นต้น 

นักวิเคราะห์บางคนบอกว่า ปี 2017 น่าจะเป็นปี ‘ขาลง’ ที่สุดแล้วของนิตยสาร และปี 2018 อาจเป็นปีที่นิตยสารฟื้นกลับคืนมาใหม่ก็ได้ เพราะในท่ามกลางกระแสออนไลน์โหมกระหน่ำ ก็มีแนวโน้มที่จะเกิดนิตยสารใหม่ๆ ขึ้นมาอีกหลายเล่ม โดยต้องมีลักษณะเฉพาะและหาโมเดลการกระจายหนังสือแบบใหม่ๆ ให้พบ เพื่อให้นิตยสารไปถึงมือคนอ่านให้ได้ ตัวอย่างเช่น Cosmopolitan ในอังกฤษ ที่ใช้กลยุทธ์ลดราคาลงเหลือเล่มละ 1 ปอนด์ รวมทั้งไปจับมือกับ Snapchat เพื่อเข้าถึงผู้อ่านผ่าน Snapchat Discover หรือ Elle ก็ใช้วิธีให้ผู้อ่านพรีออร์เดอร์ภาพปกฉบับพรินท์ได้แบบ ‘ออนดีมานด์’ รวมไปถึงอีกหลายเล่มที่กลายมาเป็น Free Magazine

เมื่อมองดูกระแส ‘ขาลง’ ของนิตยสาร โดยเฉพาะในเมืองไทย ผมมักนึกถึงคำพูดของ เคิร์ท แอนเดอร์เซน อดีตบรรณาธิการนิตยสาร New York ที่บอกว่าในที่สุดแล้ว นิตยสารจะเป็นเหมือนเรือใบ

“มันไม่จำเป็นต้องมีอยู่อีกต่อไปแล้ว” เขาบอก “แต่คนก็ยังรักมัน ยังผลิตมัน และยังซื้อมันอยู่”

3

ในฤดูใบไม้ผลิปีรุ่งขึ้น คือปี 1951 แฮโรลด์ รอส ผู้สูบบุหรี่อย่างหนักมาตลอดสี่สิบปี ค้นพบว่าเขาเป็นมะเร็ง เขาปิดบังอาการป่วยของตัวเองจากครอบครัวและเพื่อน แต่เพราะเขาต้องหายหน้าไปจากออฟฟิศบ่อยๆ อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หลายคนจึงคิดว่าต้องมีอะไรร้ายแรงเกิดขึ้นแน่ๆ

ไม่นานหลังจากนั้น เขาหนีไปจากภรรยา ในปีนั้น มีผู้พบเขามานั่งอ่านต้นฉบับอยู่ที่โรงแรมอัลกอนควิน (Algonquin Hotel) ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงแรมโปรดของเขาอยู่เนืองๆ บางครั้งเขาก็มากินอาหารกับเพื่อนสนิทไม่กี่คน และแล้วก่อนจะถึงคริสต์มาสของปีนั้น ในวันที่ 6 ธันวาคม เขาก็เสียชีวิต

เจมส์ เธอเบอร์ (James Thurber) เคยเล่าว่านักข่าวอีกคนหนึ่ง คือจอห์น ดันแคน มิลเลอร์ (John Duncan miller) บอกว่าแค่พบกับรอสได้เพียงครึ่งชั่วโมง เขาก็รู้สึกว่ารอสเป็นผู้ชายคนสุดท้ายในโลกนี้แล้ว ท่ี่น่าจะทำงานบรรณาธิกรให้กับนิตยสาร The New Yorker ได้ เขารู้สึกว่าไม่มีใครอีกแล้วในโลกที่ทำได้อย่างแฮโรลด์ รอส

The New Yorker ขึ้นชื่อเรื่องลายเส้นการ์ตูนที่มักมีเนื้อหาเสียดสี เมื่อแฮโรลด์ รอส เสียชีวิต The New Yorker ก็ไว้อาลัยเขาด้วยการ์ตูนมากมายหลายชิ้น มีทั้งการ์ตูนที่เขียนขึ้นอย่างรักใคร่ในตัวเขา แต่กระนั้นก็มีการ์ตูนอีกไม่น้อยที่ไม่ได้ทำเช่นนั้น หลายชิ้นเสียดสีว่าเขาเป็นบรรณาธิการช่างบังคับบัญชา ก้าวร้าว หยาบคายกับลูกน้อง ไร้เดียงสาทางเพศ และไม่อดทนกับคนอื่น แต่ไม่ว่าจะอย่างไร แฮโรลด์ รอส ก็ยังเป็นตำนานสำคัญของวงการนิตยสารอเมริกันและของโลกอยู่นั่นเอง

บางครั้งผมก็อยากรู้ว่า ถ้าโมซาร์ตได้ลองแต่งเพลงด้วยคอมพิวเตอร์ดู เพลงจะออกมาเป็นอย่างไร กับแฮโรลด์ รอส ก็เช่นเดียวกัน บางครั้งผมก็ชอบนึกเล่นๆ ว่าถ้าหากเขายังอยู่ เขาจะพา The New Yorker และวงการนิตยสารเดินหน้าต่อไปอย่างไร – โดยเฉพาะในฐานะยักษ์แอตลาสที่ไร้กล้ามเนื้อ และยิ่งเหลือกล้ามเนื้อน้อยลงเรื่อยๆ, ตนนั้น