อาการหมดไฟหรือ เบิร์นเอาท์ (Burnout) เกิดได้ตลอดเวลา เพราะไม่ช้าก็เร็ว เราแต่ละคนจะรู้สึกว่า ‘พอแล้ว’ กับสิ่งที่ทำอยู่
ถ้าเป็นฝรั่งก็อาจจะบอกว่า I’m done หรือ I want to give up คือสละสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อจะได้ไม่ต้องทำสิ่งที่กำลังทำอยู่
หลายคนคิดว่า ‘หมดไฟ’ เกิดได้เฉพาะเรื่องงาน แต่จริงๆแล้วอาการเบิร์นเอาท์มีความหมายกว้างกว่านั้นเยอะ เพราะเราอาจเบิร์นเอาท์กับการออกสังคม (Social Life) ก็ได้ คืออยู่ๆ ก็ไม่ออกงาน ไม่ไปปาร์ตี้เสียอย่างนั้น หรือเบิร์นเอาท์กับความสัมพันธ์ ซึ่งในกรณีหลังอาจแปลเป็นไทยได้ว่า ‘หมดใจ’
แต่ในที่นี้ อยากชวนคุณมาคุยเรื่องหมดไฟในการทำงานมากกว่าครับ เพราะผมได้คุยกับน้องๆ หลายคนที่อยู่ในวัยเลขสาม ทั้งสามต้นสามปลาย แล้วหลายคนกำลังบ่นว่าตัวเองรู้สึกหมดไฟ
ทำไมเราถึงหมดไฟ?
มีการศึกษาหลายชิ้นบอกว่า คนที่ทำงานประเภทไนน์ทูไฟฟ์ เช่น งานบัญชี งานนั่งโต๊ะ งานรูทีน อะไรพวกนี้จะ ‘หมดไฟ’ น้อยกว่าพวกที่ทำงานสร้างสรรค์ ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผมก็ว่าจริง โดยเฉพาะในแวดวงคนทำงานสร้างสรรค์
เราอาจจะแบ่งโลกของคนทำงานออกได้เป็นสองอย่าง คือพวกทำงานสร้างสรรค์ที่ทำงานไม่เป็นเวล่ำเวลา แม้แต่นอนฝันอยู่บ้านก็เอาไปเป็นงานได้ กับพวกที่ ‘งาน’ กับ ‘ชีวิต’ แยกขาดออกจากกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งไม่ได้แปลว่าแบบไหนดีกว่าแบบไหนนะครับ แต่คนแบบหลังจะไม่ค่อยเกิดอาการหมดไฟมากนัก อาจจะเบื่องานอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่รู้ว่างานก็คืองาน งานไม่ใช่ชีวิต ถ้าผ่านจุดเบื่อไปได้ ก็สามารถทำงานนั้นต่อไปได้เรื่อยๆ
แต่คนกลุ่มแรก ประเภทที่ทำงานสร้างสรรค์นี่สิครับ คนพวกนี้มีทั้งที่ทำงานประจำและเป็นฟรีแลนซ์นะครับ คนเหล่านี้จะเจอกับ ‘ต้นตอ’ ของสิ่งที่ทำให้เกิดอาการ ‘หมดไฟ’ ได้ง่ายกว่ามาก
ต้นตอที่ว่า คือสิ่งที่ฝรั่งเรียกว่า Manifold มันคือการได้ทำงานที่มากมายหลายหลาก ดูแล้วน่าตื่นเต้นสนุกสนานไปเสียหมดทุกงาน ซึ่งมันก็ตื่นเต้นดีอยู่นะครับตอนที่เริ่มทำแรกๆ ได้พบปะผู้คน ชีวิตมีสีสัน
แต่สีสันที่ว่า ก็สร้างความเครียดให้พร้อมกับความสนุกนั่นแหละ สาเหตุหลักที่ทำให้คนกลุ่มนี้หมดไฟ ก็คือเกิด ‘ความเครียด’ ในระดับสูง (เช่น ตื่นเต้นกับการต้องทำงานให้ได้ตามเดดไลน์ ลูกค้าไล่จี้ทวงงานต้องปั่นงานยังกับขับรถแข่ง ต้องคิดงานให้เจ๋ง ฯลฯ) และเครียดแบบนี้เป็นเวลานานๆ ด้วย
ที่คนกลุ่มนี้ทำงานเครียดๆ แบบนี้ได้นานๆ เป็นเพราะมันสนุกไงครับ แต่ถึงจะสนุกอย่างไร มันจะเหมือนจู่ๆ ลานก็ขาดผึง จู่ๆ ความสนุกที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็กลายเป็นฟางเส้นสุดท้าย ทำให้เกิดอาการเบื่อ หมดไฟ หมดแรง ไม่อยากทำสิ่งที่เคยสนุกกับมันเหลือเกินขึ้นมา