1
ชอบ One for the Road มากกว่าที่คิดว่าจะชอบ โดยเฉพาะเมื่อก่อนดูหนัง ได้อ่านคำวิจารณ์ที่ว่า หนังเรื่องนี้หมุนรอบโลกของผู้ชายเป็นใหญ่ – ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริง แต่กระนั้นก็ยังมีองค์ประกอบอีกหลายอย่างที่ทำให้หนังเรื่องนี้มี ‘พลัง’ ที่แสดงให้เห็นว่าผู้สร้าง ‘พยายาม’ (อย่างน้อยที่สุดก็ได้พยายาม) จะพาเราไปตระหนักถึงความหมายของชีวิตที่ไปไกลกว่ามิติเรื่องเพศ และเห็นถึงการทุ่มเททำงานอย่างหนักจริงๆ
อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตถึงหนังอยู่สองสามเรื่อง คือ
อย่างแรกสุด หนังมีชื่อว่า One for the Road และมีภาพประกอบที่มีรถ BMW 2000C ชวนให้คิดว่านี่เป็นหนังแนว Road Movie ที่จับคนสองคนมาอยู่ด้วยกันในที่แคบๆ ของการเดินทาง แล้ว ‘สภาพแวดล้อม’ ที่เกิดจากการเดินทาง จะก่อให้เกิดผลลัพธ์สะเทือนภายในของตัวละครบางอย่าง
ตัวอย่างของหนัง Road Movie ที่เด่นชัดมากๆ ก็เช่น Green Book, Little Miss Sunshine, Thema & Louis, Transamerica หรือ The Adventure of Priscilla : Queen of the Desert ซึ่งจะเห็นว่าแต่ละเรื่องจะเกิด ‘การเปลี่ยนแปลง’ ที่ตัว Road หรือการเดินทาง และสิ่งที่ได้พบเห็นระหว่างการเดินทาง – มีส่วนร่วมขับดัน บีบเค้น หรือกระตุกให้ตัวละครเกิดการเปลี่ยนแปลง
แต่ใน One for the Road นั้น ตัวละครที่เรียกว่า Road ปรากฏให้เห็นอย่าง ‘เจือจาง’ เอามากๆ เราแทบไม่เห็น Road หรือเรื่องราวระหว่างทางเลย ตัวละครไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์อะไรกับถนน (ยกเว้นนอนหลับอยู่ในรถ – ซึ่งถ้าพูดในแง่ความเปรียบแล้วจะ sarcastic ไปอีกแบบ) มีแต่การ ‘ไปถึง’ Destinations ต่างๆ โดยไม่ได้เห็นรายละเอียด ‘ระหว่างทาง’ เลย
และพูดให้ถึงที่สุด สมมุติว่าคนรักเก่าไม่ได้อยู่ที่โคราช เชียงใหม่ สมุทรสงคราม แต่อยู่แถวละแวกบ้าน – ตัวละครก็สามารถเดินไปหาได้โดยไม่ต้องนั่งรถ และไม่ได้ทำให้เนื้อหาของหนังเสียหายไปแต่อย่างใด
เพราะฉะนั้น โดยส่วนตัวจึงมองว่าความเป็น Road Movie ในหนังเรื่องนี้มีบางเบามาก ที่จะชัดหน่อยก็คือช่วงโปรยเถ้าของพ่อ อันเป็นฉากที่ ‘ถนน’ (ในรูปของสะพาน) ถูกขับเน้นให้มีบทบาทขึ้นมา
2
ความเจือจางของถนนไม่ใช่เรื่องเดียว แต่อย่างที่บอกไปเมื่อกี้ ว่าต่อให้ไม่ได้เป็นโคราช เชียงใหม่ หรือสมุทรสงคราม ก็ไม่ได้ทำให้อะไรเสียไป และพูดให้ถึงที่สุด ต่อให้ไม่ใช่นิวยอร์ค แต่เป็นลอนดอน โคเปนเฮเกน โตเกียว ฯลฯ – ก็ไม่ได้มีผลอะไรกับหนังด้วยเหมือนกัน คือเป็นที่ไหนก็ได้ในโลก ซึ่งถ้าใกล้กว่านิวยอร์ค ก็อาจทำให้ปมของหนัง ‘น่าเชื่อถือ’ มากขึ้นด้วย เพราะเพื่อนน่าจะตัดสินใจบินไปบินมาหากันได้ง่ายกว่า ถ้าเมืองนั้นๆ อยู่ใกล้กว่า
แต่พูดให้ถึงที่สุดแล้ว เมืองพวกนี้ก็มีชะตากรรมเหมือน ‘ถนน’ ด้วยเหมือนกัน นั่นคือมันมีความเลือนรางบางเบา ไม่มีผลสะเทือนอะไรต่อเรื่องราวทั้งหมดมากนัก เป็นที่ไหนก็ได้ ทั้งที่ในชื่อหนังมีคำว่า Road จึงชวนให้คิดว่าทั้งเมือง การเดินทาง และถนน – น่าจะมีผลกับการเคลื่อนไปในประเด็นต่างๆ ของหนังมากกว่านี้
และก็เช่นเดียวกันกับถนนและเมือง สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘แฟนเก่า’ ในหนังเรื่องนี้ก็ถูกทำให้รางเลือนจางหายไปด้วย
ครึ่งแรกของหนังเป็นเพียงการ ‘ปูพื้น’ ให้เห็นว่า ‘แฟนเก่า’ เหล่านี้ โดยเนื้อแท้เป็นเพียงแค่ฟันเฟืองหรือจักรกลที่จะช่วยประกอบสร้าง ‘ความเป็นเพื่อน’ ของผู้ชายสองคนเท่านั้น เพราะแฟนเก่าทั้งสามคนเคยอยู่ที่นิวยอร์คมาด้วยกัน ความสัมพันธ์ ความขัดแย้ง การเลิกราต่างๆ ช่วยให้มิตรภาพของผู้ชายสองคนนี้แน่นแฟ้นมากขึ้น และกระทั่งการกลับมาเจอกันอีกครั้ง สุดท้ายก็ยังไม่ได้เป็นไปเพื่อตัวแฟนเก่าอยู่ดี ทว่าคือการขันชะเนาะความสัมพันธ์ของผู้ชายสองคนให้เดินหน้าไปสู่ไคลแม็กซ์ของเรื่อง
ดังนั้น สามสิ่งสำคัญที่มีอยู่ในหนัง คือสองสิ่งที่ไม่มีชีวิต ได้แก่ถนน (ที่สำคัญมากเพราะอยู่ในชื่อเรื่อง) กับเมือง กับอีกสิ่งหนึ่งที่มีชีวิต คือแฟนเก่า (ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าผู้สร้างจะจงใจให้สามสิ่งนี้อยู่ในระนาบหรือความสำคัญเดียวกัน หรือเหยียดผู้หญิงไปเป็นเพียงของประกอบฉากเท่าๆ กับถนนและเมืองนะครับ) จึง ‘ถูกทำให้เลือนไป’
คำถามก็คือ – นี่คือความจงใจใช่ไหม?

3
ถ้าเราดู ‘ปม’ ที่ขับดันให้ตัวละครหลักต้องย้ายไปอยู่นิวยอร์ค (ซึ่งที่จริงจะเป็นที่ไหนก็ได้) เราจะพบว่า คนที่ก่อให้เกิดการขับเคลื่อนเรื่องนี้ขึ้นมาทั้งหมด คือคนที่อยู่ในสถานะของ ‘เมีย’ และ ‘แม่’ ด้วยการที่ ‘เมีย’ และ ‘แม่’ ร่วมกันหลอกให้ตัวละครหลักตกลงย้ายไปอยู่นิวยอร์ค (โดยอาศัย ‘อำนาจเงิน’ ที่ ‘แม่’ ได้มาจาก ‘ชายทรงอำนาจ’ ที่อยู่ในสถานะ ‘ผัวใหม่’ ของแม่ แต่ไม่ได้มีบทบาทอะไรต่อชีวิตของตัวละครหลัก แม้แต่ลูกของผัวใหม่ที่ดูกร่าง ก็ไม่ได้มีบทบาทต่อพล็อตหลักอะไรมากนัก)
ฉากที่ทรงพลังมากๆ ในหนัง จึงคือฉากที่ตัวละครในสถานะ ‘เมีย’ บอกความจริงกับตัวละครหลักในช่วงกลางเรื่อง และฉากที่ตัวละครในสถานะ ‘แม่’ ย้อนกลับมา approve ชีวิตของตัวละครหลักในช่วงท้ายเรื่อง
ซึ่งหากมองแบบนี้ เราจะเห็นได้ชัดเลยว่า – ถึงตัวละครที่เป็น ‘ผู้หญิง’ จะถูกทำให้เลือนรางจางหายไป แต่กลับเป็นตัวละครที่มีพลังขับดันอย่างเข้มข้นต่อชีวิตของตัวละครหลัก และในที่สุดก็ทำให้ตัวละครหลักได้ ‘เติบโต’ หรือได้ ‘โงหัว’ ขึ้นมาจากการจมปลักอยู่กับ ‘ทศวรรษที่หายไป’ เมื่อเขาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเพื่อนผู้ชายอย่างสำมะเลเทเมา และเพื่อนผู้ชายคนนั้นก็ Idolise ชีวิตแบบนั้นด้วย (ผ่านคำสารภาพในตอนท้าย)
ถ้ามองในมุมกลับแบบนี้ หนังเรื่องนี้อาจวิพากษ์ความเป็นชายด้วยซ้ำ แต่การวิพากษ์ความเป็นชายที่ว่านี้ก็เหมือนเมืองกับถนนนั่นแหละ คือถูกทำให้เลือนรางจางหาย จนมอง (แทบ) ไม่เห็น อย่าว่าแต่จะจับต้องได้ออกมาเป็นชิ้นเป็นอันเลย
ถ้ามองในฐานะ Road Movie ฉากสำคัญที่น่าจะเป็นตัวเคลื่อนเรื่องทั้งหมด น่าจะเป็นฉากที่ตัวละครหญิง (พริม) บอกกับตัวละครหลักว่า – เธอไม่อยากอยู่ ‘ที่นี่’ ที่ที่เป็น ‘บ้านเกิด’ ของเธอ เพราะมันเป็นที่ที่ห่วย (ขออภัยที่จำบทสนทนาในหนังได้ไม่แม่นยำนัก แต่ใน subtitle ภาษาอังกฤษ ถึงขั้นใช้คำว่า hate หรือ ‘เกลียด’ ที่นี่ไปเลย)
โดยปกติ ความเป็น Road Movie ส่วนใหญ่จะถูกนำมาใช้ขับเคลื่อนสภาวะ ‘ขบถ’ เช่น ตัวละครต้อง ‘หนี’ จากสภาพความเป็นอยู่บางอย่างที่บีบคั้น (แก่นเรื่องการเป็นคน Outlaw ถูกนำมาใช้บ่อยๆ) หรือถูกสภาวะบางอย่างบังคับให้ต้องมาเดินทางร่วมกันแล้วเผชิญหน้ากับโครงสร้างบางอย่างที่ย้อนกลับไป ‘บีบ’ ให้ preconceptions เดิมของตัวละครเกิดการบิดหรือ shift อย่างรุนแรง และสุดท้ายก็เปิดรับมุมมองใหม่ที่อาจไปไกลถึงขั้น ‘เปลี่ยนโลกทัศน์’ และหลายเรื่องก็ไปไกลขึ้นไปอีกด้วยการจบการเดินทางนั้นด้วยความตาย คือ ‘เปลี่ยนโลก’ ที่ตัวเองอยู่ไปเลย เนื่องจาก paradigm มัน shift ไปแล้วจนเห็นว่าโลกนี้ไม่ใช่ที่ที่เหมาะสมกับตัวเองอีกต่อไป
ดังนั้น การที่ตัวละครหญิงบอกว่าเธอ ‘เกลียด’ ที่นี่ ที่ที่เป็นบ้านเกิดของตัวเองเพราะมัน ‘ยังดีไม่พอ’ จึงเป็นไดอะล็อกที่กล้าหาญเอามากๆ และที่จริงก็เป็นตัวการขับเคลื่อนเรื่องทั้งหมดด้วยซ้ำ
แต่น่าเสียดายที่เมื่อหนังคลี่คลายไปถึงสาเหตุหลักจริงๆ ของการย้ายประเทศ กลับไม่ได้หยิบเรื่องนี้มาพูดถึงอีก แต่แสดงให้เห็นถึงการหลอกลวง การทำเพื่อเงิน และชีวิตอันยากลำบาก ต้องดิ้นรนต่อสู้ในประเทศอื่น และสุดท้ายก็ defeat the purpose (ถ้าหากว่าจะมี purpose นั้นอยู่) ด้วยตอนจบที่สวยดี – แต่ไม่น่าเชื่อถือสักเท่าไหร่
อีกเรื่องหนึ่งที่ขวนให้ตั้งคำถาม ก็คือก็คือตัวรถ BMW 2000c เพราะรถ BMW 2000c นี่ เป็นรถยุค 1960s คือแถวๆ 2500s ไม่เกิน 2513 นั่นคือมัน ‘เก่า’ เอามากๆ และถ้าพ่อที่เป็นดีเจวิทยุที่ไม่คอยประสบความสำเร็จเท่าไหร่ จะรักษารถคันนี้เอาไว้ในสภาพดีขนาดนี้ ก็น่าจะต้องใช้เงินมากโขเลยทีเดียว เลยรู้สึกเสียดายนิดหน่อย ที่ตัวรถมันไม่สอดคล้องกับช่วงเวลาในหนัง เหมือนกับใส่เข้ามาให้มันดูเท่ๆ เท่านั้น ซึ่งก็เท่จริง โดยส่วนตัวชอบ BMW 2002 (ที่ออกมาในช่วงเดียวกัน) มากๆ เลยจำรถรุ่นแถวๆ นั้นได้ ทำให้ไม่เหมือน Drive My Car ที่เลือกรถได้สอดคล้องกับตัวเรื่องอย่างลึกซึ้ง
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ สไตล์การจัดรายการของพ่อตัวละคร แอบคิดว่า reference อาจจะเป็นสไตล์ประมาณรายการ ‘เพื่อนรัตติกาล’ ของคุณกุลชาติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ก็ได้ เพราะคล้ายกันมาก คือดีเจจัดคนเดียว พูดไปเรื่อยๆ ในเรื่องต่างๆ แล้วเปิดเพลงประกอบ ถ้าเข้าใจไม่ผิด รายการเพื่อนรัตติกาลน่าจะยังคงอยู่ แม้จัดมาหลายสิบปีแล้ว เสิร์ชหาได้ในยูทูป
โดยสรุปแล้ว เป็นหนังที่มีพลังของ ‘ความเป็นหนัง’ สูงมาก ดึงดูดเราเข้าไปอยู่ในหนังได้ตั้งแต่ต้นจนจบ แม้ช่วงครึ่งแรกจะมีความเนือยอยู่บ้างก็ตาม แต่หนังสวย ภาพสวย แสงสวยลงตัว ถ่ายทำดี องค์ประกอบต่างๆ ในฉากดี นักแสดงเล่นได้ดีมากๆ ทุกคน (ที่ชอบมากที่สุด ยังคงเป็นนุ่น – ศิรพันธ์ ที่แสดงสองบทบาท คือเจิดจ้าแจ่มใส – กับหม่นหมองฝนตก, ได้แบบตัดกันฉับในเสี้ยววินาทีของหนัง ขนาดเห็นไม่ชัดยังส่งพลังออกมาได้มากขนาดนั้น เก่งมากๆ)