วิโทลด์ ริบซินกี้ (Witold Rybczynski) ผู้เขียนหนังสือ Now I Sit Me Down อันเป็นหนังสือที่เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์เก้าอี้แสนสนุก บอกว่ามนุษย์ในโลกนี้แบ่งออกได้เป็นสองประเภทเท่านั้น
มนุษย์สองประเภทที่ว่า ก็คือมนุษย์ที่มีวัฒนธรรม ‘นั่งพื้น’ (Floor Sitting Culture) กับมนุษย์ที่มีวัฒนธรรม ‘นั่งเก้าอี้’ (Chair Sitting Culture)
ที่จริงเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่นัก เพราะเคยมีการศึกษาของ กอร์ดอน ฮีเวส (Gordon Hewes) นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน งานของเขามีชื่อว่า World Distribution of Certain Postural Habits (https://www.jstor.org/stable/666393?seq=1) เขาเสนอไว้ตั้งแต่ปี 1955 ว่า ‘ท่า’ ในการนั่งและยืนนั้นของมนุษย์แต่ละถิ่นที่น่าจะมีความสำคัญในทางวัฒนธรรม เขาจึงลองศึกษาท่านั่งและท่ายืนต่างๆ ของคนทั่วโลก และดูการกระจายตัวของท่านั่งท่ายืนต่างๆ และพบว่า ท่านั่งท่ายืนของมนุษย์นั้น มี ‘ขีดจำกัด’ ทางกายวิภาคและทางสรีระอยู่พอสมควร แต่กระนั้น มนุษย์เราก็ไม่ได้นั่งหรือยืนแค่ท่าสองท่า
เฉพาะท่านั่ง เฮเวสสามารถแยกแยะออกมาได้ไม่ต่ำกว่า 100 ท่านั่ง โดยท่านั่งที่มนุษย์นิยมทำมาก ก็คือท่า ‘นั่งยองๆ’ หรือ deep squat ประมาณว่า มนุษย์ราว 1 ใน 4 ของโลก จะนั่งท่านี้ ไม่ว่าจะเพื่อพักผ่อนหรือเพื่อทำงานก็ตาม แต่กลุ่มคนที่ชอบนั่งยองๆ มากที่สุด คือคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คนแอฟริกา และคนอเมริกาใต้ อีกท่าหนึ่งที่คนนิยมทำมาก ก็คือท่านั่งไขว้ขา (เช่นที่เราเรียกว่าขัดสมาธิ) อยู่บนพื้น และท่าที่หลายคนคุ้นเคยดี ก็คือท่านั่งคุกเข่า (sedentary kneeling) แบบที่คนญี่ปุ่นและเกาหลีนิยมนั่งกัน
แต่เหล่านั้นคือท่านั่งที่ไม่เกี่ยวกับเก้าอี้ มันคือท่านั่งที่อยู่ใน Floor Sitting Culture หรือวัฒนธรรมแบบนั่งกับพื้น ซึ่งหลายคนอาจคิดว่า วัฒนธรรมการนั่งกับพื้น น่าจะเป็นของคนในโลกเขตร้อน ส่วนคนที่นั่งเก้าอี้น่าจะเป็นวัฒนธรรมของคนในเขตหนาว แต่คำอธิบายนี้ใช้กับคนญี่ปุ่นที่อากาศหนาวเหน็บในฤดูหนาวไม่ได้ รวมทั้งใช้อธิบายคนอียิปต์ในเขตทะเลทรายที่มีวัฒนธรรมนั่งเก้าอี้ไม่ได้
บางคนก็พยายามอธิบายว่า ถ้าเป็นชนเผ่าเร่ร่อน มักมีวัฒนธรรมนั่งกับพื้นมากกว่า แต่ริบซินสกี้แย้งว่า มีชนเผ่าเร่ร่อนจำนวนไม่น้อยที่มีเก้าอี้แบบพับได้ และจะนำพาเก้าอี้เหล่านี้ติดตัวไปด้วยทุกที่ที่ย้ายถิ่นไป เขายังบอกด้วยว่า วัฒนธรรมนั่งเก้าอี้หรือนั่งพื้น ไม่สามารถแบ่งแยกได้ด้วยความร่ำรวยรุ่งเรืองของสังคมนั้นๆ เช่นในญี่ปุ่นที่เป็นประเทศร่ำรวย คนก็ยังคงมีวัฒนธรรมนั่งพื้นกันอยู่ แต่ในจีนกลับเกิดการเปลี่ยนผ่านจากการนั่งพื้นมาสู่การนั่งเก้าอี้หลังสังคมร่ำรวยมากขึ้นแล้ว และในอินเดียก็มีสองวัฒนธรรมนี้ปะปนกันอยู่อย่างยากจะแยก ดังนั้นถ้าถามว่าอะไรเป็นตัวแบ่งแยกสองวัฒนธรรมนี้ออกจากกัน ริบซินสกี้จะตอบว่า – ไม่รู้
นี่อาจเป็นความลับอย่างแรกก็ได้ ที่แฝงตัวอยู่ในเก้าอี้
มันคือเครื่องมือแบ่งแยกคนออกเป็นสองวัฒนธรรม แต่ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น – ยังไม่มีใครตอบได้