สวนเมจิ : สวนมหัศจรรย์ที่วางแผนการสร้าง 150 ปี

ตอนที่จักรพรรดิเมจิและพระจักรพรรดินีสิ้นพระชนม์ (1912 กับ 1914 ตามลำดับ) คนญี่ปุ่นอาลัยมาก เพราะถือเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่และสร้างคุณูปการให้กับประเทศสูงมาก กับ Meiji Restoration ถึงขนาดที่ทุกวันนี้คนก็ยังพูดถึง ‘ยุคเมจิ’ กันอยู่

หลังสิ้นพระชนม์แล้ว ทางการมีดำริว่า อยากจะสร้างอนุสรณ์สถานเพื่อเป็นเกียรติกับพระจักรพรรดิ ซึ่งก็คือ ‘ศาลเจ้าเมจิ’ หรือ Meiji Shrine ที่หลายคนคุ้นเคยว่าอยู่ในกรุงโตเกียวนี่แหละ

การสร้างนั้นไม่ได้ง่าย มีการพิจารณาสถานที่หลายแห่งว่าจะเอาที่ไหนดี มีทั้งบนภูเขาไฟฟูจิ ภูเขาสึคุบะในอิบารากิ และที่อื่นๆ 40 แห่ง แต่สุดท้ายก็มาลงเอยที่โตเกียว

ประเด็นก็คือ เวลาสร้างศาลเจ้านั้น คนญี่ปุ่นไม่สร้างศาลเอาไว้เดี่ยวๆ โดดๆ แต่จะต้องมี ‘ป่า’ มาล้อมด้วยเสมอ

อย่างแรกก็เพราะเป็นความเชื่อว่า ต้นไม้ที่สูงๆ นั้น จะเป็นช่องทางติดต่อระหว่างเทพเจ้ากับมนุษย์ได้ และป่าก็จะเป็นที่อยู่ของเทพเจ้าด้วย ดังนั้น ศาลเจ้าจึงต้องมีป่า เรียกว่า 鎮守の森 (ちんじゅ の もり (chinju no mori) ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ทำกันมาแต่โบราณ

แล้วพืชและสัตว์ในป่านี้ ก็ถือว่ามีวิญญาณศักดิ์สิทธิ์อยู่ด้วย คนก็จะรักษาป่าเอาไว้ ในอีกนัยหนึ่ง ป่าจึงเป็นศาลเจ้าในตัวของมันเองไปด้วย และมีคนบอกด้วยว่า ป่ายังทำหน้าที่กันลมให้ศาลเจ้า

จะอย่างไรก็แล้วแต่ แนวคิดในการสร้าง Meiji Shrine Forest หรือป่าของศาลเจ้าเมจินั้น ก็ได้เกิดขึ้น โดยจะสร้างเป็น ‘ป่านิรันดร’ หรือ Eternal Forest คือเป็นป่าที่ ‘อยู่ได้ด้วยตัวเอง’ ไปตลอดกาล ไม่ต้องให้มีใครมาดูแลรักษา

แต่การสร้าง ‘ป่า’ แบบที่ว่าขึ้นมาตรงใจกลางเมือง ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะป่าไม่ใช่สวนสาธารณะ แต่มันมีระบบนิเวศที่ซับซ้อน และ ‘เกิดขึ้นเอง’ กินเวลายาวนานเป็นร้อยๆ ปี

การสักแต่เอาต้นไม้ไปปักๆ แล้วก็ต้องดูแลเสียเงินไปเรื่อยๆ ตลอดปีตลอดชาติตามคอนเซ็ปต์การสร้างสวนสาธารณะแบบที่เราคุ้นนั้น เป็นเรื่องที่ฉาบฉวยเกินไป ไม่เหมาะสมกับความรักที่ประชาชนมีให้กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่

ดังนั้น การ ‘คิด’ เรื่อง Eternal Forest จึงเป็นเรื่องที่ซับซ้อนอย่างยิ่ง

ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ออกแบบป่าแห่งนี้มีสามคน คือ Seiroku Honda ผู้เคยออกแบบสวน Hibiya มาก่อน, Takanori Hongo แล้วก็ Keiji Uehara ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นนักออกแบบผู้บุกเบิกการจัดสวนยุคใหม่ของญี่ปุ่น

อุเอะฮาระนั้นออกเดินทางตระเวนไปดูศาลเจ้าเก่าแก่ของญี่ปุ่น 88 แห่ง ทั่วประเทศ เพื่อดูว่าจะต้องปลูกต้นไม้ชนิดไหนอย่างไร แล้วก็ได้ข้อสรุปว่า ต้นไม้ที่จะปลูก ควรเป็นต้นไม้ใบใหญ่ ได้แก่พวกโอ๊คญี่ปุ่น, ต้นบีช และต้นการบูรญี่ปุ่น

ต้นไม้เหล่านี้เป็นไม้พื้นถิ่นดั้งเดิมของแถบโยโยหงิ ซึ่งศาลเจ้าตั้งอยู่ แต่ปรากฏว่า นายกรัฐมนตรียุคนั้น คือ Shigenobu Ohkuma ไม่ชอบ เขาบอกว่า ศาลเจ้าที่สวยๆ เช่นที่นิกโก้ ล้วนแต่ปลูกสนซีดาร์ทั้งนั้น ดังนั้น ถ้าจะให้ที่นี่สวย ก็ควรจะปลูกซีดาร์

แต่อุเอะฮาระไม่เห็นด้วยกับนายกฯ ซึ่งก็โชคดีที่นายกฯ เป็นคนที่รู้จักรับฟังเหตุผล อุเอะฮาระบอกว่า ซีดาร์เป็นไม้ที่ต้องใช้น้ำมาก แต่บริเวณโยโยหงินั้น มีน้ำไม่มากพอสำหรับซีดาร์ แถมบริเวณนั้นยังมีการสร้างทางรถไฟสายยามาโนะเตะ ซึ่งเป็นสายวงกลมรอบเมืองอีก สนซีดาร์ทนพวกของเสียจากการก่อสร้างไม่ค่อยได้ ยิ่งถ้าสร้างเสร็จแล้วจะยิ่งมีควันและเขม่าจากการเดินรถ

ซีดาร์เหมาะกับนิกโก้นั้นใช่ แต่ไม่เหมาะกับโตเกียว ซึ่งถ้าจะดึงดันทำจริงๆ ก็ได้นั่นแหละ แต่ต้องดูแลกันมหาศาล แล้วมันก็จะไม่มีวันเป็น Eternal Forest ไปได้

อุเอะฮาระต้องไปวิเคราะห์ต้นซีดาร์ที่นิกโก้กับโตเกียวมาเปรียบเทียบให้เห็น นายกฯ จึงเข้าใจ และยอมให้เขาทำงาน

แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะถ้าจะทำให้เป็น ‘ป่า’ ที่อยู่ได้เอง ก็ต้องวางแผนล่วงหน้า และไม่ใช่ล่วงหน้าแค่ห้าปีสิบปี ทว่ามีการวางแผนสร้างป่าแห่งนี้นานถึง 150 ปี

ใช่แล้ว 150 ปี หรือหนึ่งศตวรรษครึ่ง!

อุเอะฮาระและทีมงานวางแผนแบ่งออกเป็นสี่ขั้นตอน ด้วยการเลือกต้นไม้มาปลูกคนละแบบ ช่วงแรกปลูกต้นสนดำและสนแดงที่เป็นต้นไม้สูงเสียก่อน แล้วระหว่างต้นสนแดงและสนดำ ก็ปลูกต้นไม้ใบเรียวที่เตี้ยกว่าอย่างสนซีดาร์ ไซเปรส และเฟอร์ จากนั้นก็ปลูกต้นไม้ใบกว้างที่ต้องการตามลงไป

มีการคำนวณอย่างละเอียด ว่าเมื่อต้นไม้ค่อยๆ โตขึ้นแล้ว ในอีก 50 ปีให้หลัง จะมีต้นไม้อะไร ‘หาย’ ไปบ้าง โดยต้นไม้ที่สูงที่สุด คือสนดำกับสนแดง จะค่อยๆ หายไปเมื่อถึงเวลา 50 ปี แล้วพวกซีดาร์ก็จะขึ้นมางอกงามเป็น canopy ของป่าแทน กินเวลาอีก 50 ปี จากนั้นก็จะถึงช่วงที่สาม (ซึ่งก็คือปัจจุบัน คือราวๆ ปี 2020) ที่พวกสนเหล่านี้จะตายจากไป แล้วต้นไม้ใบกว้างที่ไม่ผลัดใบ อย่างโอ๊ค การบูร บีช ก็จะก้าวเข้ามาเป็นต้นไม้หลักของป่า

แต่แค่นั้นยังไม่จบ เพราะขั้นตอนสุดท้ายคือขั้นตอนที่ 4 มีการวางแผนเอาไว้ว่าจะเกิดขึ้นในราวปี 2070 เมื่อโอ๊ค บีช และการบูร มีลูกมีหลาน และยังเติบโตต่อไป จนในที่สุด ก็จะกลายเป็นป่าที่ ‘Self-Renewable’ หรือเติบโตขึ้นมาใหม่ได้เอง โดยจะอยู่อย่างนั้นไปอย่างยั่งยืนตลอดกาล มีต้นไม้อื่นขึ้นมาแทรกปนน้อยมาก

ว่ากันว่า จากต้นไม้ที่ปลูกราว 365 ชนิด ตอนนี้เหลืออยู่ราว 270 ชนิด ซึ่งเป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้ตั้งแต่ปี 1920

นี่คือแผนการ ‘สร้างป่า’ ที่เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าป่าไม่ได้เกิดขึ้นได้ในข้ามคืน ไม่ใช่สักแต่เอาต้นไม้ไปจิ้มแล้วมันจะขึ้นมาเองเป็นป่า แต่ค่อยๆ สร้าง ค่อยๆ ทะนุถนอม และปล่อยให้ป่าเป็นป่าแบบที่ป่าเป็นจริงๆ แม้ต้องใช้เวลาหลายชั่วอายุคน และเป็นการวางแผนที่อาจสูญเปล่าสำหรับผู้วางแผน (เพราะยังไงก็ต้องตายก่อนได้เห็นแน่ๆ) แต่ก็เป็นแผนที่คุ้มค่าเอามากๆ

ทั้งยังพูดได้ว่า นี่คือการ ‘สร้างป่าถวายกษัตริย์’ ที่สมกับความรักที่ผู้คนมีให้กษัตริย์อย่างแท้จริง ยิ่งใหญ่ งดงาม ละเอียดประณีต สุขุม แช่มช้า แต่หนักแน่น และจะยืนนานไปชั่วนิรันดร์

คราวหน้าที่ไปโตเกียว ต้องแวะไปศาลเจ้าเมจิอีกครั้งให้ได้