การอยู่รอดของสื่อ : โมเดลสมัครสมาชิกกับสังคมเหลื่อมล้ำ

วันก่อนมีคนถามว่า คิดว่า Subsription Model ในสื่อไทย (หมายถึงคนอ่านต้องสมัครสมาชิก + จ่ายเงินให้ผู้ผลิต) จะเกิดขึ้นได้ไหม

คิดว่าการตอบคำถามนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เลย ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะถ้าจะตอบคำถามนี้ได้ เราต้องมาพิจารณาดู ‘โครงสร้าง’ ของระบบสมัครสมาชิก และวิธีหารายได้แบบอื่นๆ ก่อน

วิธีมีรายได้ของสื่อนั้น มีอยู่ด้วยกันสามวิธีใหญ่ ได้แก่

  1. ขายโดยตรง เช่น ขายหนังสือพิมพ์​เป็นเล่มๆ ซึ่งถ้าหากว่าเป็นสื่อออนไลน์ไม่มีกายภาพให้ขาย ก็ต้องเปลี่ยนไปเป็นระบบรับสมาชิก
  2. หาโฆษณา คือมีลูกค้าโฆษณามาลง
  3. หาทุน เช่น หาผู้บริจาค ถ้าได้รายใหญ่ๆ หน่อยก็จะดี เช่น มูลนิธิต่างๆ ที่สนับสนุนสื่อ ภาครัฐ ภาคเอกชน ฯลฯ

ถ้าเราพิจารณาดูดีๆ จะเห็นว่าวิธีที่ 1 คือขายโดยตรงนั้น คือการ ‘ดีลกับคนจำนวนมาก – เพื่อให้ได้เงินจำนวนน้อย’ เช่น ต้องขายหนังสือพิมพ์เล่มละ 10 บาท ให้กับคน 100,000 คน ถึงจะได้เงินหนึ่งล้านบาท

ส่วนวิธีที่ 2 คือการ ‘ดีลกับคนจำนวนน้อย เพื่อให้ได้เงินจำนวนมาก’ เช่น ขายโฆษณาหน้าละ 200,000 บาท (ตัวเลขสมมุติ) ให้กับลูกค้าเพียง 5 คน ก็จะได้หนึ่งล้านบาทแล้ว (และมีโอกาสได้มากกว่านี้อีกมาก)

คำถามก็คือ การเอาอกเอาใจคน 5 คน กับคน 100,000 คน แบบไหนยากง่ายกว่ากัน

ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง การดีลกับคน 5 คน ที่มี ‘อำนาจ’ (โดยเฉพาะอำนาจในการตัดสินใจลงโฆษณา) ย่อม ‘มีประโยชน์’ กว่าการไปดีลกับความต้องการของคน 100,000 คน เพราะยิ่งคนเยอะเท่าไหร่ โอกาสที่คนเหล่านั้นจะ ‘จน’ ก็ยิ่งมีมาก และอาจจะ ‘จน’ ถึงระดับที่ไม่สามารถ (หรือไม่อยาก) จ่ายเงินแม้แค่ 10 บาทด้วยซ้ำไป หรือถ้าซื้อ ก็จะซื้อเฉพาะเล่มที่สนใจ ไม่อยากจ่ายเงินเป็นก้อนเพื่อสมัครสมาชิก

ดังนั้น การดีลกับคนแค่ 5 คน โดยทำสื่อของตัวเองให้มีเนื้อหาและรสนิยมสอดคล้องกับคน 5 คนนั้น จึง ‘ง่ายในเชิงโครงสร้าง’ และ ‘ทำเงิน’ ให้คนทำสื่อมากกว่า

ปัญหาก็คือ คน 5 คนนั้น อาจไม่ได้กำหนดสื่อแค่เจ้าเดียว แต่อาจเป็นผู้กำหนดสื่อทั้งตลาดก็ได้ เพราะเป็น ‘คนจำนวนน้อย’ ที่ ‘กำเม็ดเงิน’ ส่วนใหญ่เอาไว้ และเป็นคน ‘วางแผน’ ในการลงโฆษณา

เรื่องนี้จะเห็นได้ชัดในยุคแมกกาซีนบูม เพราะแมกกาซีนทั้งหลายมีเป้าหมายอยู่ที่ลูกค้าโฆษณา ดังนั้น เราจะเห็นได้ชัดเลยว่า แมกกาซีนทุกเล่มมีเนื้อหาแทบจะ ‘เหมือนๆ กันไปหมด’ ทั้งนี้ก็เพราะมันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองคนแค่บางกลุ่มเท่านั้น

แต่ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำ ผู้คนมีรายได้ไม่ต่างกันมาก การใช้เงิน 10 บาท แลกกับสื่อคุณภาพถือว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ไม่ยากนัก เพราะเงินไม่ได้ไปกระจุกอยู่ที่คนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มเดียวแล้วมีอำนาจกำหนดมากเกินจริง

ถ้าระบบสมาชิกเป็นไปได้ สื่อก็จะได้ทำสิ่งที่อยากทำ (เพราะคนเสพเป็นผู้กำหนดเอง ไม่ใช่ลูกค้า) จึงมีความเป็นไปได้ที่สังคมนั้นๆ จะมีสื่อที่หลากหลายและเป็นอิสระมากกว่าสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง

บางสื่ออยากเป็นตัวเอง ไม่อยากถูกกำหนดโดยลูกค้า แต่ก็จำเป็นต้องมีรายได้ด้วย จึงไม่เลือกทั้งวิธีที่ 1 และ 2 แต่หันไปหาวิธีที่ 3 ด้วยการพึ่งพาทุนจากองค์กรใหญ่ๆ ทั้งในและต่างประเทศที่มีความคิดความเชื่อตรงกันกับตัวสื่อเอง (จนถูก ‘ด่า’ จากบางฝ่ายว่ารับเงินจากต่างชาติ – ทั้งที่ตัวโครงสร้างของสังคมไม่เอื้อให้เกิดสื่อที่แตกต่าง)

จะเห็นว่า คำตอบต่อคำถามที่ว่า ระบบสมัครสมาชิกของสื่อในสังคมไทยจะเป็นไปได้ไหม จึงไม่ใช่คำตอบที่ตอบได้ง่ายเลย เพราะเป็นคำตอบที่ชึ้นอยู่กับโครงสร้างสังคมสูงมาก