รายงานฉบับหนึ่งของสถาบันพัฒนาเกาหลี (Korea Development Institute) ของสถาบันธนาคารโลก (World Bank Institute) ที่มีชื่อว่า Korea as a Knowledge Economy: Evolutionary Process and Lessons Learned ซึ่งศึกษาวิวัฒนาการของ ‘เศรษฐกิจฐานความรู้’ ของเกาหลี บอกเราชัดเจนว่าเกาหลีไม่ได้เพิ่งมาเริ่มบูมในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งอุตสาหกรรมบันเทิง อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมอื่นๆ เมื่อสิบหรือยี่สิบปีที่ผ่านมาเท่านั้น แต่พัฒนาการทั้งหมดที่เราเห็น มาจากการ ‘เตรียม-พร้อม’ ยาวนานอย่างน้อยก็สี่สิบปี
เศรษฐกิจฐานความรู้หรือ Knowledge Economy คือระบบเศรษฐกิจที่ใช้ความรู้เป็นตัวขับเคลื่อนหลักเพื่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมี ‘เสาหลัก’ ของระบบเศรษฐกิจแบบนี้อยู่ 4 ต้น ได้แก่
- ตัวสถาบันการปกครองเอง (Instutional Regime) จะต้องมีนโยบายทางเศรษฐกิจที่ดี และสร้างระบบที่ ‘จูงใจ’ ให้คนอยากลุกขึ้นมาทำอะไรๆ ด้วยตัวเอง ที่สำคัญก็คือ ‘สถาบันการปกครอง’ ที่ว่านี้ จะต้องจัดสรรทรัพยากรต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เปิดกว้าง รวมไปถึงมีการกระตุ้นให้เกิด ‘ความสร้างสรรค์’ ในรูปแบบต่างๆ โดยเมื่อสร้างสรรค์แล้วก็ต้องได้รับค่าตอบแทนต่างๆ ที่เหมาะสม จึงจะเกิดแรงจูงใจอยากสร้างสรรค์
- มีการ ‘อัพเกรด’ แรงงานเพื่อให้มีความรู้ (educated) และมีทักษะ (skilled) อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งสามารถปรับทักษะเพื่อให้เกิดการสร้างและใช้ความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย ซึ่งตรงนี้ก็ต้องเริ่มที่รัฐหรือสถาบันการปกครองอีกนั่นแหละ
- มีสถาบัน บริษัท องค์กร หรือหน่วยงานต่างๆ ที่ทำหน้าที่เป็นหัวหอกในเรื่องความรู้ใหม่ๆ โดยเฉพาะความรู้ในระดับโลก (Global Knoledge) แล้วนำความรู้เหล่านั้นมาปรับแปลงให้เข้ากับความต้องการของท้องถิ่น โดยที่สถาบันหรือองค์กรเหล่านั้นต้องตามทันความรู้และ ‘การปฏิวัติทางความรู้’ (Knowledge Revolution) ใหม่ๆ ด้วย
- มีสาธารณูปโภคหรือโครงสร้างในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่สมัยใหม่และมากเพียงพอ รวมไปถึงการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ปิดกั้น และสนับสนุนให้เกิดการประมวลข้อมูลข่าวสารและความรู้ต่างๆ อยู่เสมอด้วย
จะเห็นได้ว่า แค่เสาหลักสี่ข้อที่เป็นเรื่องพื้นฐานนี้ ถ้าสังคมไหนไม่มี ก็ยากที่จะพัฒนาตัวเองไปเป็นสังคมที่มีระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ได้ ยิ่งถ้าตัว ‘สถาบันการปกครอง’ ใช้วิธีคิดแบบอำนาจนิยมที่เยิ่นเย้อยาวนาน สั่งอะไรก็ต้องทำ และเห็นความสร้างสรรค์เป็นศัตรู – เศรษฐกิจฐานความรู้ยิ่งยากจะเกิด หรือหากผู้นำไม่มีความรู้หรือไม่สนใจความรู้ ก็แล้วจะส่งเสริมสังคมให้มีความรู้ได้อย่างไร ในบางกรณีที่สังคมย่ำอยู่กับอดีต การ ‘อัพเกรด’ ในทางความคิดและความรู้ใหม่ๆ ก็จะเกิดขึ้นได้ยากด้วย
เกาหลีเคยตกอยู่ในสภาพย่ำแย่อย่างที่ว่าในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จนหลายฝ่ายมองไม่เห็นทางได้เลยว่าเกาหลีจะพัฒนาไปเป็นสังคมที่มีระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ได้อย่างไร ช่วงนั้น GDP ต่อหัวของประชากรเกาหลี เทียบได้กับระดับของประเทศยากจนในแอฟริกา ในปี 1960 GDP ต่อหัวของประชากรเกาหลีอยู่ที่ 1,110 เหรียญ ของประเทศในแอฟริกาเฉลี่ยอยู่ที่ 430 เหรียญ ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วอยู่ที่ 9,137 เหรียญ
เกาหลีต้องใช้เวลาปรับเปลี่ยนตัวเองนานถึง 45 ปี เพื่อทำให้ GDP ต่อหัวของประชากรเพิ่มขึ้นมากกว่า 12 เท่า มาอยู่ที่ 13,000 เหรียญ ในปี 2005 (เทียบกับประเทศในแอฟริกาที่ 560 เหรียญ และประเทศพัฒนาแล้วที่พุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 29,376 เหรียญ)
รายงานของธนาคารโลกฉบับนี้บอกว่า ช่วงปี 1950 – 1997 นั้น เป็นช่วง ‘ตามให้ทัน’ (Catch-Up Period) ของเกาหลี เพราะเกาหลียังตามหลังในทางเศรษฐกิจอยู่มาก แต่ด้วยการยึดเสาหลักสี่ข้อข้างต้น และพยายามพัฒนาไปในแต่ละเรื่องจนกระทั่งทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทาง เกาหลีจึงเริ่มมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้มีเป้าหมายจะเป็นสังคมที่มีระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ จนเมื่อเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 1997 เกาหลีจึงตระหนักว่าจะต้องเปลี่ยนตัวเองเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ที่มี ‘ความรู้’ เป็นเครื่องนำทางอย่างจริงจัง
เกาหลียึดเครื่องมือที่เรียกว่า Knowledge Assessment Methodology หรือ KAM อันเป็นเครื่องมือที่พัฒนาขึ้นโดยธนาคารโลกเพื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ในมิติความก้าวหน้า เครื่องมือที่เรียกว่า KAM นี้ ช่วยวิเคราะห์ตัวแปรต่างๆ ในสังคมหลากหลายด้าน ตั้งแต่เรื่องเงินเดือนของผู้คน จำนวนงานวิจัย คุณภาพการทำงานของภาครัฐ กำแพงภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆ ไล่ไปจนถึงเรื่องของ Rule of Law หรือความเป็นนิติรัฐที่ ‘ยุติธรรม’ จริงๆ ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่า ความเป็นนิติรัฐเกี่ยวอะไรกับเศรษฐกิจฐานความรู้ด้วยหรือ
คำอธิบายในเรื่องนี้ก็คือ ถ้าประเทศไหนปราศจากความยุติธรรม ประเทศนั้นย่อมไม่อาจเป็นประเทศที่มี ‘ความรู้’ เป็นฐานได้
เนื่องจากจะยุติธรรมเป็น ก็ต้องมีความรู้เสียก่อน และต้องเป็นความรู้ที่หลากหลายรอบด้านด้วย
ความยุติธรรมคือ ‘ธรรม’ ที่ต้องเกิดขึ้นทุกหนแห่งกับทุกผู้คนอย่างเสมอหน้ากัน พูดได้ว่า สังคมที่ปราศจากความยุติธรรมเป็นสังคมที่ ‘โง่เขลา’ (ในความหมายของ Ignorant) และจะนำไปสู่วงจรความโง่เขลาที่พอกพูนไปเรื่อยๆ
ดังนั้น การวัดค่าความเป็นนิติรัฐหรือมีการปกครองที่ยุติธรรมจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก และเกี่ยวพันไปถึงระบบเศรษฐกิจอย่างแนบชิด