เกิดอะไรขึ้น เมื่อเราอยู่ในสภาวะใกล้ตาย

ในปี 1991 แพม เรย์โนลด์ส (Pam Reynolds) พบว่าตัวเองมีอาการแปลกๆ เช่น วิงเวียน คลื่นไส้ พูดไม่ได้ เคลื่อนไหวร่างกายบางส่วนไม่ได้

เธอจึงไปพบแพทย์

แพทย์จับเธอเข้าทำสแกนร่างกาย และวินิจฉัยว่าเธอมีภาวะหลอดเลือดในสมองโป่งพอง แต่มันเป็นหลอดเลือดที่อยู่ใกล้ก้านสมอง ทำให้ผ่าตัดยากมาๆ ถ้าผ่าตัดด้วยวิธีปกติธรรมดาทั่วไป เธอน่าจะไม่รอด

แพทย์อย่างโรเบิร์ต สเปตซเลอร์ (Robert Spetzler) จากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในฟีนิกซ์ แอริโซนา จึงต้องเลือกวิธีผ่าตัดที่เสี่ยงอันตราย ด้วยการ ‘ลดอุณหภูมิ’ ของร่างกายลงต่ำกว่าปกติ เรียกว่า Depp Hypothermic Cardiac Arrest หรือ DHCA

ปกติร่างกายเราจะมีอุณหภูมิอยู่ที่ราวๆ 36-37 องศาเซลเซียส แต่การลดอุณหภูมินี้จะทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิต่ำลงไปถึงราว 16 องศาเซลเซียส การหายใจและหัวใจจะหยุดทำงาน สมองไม่ได้รับออกซิเจนจากเลือด แล้วจะได้ ‘เดรน’ เลือดออกจากศีรษะของเธอได้ การผ่าตัดนี้ใช้เวลานานถึงเจ็ดชั่วโมง แต่ก็ประสบความสำเร็จ

แต่เมื่อแพม เรย์โนลด์ส ฟื้นขึ้นมา ศัลยแพทย์ก็ต้องตกใจ!

นั่นเพราะแพมบอกว่าเธอ ‘รู้เรื่อง’ ระหว่างการผ่าตัดทั้งหมด เธอเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทุกอย่าง ตั้งแต่เสียงเลื่อยตัดผ่ากะโหลกศีรษะ เล่าให้ฟังว่าเธอล่องลอยออกจากร่างทางศีรษะขึ้นไปลอยอยู่บนเพดาน แล้วเห็นการผ่าตัดตัวเอง เธอได้ยิน แพทย์อุทานเรื่องที่ว่าเส้นเลือดของเธอเล็กผิดปกติ เธอบรรยายรายละเอียดอุปกรณ์ที่ใช้ผ่าตัดนานได้หมดอย่างชัดเจน

Pam Reynolds Case คือกรณี ‘ใกล้ตาย’ หรือมีประสบการณ์ออกนอกร่างที่ได้รับการบันทึกเอาไว้ดีที่สุดกรณีหนึ่ง

นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ค่อยเชื่อเรื่องนี้เท่าไหร่ หลายคนคิดว่าเป็นแค่จินตนาการล้วนๆ หรือเปล่า แต่การศึกษาในระยะหลังชี้ว่า ประสบการณ์เหล่านี้อาจเกิดจากสมองปล่อยสารสื่อประสาทจำนวนมหาศาลออกมาในช่วงวินาทีสุดท้ายของชีวิตก็เป็นได้ ทำให้เราได้เห็นอะไรหลายอย่าง เช่น อุโมงค์ที่มีแสงจ้า ดินแดนหลากสี และประสบการณ์ออกนอกร่าง

ในปี 2015 นักประสาทวิทยา ฮิโม บอร์ฮิจิน (Jimo Borjigin) จากมิชิแกน ค้นพบว่าทำไมประสบการณ์เฉียดตายถึงทำให้ผัสสะทั้งหลายแหลมคมขึ้น เขากระตุ้นหนูให้เกิดสภาวะแบบเดียวกันโดยการใช้คาร์บอนไดออกไซด์ฆ่ามัน แล้วใช้ท่อบางๆ สอดเข้าไปในสมองของสัตว์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทในสมอง

เขาพบว่า เมื่ออยู่ระหว่างชีวิตกับความตาย สมองจะปล่อยสารนอร์อะดรีนาลีน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทชนิดหนึ่งออกมาในสมองกลีบหน้า โดยมีปริมาณมากกว่าปกติ 30 เท่า ซึ่งสมองบริเวณนี้จะควบคุมสำนึก ความสนใจ และความตื่นตัวของเรา ดังนั้น เมื่อสารนี้มีปริมาณมาก ก็อาจอธิบายได้ว่า ทำไมผู้ป่วยที่ใกล้ตายถึงมักมีประสบการณ์ที่ ‘แจ่มชัด’ มากๆ

นักวิทยาศาสตร์ยังพบด้วยว่า สารสื่อประสาทอย่างโดปามีนเพิ่มปริมาณขึ้นฉับพลันในบริเวณสมองกลีบหน้า โดยสูงกว่าปกติเจ็ดเท่า โดปามีนเกี่ยวข้องกับระบบให้รางวัลของสมอง ทำให้เรามีความสุข ปกติจะหลั่งออกมาเมื่อเรากิน มีเพศสัมพันธ์ หรือทำสิ่งที่ทำให้เรารอดชีวิต จึงอธิบายได้ว่าทำไมประสบการณ์หลังตายกว่าครึ่งจึงเป็นอารมณ์ในแง่บวก เช่น ความรู้สึกกลมกลืนกับโลก เป็นหนึ่งเดียว และเป็นสุข เหมือนบรรลุธรรม

ย้อนกลับไปในปี 2002 โอลาฟ แบลงค์ (Olaf Blanke) แพทย์จากมหาวิทยาลัยแพทย์เจนีวา ก็เคยทำการทดลองเพื่ออธิบายประสบการณ์ออกนอกร่าง แล้วได้ข้อสรุปว่า ประสบการณ์ออกนอกร่างของผู้ป่วยเกิดขึ้นเพราะสมองลัดวงจร

โอลาฟรักษาผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคลมชักด้วยการใช้อิเล็กโทรดเพื่อสร้างกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ ไปรบกวนการส่งสัญญาณประสาทในสมอง เมื่อเขาวางอิเล็กโทรดลงบนพื้นที่บางพื้นที่ทางด้านหลังของสมอง ผู้ป่วยจะรู้สึกตัวเบาและพบว่าตัวเองลอยขึ้นไปหาเพดานพร้อมกับมองลงมายังร่างของตัวเอง พื้นที่สมองส่วนนี้เรียกว่า anular gyrus ซึ่งเป็นสมองที่คอยดูแลให้เรา ‘รับรู้’ ว่าตำแหน่งในทางกายภาพของเราอยู่ตรงไหน

แต่ถ้าสมดุลนี้เสียไป ก็อาจกระตุ้นให้เกิดประสบการณ์ออกนอกร่างได้ คือสมองทำให้เราไปคิดว่าตัวเองอยู่ที่อื่น

แต่ในกรณีของแพม เรย์โนลด์ส นั้น เธอไม่ได้แค่ออกนอกร่างเท่านั้น เธอยังพบกับสมาชิกในครอบครัวที่เสียชีวิตไปแล้วหลายคนด้วย ซึ่งเรื่องนี้ เควิน เนลสัน นักประสาทศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเคนตั๊กกี้อธิบายว่า ประสบการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้เมื่อสมองผสมผสาน ‘จิตสำนึก’ สองแบบเข้าด้วยกัน อย่างหนึ่งคือสำนึกธรรมดาๆ กับอีกอย่างหนึ่งมักจะเกิดขึ้นในช่วงหลับแบบ REM คือเมื่อเราฝัน

ขณะหลับแบบ REM เรามีสำนึกรู้ เราจึงจำรายละเอียดในฝันได้เมื่อตื่นขึ้น แต่ฝันเป็นสภาวะสำนึกรู้ที่แปลก สมองจะผสมความทรงจำเก่าๆ ความคิด และจินตนาการเข้าด้วยกัน เควินบอกว่าในเวลาที่เหมือนจะตายนั้น สมดุลของสมองอาจเสียไป ผู้ป่วยจึงอาจรู้สึกเหมือนอยู่ในฝันได้

ซึ่งประสบการณ์ของแพม เรย์โนลด์ส ก็เป็นคล้ายๆ แบบนั้น คือตอนใกล้จะผ่าตัดเสร็จแล้ว ครอบครัวที่เสียชีวิตไปแล้วของเธอก็มากล่าวลา และช่วยให้เธอกลับสู่ร่างก่อนที่แพทย์จะผ่าตัดเสร็จ

ประสบการณ์เฉียดตายนั้นมักจะ ‘เข้มข้น’ กว่าประสบการณ์ที่เราพบในชีวิตทั่วไป นักวิทยาศาสตร์บอกว่าผู้ป่วยพบภาวะเหล่านั้นจริง แต่ไม่ได้แปลว่ามันจะต้อง ‘เป็นจริง’ ไปด้วย

นั่นแปลว่า เราพออธิบายได้ว่า ตอนใกล้ความตาย เกิดอะไรขึ้นกับร่างกายของเราบ้าง

แต่กระนั้น เราก็ยังอธิบายไม่ได้จริงๆ หรอกว่า – ความตายคืออะไร