Stockholm Syndrome เมื่อเราตกหลุมรักผู้ร้าย

คุณรู้จัก ‘โรคสต๊อกโฮล์ม’ หรือ Stockholm Syndrome ไหมครับ

แล้วรู้ไหม – ว่า ‘สต๊อกโฮล์มซินโดรม’ เกี่ยวพันกับประเทศไทยอย่างใกล้ชิดมาก!

ในปี 1973 หรือสี่สิบกว่าปีที่แล้ว เกิดการปล้นธนาคารครั้งสำคัญขึ้นในใจกลางกรุงสต๊อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน เมื่อนักโทษที่ได้รับทัณฑ์บน ชื่อ ยาน-เอริก โอลสัน (Jan-Erik Olsson) ได้จับพนักงานของธนาคารสี่คนเอาไว้เป็นตัวประกัน สามในสี่คนเป็นผู้หญิง

โอลสันทำทีเข้าไปในธนาคร แล้วก็จัดการปล้นแบงค์ ทำให้เกิดการเรียกตำรวจทันที มีการยิงต่อสู้เล็กน้อย ทำให้ตำรวจได้รับบาดเจ็บ โอลสันจึงจับพนักงานของธนาคารที่ว่าไว้เป็นตัวประกัน

เขาเรียกร้องจากทางการว่า ให้พาตัวเพื่อนของเขา คือ คลาร์ก โอลอฟสัน (Clark Olofsson) ที่ติดคุกอยู่มาที่ธนาคารด้วย แล้วก็เตรียมเงินมาให้เขาสามล้านโครเนอร์ ปืนสองกระบอก เสื้อกันกระสุน หมวกกันน็อค แล้วก็รถยนต์

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นนานถึง 6 วัน แต่คุณเชื่อไหม ว่าหลังเหตุการณ์ยุติลงแล้ว ตัวประกันทั้งสี่คนนั่นไม่มีใครเลยที่ขึ้นศาลมาเป็นพยานให้การกล่าวโทษโอลสัน ทุกคนเห็นอกเห็นใจเขา และถึงขั้นรวมตัวกันเรี่ยไรเงินเพื่อนำมาเป็นค่าทนายต่อสู้คดีให้เขาด้วยซ้ำ

จะว่าไป เรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วง 6 วัน ก็มีอะไรที่ ‘โรแมนติก’ พอสมควร (ไม่ใช่โรแมนติกแบบชู้สาวนะครับ แต่เป็นความรู้สึกอ่อนไหวบางอย่าง) เช่นโอลอฟสันจะเดินไปมาในธนาคารที่ขังตัวประกันเอาไว้ แล้วก็ร้องเพลง Killing Me Solftly ของโรเบิร์ต้า แฟล็ก หรือตัวโอลสันนั้นเป็นเด็กหนุ่มหน้าตาดี ดูน่ารัก ไร้พิษภัย ทำให้เหยื่อไม่รู้สึกว่าเขาคุกคาม

ตัวประกันหลายคนรู้สึกด้วยซ้ำ ว่าคนที่เป็นอันตรายกับพวกเขาไม่ใช่โอลสันกับโอลอฟสัน แต่เป็นพวกตำรวจที่เร่งร้อนอยากคลี่คลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี่แหละ 

เรื่องราวที่เกิดขึ้นทำให้นักวิชาการด้านอาชญวิทยาและนักจิตวิทยาสนใจมาก Nils Bejerot ซึ่งเป็นนักวิชาการด้านนี้ตั้งชื่ออาการนี้เป็นภาษาสวีดิชว่า Norrmalmstorgssyndromet แต่ต่อมาก็รู้กันในชื่อ ‘สต๊อกโฮล์มซินโดรม’ นี่แหละครับ โดย ‘อาการ’ ของโรคนี้จะมีอยู่สี่อย่างด้วยกัน คือ

  • ตัวประกันจะเร่ิมเกิดความรู้สึกในแง่ดีกับคนร้ายหรือผู้จับตัวขังเอาไว้
  • ตัวประกันกับคนร้ายไม่เคยรู้จักกันมาก่อน
  • ตัวประกันไม่ยอมให้ความช่วยเหลือตำรวจหรือทางการ
  • ตัวประกันเชื่อมั่นใน ‘ความเป็นมนุษย์’ ของคนร้าย ซึ่งเมื่อตัวประกันเห็นอกเห็นใจหรือ ‘เข้าใจ’ คนร้ายว่าเขาทำอะไรไปเพื่ออะไรแล้ว ในที่สุดก็จะหยุดมองว่าการถูกจับเป็นตัวประกันนั้นเป็นการคุกคามตัวเอง และอาจถึงขั้น ‘หลงรัก’ คนร้ายได้ด้วยซ้ำ

สต๊อกโฮล์มซินโดรมไม่ได้เกิดแค่ครั้งเดียวเท่านั้นนะครับ แต่หลังจากนั้นยังมีอีกหลายกรณี เช่น การจับตัวหลานสาวของมหาเศรษฐีตระกูลเฮิร์สต์ โดยกองกำลังฝ่ายซ้ายในอเมริกาในช่วงเจ็ดศูนย์ ปรากฏว่าตัวประกัน (คือแพตตี้ เฮิร์สต์) ออกมาประณามครอบครัวตัวเองและตำรวจด้วยซ้ำ หลังจากได้อยู่กับคนร้ายและเรียนรู้ถึงอุดมการณ์ต่างๆ ของพวกเขาแล้ว เธอแสดงออกอย่างเปิดเผยว่าเห็นอกเห็นใจผู้จับเธอเป็นตัวประกัน

มีผู้วิเคราะห์ว่า สต๊อกโฮล์มซินโดรมนี่เกี่ยวพันกับวิวัฒนาการด้วยนะครับ เพราะสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ผู้หญิงในเผ่าหนึ่งจะถูกคนอีกเผ่าลักพาตัวไปข่มขืน แต่แล้วในที่สุดก็อยู่ร่วมกับคนที่ข่มขืนตัวเองได้โดยไม่เดือดเนื้อร้อนใจ ซึ่งก็คล้ายๆ กรณี ‘ปล้ำ’ หรือ ‘ตบ-จูบ’ ในละครหลังข่าวไทยนี่แหละครับ 

เอ…แค่นี้น่ะหรือ – ที่เกี่ยวข้องอะไรกับประเทศไทย?

คุณอาจไม่รู้ แต่หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เคยไปสัมภาษณ์ ยาน-เอริก โอลสัน ด้วยนะครับ ไม่ได้บินไปสัมภาษณ์ถึงสวีเดนหรอก แต่ว่ามาสัมภาษณ์ที่ประเทศไทยนี่แหละครับ ทั้งนี้ก็เพราะหลังเกิดเหตุการณ์แล้วยี่สิบกว่าปี โอลสันก็แต่งงานกับผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้หญิงไทย เขาจึงมาอยู่ในเมืองไทยนานถึง 15 ปี โดยเปิดซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งในภาคอีสาน

เพราะฉะนั้น สต๊อกโฮล์มซินโดรมจึงเกี่ยวพันกับประเทศไทยอย่างใกล้ชิดกว่าที่ใครๆ คิดนะครับ อย่างน้อยที่สุด ก็เพราะตัวทำให้เกิดคำนี้มาอยู่ในเมืองไทยเป็นเวลานาน

แต่นอกจากนี้แล้ว – คุณว่า ‘สต๊อกโฮล์มซินโดรม’ ยังเกี่ยวข้องกับสังคมไทยอันเป็นที่รักยิ่งของเราในแง่ไหนอีกบ้างไหม

เรื่องนี้คงต้องพิจารณากันเอาเองนะครับ – ว่าเรากำลังหลงรักคนร้ายที่จับเราเป็นตัวประกันอยู่หรือเปล่า!