4 วิถีแบบคนขี้เกียจ ที่จะทำให้คุณทำงานมีประสิทธิภาพขึ้นมาก

เรามักจะบอกกันว่า ให้ Work Smart อย่า Work Hard 

Work Smart ก็คือ ไม่เห็นทำงานอะไรหนักหนาสาหัสเลย แต่ได้งานออกมาเพียบ งานดีด้วย มีประสิทธิภาพในการทำงานด้วย แถมชีวิตยังดีอีกต่างหาก ไม่เหมือนพวก Work Hard ที่ทำงานงกๆ ก้มหน้างุดๆ กว่าจะกลับบ้านก็ดื่นดึก แต่เสร็จแล้วก็ไม่มีผลงานออกมา วันๆ ได้แต่ทำงานโดยไม่มีผลงาน

แต่คำถามก็คือ แล้วต้องทำยังไงล่ะครับ ถึงจะ Work Smart หรือทำงานแบบ ‘ฉลาดๆ’ ได้

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อนะครับ ว่าวิถี Work Smart นั้น ถ้าจะให้ประสบความสำเร็จ ต้องเอาวิถีของคนขี้เกียจมาใช้ และทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์มารองรับด้วยนะคุณ


1. พักเยอะๆ

หือ – พักเยอะๆ แล้วมันจะได้งานออกมาได้ยังไง งานกำลังเร่ง ถ้ามัวแต่พัก เดี๋ยวหัวหน้ามาเห็นก็โดนเฉ่งหรอก

แต่เรื่องนี้จริงนะครับ ในระยะหลัง มีงานวิจัยทาง Chronobiology ซึ่งเป็นชีววิทยาที่สำรวจเรื่องไซเคิลหรือนาฬิกาชีวภาพของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย 

เราคงเคยได้ยินคำว่า Circadian Rhythm ใช่ไหมครับ มันคือนาฬิกาชีวภาพที่คอยกำหนดตัวเรา เช่นว่าเราจะตื่นกี่โมง กินอาหารกี่โมง ง่วงกี่โมง ปอดทำงานกี่โมง ตับไตไส้พุงทำงานตอนไหน ฮอร์โมนอะไรหลั่งช่วงไหน อะไรทำนองนั้น

แต่ Circadian Rhythm ก็เป็นการประเมินทั้งวัน ซึ่งเรียกได้ว่ายัง ‘หยาบ’ อยู่พอสมควร ปัจจุบันนี้มีการศึกษาถึงนาฬิกาชีวภาพที่ละเอียดขึ้นกว่านั้นอีก เรียกว่า Ultradian Rhythm

เขาบอกว่า Ultradian Rhythm ในร่างกายมนุษย์นั้น ทำให้สมองของเราโฟกัสในแต่ละช่วงได้นานราว 90 นาที เท่านั้น ทีนี้หลัง 90 นาทีแล้ว สิ่งที่สมองต้องการก็คือการ Renew หรือเซ็ตใหม่ นั่นคือการพักราว 15-20 นาที ซึ่งก็มีหนังสือที่เล่าถึงการศึกษาการทำงานของสมองในเรื่องนี้อยู่หลายเล่ม เช่น Focus: the Hidden Power of Excellence (ของ Daniel Goleman) หรือ Thinking, Fast and Slow (ของ Daniel Kahneman) ที่บอกว่า 15 นาทีสั้นๆ นั้น คือการรีเซ็ตช่วงเวลาแห่งความสนใจ (Attention Span) ของเราเสียใหม่ 

การพักเยอะๆ ที่อาจถูกมองว่าขี้เกียจหรือเปล่า แท้จริงจึงเหมือนการลับคมมีดที่ใช้ตัดหั่นมาจนเริ่มทื่อแล้ว ถ้ายังขืนใช้กันต่อไป ยังไงๆ ก็ไม่ได้งานที่ดีๆ คมๆ ออกมาหรอกครับ


2. งีบหลับ

อ๊าก! ยิ่งกว่าพักอีก คราวนี้ให้งีบหลับเลยเหรอ

ใช่แล้วครับ เพราะการงีบหลับนั้นสำคัญต่อการรับรู้ (Cognitive Function) ของมนุษย์เรานะครับ ซึ่งมันจะไปเกี่ยวข้องกับความทรงจำและความคิดสร้างสรรค์ด้วย

มีการศึกษาจากทีมนักวิทยาศาสตร์เยอรมัน เขาให้คนสองกลุ่มมาลองจำภาพสองเซ็ต แล้วให้กลุ่มหนึ่งงีบหลับ อีกกลุ่มไม่งีบหลับ พบว่ากลุ่มที่ได้งีบ กลับจดจำภาพเหล่านั้นได้มากกว่า คือจำได้ถึง 85% ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้หลับ จำได้แค่ 60% เท่านั้น เขาอธิบายว่า ความทรงจำระยะสั้นนั้น มันจะเข้าไปเก็บอยู่แค่ที่สมองส่วนฮิปโปแคมปัสเท่านั้น แต่การหลับจะ ‘ผลัก’ ความทรงจำนั้นเข้าไปถึงนีโอคอร์เท็กซ์ ซึ่งเป็นส่วนเก็บข้อมูลที่ถาวรกว่า ทำให้ความทรงจำนั้นไม่ถูก ‘เขียนทับ’ 

นอกจากนี้ การงีบหลับยังทำให้เราไม่ ‘หมดไฟ’ ในการทำงานด้วยนะครับ มีงานวิจัยของนักประสาทวิทยาจากฮาร์วาร์ด บอกว่าอาการหมดไฟหรือ Burnout เกิดขึ้นเพราะว่าเรารับข้อมูลใหม่ๆ เข้าไปในสมองตลอดเวลา แต่การนอนจะทำให้เราได้ใช้เวลาประมวลผลข้อมูลพวกนั้น จึงไม่เกิดอาการล้าหรือ Burnout ทำให้ทำงานได้ดีขึ้นหลังผ่านการงีบมาแล้ว


3. ไปเดินเล่นในสวน

อะไรเนี่ย – ทำงานเช้าชามเย็นชาม พักบ่อย งีบหลับ แล้วยังไปเดินเล่นในสวนอีก

แต่เขาบอกอย่างนี้ครับ ว่าการใช้เวลากับ ‘ธรรมชาติ’ (ซึ่งถ้าอยู่ในเมืองก็คงต้องเป็นสวนสาธารณะ) จะทำให้เราได้เปลี่ยนความสนใจและผ่อนคลาย จึงกลับมาทำงานได้ดีขึ้นเพราะได้รีเซ็ตตัวเอง 

มีการทดลองพบว่า ระหว่างคนที่ออกไปเดินเล่นตามถนนในเมือง กับคนที่ได้เดินในสวนนั้น คนที่เดินตามถนนจะต้องพยายามดูนั่นนี่หรือระวังตัวจากการจราจรต่างๆ ทำให้สมองไม่ได้ผ่อนคลายมากพอที่จะ ‘รีเซ็ต’ กระบวนการโฟกัส ไม่เหมือนคนที่ไปเดินเล่นในธรรมชาติ สมองจะทำงานแตกต่างกันมาก มีการสำรวจพบด้วยว่า นักศึกษาที่ออกฟิลด์ทริปหรือไปทัศนศึกษานอกห้องเรียน จะมีแรงจูงใจในการเรียนรู้มากกว่าการเรียนในห้อง ซึ่งก็เป็นผลลัพธ์แบบเดียวกันนี่แหละครับ


4. ย้ายที่ทำงานบ่อยๆ

ข้อนี้ไม่ได้หมายถึงพนักงานประจำต้องลาออกเพื่อเปลี่ยนงานบ่อยๆ นะครับ แต่หมายถึงคนที่ทำงานฟรีแลนซ์

เขาแนะนำว่า ให้วางแผนเอาไว้เลยว่า ในหนึ่งวัน คุณจะไปนั่งทำงานที่ไหนบ้าง เช่น ร้านกาแฟกี่แห่ง ที่ทำงานตรงนั้นตรงนี้กี่แห่ง แล้วแต่ละที่จะทำอะไรบ้าง เมื่อสร้างแผนแล้ว ก็ทำตามนั้น งานที่หนึ่งทำที่ร้านกาแฟน้ี งานที่สองทำที่ co-working space ตรงนั้น อะไรทำนองนี้ 

ที่สำคัญก็คือ ที่ทำงานต่างๆ เหล่านี้ไม่ควรจะอยู่ห่างกันมากนัก ถ้าเป็นไปได้ ระหว่างจุดควรเดินทางโดยการปั่นจักรยานหรือเดิน ซึ่งก็จะเป็นการรีเซ็ต Attention Span ไปในตัวด้วย

สรุปก็คือ ถ้าอยาก Work Smart ละก็ ลองใช้ 4 วิถีของคนขี้เกียจดูนะครับ พักบ่อยๆ งีบหลับยามบ่าย ไปเดินเล่น แล้วก็เปลี่ยนที่ทำงานบ่อยๆ ซึ่งถ้ามันจะไม่ได้ผล ก็เพราะ ‘วัฒนธรรมองค์กร’ ของเรายังไม่ค่อยเปิดกว้างให้กับวิธีทำงานแบบนี้นี่แหละ 

เรามักจะคิดว่า ใคร ‘แสดง’ ว่าทำงานหนักเหนื่อยสายตัวแทบขาดให้หัวหน้ารู้ (แม้จะไม่มี ‘ผลงาน’ ออกมาสักเท่าไหร่) ก็มักจะได้เงินเดือนขึ้นมากกว่าพวกมีผลงานแต่ไม่แสดงออกเสียทุกทีไปสิน่า!