ประมาณห้าสิบปีที่แล้ว นักมานุษยวิทยาชาวแคนาดาคนหนึ่งชื่อ แอนโธนี วอลเลซ (Anthony Wallace) เคยทำนายเอาไว้อย่างมั่นอกมั่นใจว่า ในเวลาอีกไม่นาน สิ่งที่เรียกว่า ‘ศาสนา’ จะต้องเสื่อมสลายลงไป เพราะอำนาจของสิ่งใหม่ที่เรียกว่า ‘วิทยาศาสตร์’ จะเข้ามาแทนที่
เขาบอกว่า ‘ความเชื่อ’ ในพลังของสิ่งเหนือธรรมชาติ อันเป็นแกนกลางของศาสนานั้น กำลังจะตายลงทั่วโลก ทั้งนี้ก็เพราะเกิดการกระจายตัวของความรู้แบบวิทยาศาสตร์ที่มากพอ แพร่หลายไปทั่ว
ฟังๆ ดูก็น่าจะเป็นอย่างนั้นนะครับ เพราะมันสอดคล้องกับสิ่งที่นักปรัชญาฝรั่งเศสสมัยศตวรรษที่ 19 เคยคิดเอาไว้เปี๊ยบเลย
นักปรัชญาที่ว่ามีชื่อว่า ออกุสต์ คอมเต (Auguste Comte) เขาเป็นนักปรัชญาสายก้าวหน้าที่สนใจเรื่องประวัติศาสตร์ คอมเตบอกว่า วิวัฒนาการของ ‘ประวัติศาสตร์ความรู้’ ของมนุษย์นั้น แบ่งออกได้เป็นสามขั้นตอน นั่นคือ 1) ศาสนา 2) อภิปรัชญา และ 3) วิทยาศาสตร์
ที่เป็นอย่างนั้นเพราะมนุษย์เริ่มต้นจากความกลัวก่อน จึงสร้างศาสนาและพระเจ้าขึ้นมาเป็นผู้ดูแลคุ้มครอง ทำให้เกิดความรู้สึกมั่นคงทางใจ แต่พอสังคมเร่ิมพัฒนาขึ้น ความเป็นอยู่ไม่อันตรายเหมือนก่อน ผู้คนก็เริ่มครุ่นคิดโน่นนั่นนี่ ตรึกตรองออกมาเป็นปรัชญาต่างๆ ซึ่งแม้จะเป็นการคาดคะเน แต่ก็อยู่บนพื้นฐานของเหตุและผล ครั้นวิทยาการเจริญก้าวหน้ามากขึ้น การคาดคะเนเหล่านี้ก็ได้รับการยืนยันจากการทดลองอีกต่อหนึ่ง จนกลายเป็น ‘วิทยาศาสตร์’ ที่สามารถอธิบายและทำซ้ำการทดลองต่างๆ ได้
ถ้ามองอะไรๆ เป็น ‘เส้นตรง’ อย่างวอลเลซและคอมเต ก็น่าเชื่ออยู่ไม่น้อยนะครับ ว่าศาสนาคงต้องหมดไปในเวลาไม่ช้านี้ โดยมีวิทยาศาสตร์มาทดแทนแน่ๆ
แต่ทอดตาดูทั่วโลกในปัจจุบันนี้ คำถามก็คือจริงหรือเปล่าที่ศาสนากำลังจะหมดไป
คำตอบก็คือ – ไม่จริง!
ก็ใช่ – ตอนนี้มีคนที่ประกาศตัวว่าไม่นับถือพระเจ้าหรือไม่มีศาสนาเพิ่มขึ้นมาก อย่างในออสเตรเลีย เพิ่งมีการทำสำมะโนประชากร พบว่าคนที่บอกว่าตัวเองไม่มีศาสนา (No Religion) มีมากถึงราว 30% หรือในอเมริกา กลุ่มคนที่บอกว่าเป็นอเทวนิยมหรือ Atheis ก็สูงสุดเป็นประวัติการณ์ (คืออยู่ที่ราว 3%)
แต่หันมามองฝั่งคนนับถือศาสนาหรือถึงขั้นเคร่งศาสนาดูบ้าง เราจะพบตัวเลขของ Pew Research Center ว่าคนที่ประกาศตัวว่านับถือศาสนานั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นะครับ อย่างในช่วงปี 2010-2015 มีคนบอกว่าตัวเองเป็นคริสต์ราว 223 ล้านคน เขาคาดการณ์ว่าในอีกราว 50 ปีข้างหน้า ตัวเลขจะเพิ่มเป็น 226 ล้านคน แต่ที่น่าสนใจมากกว่าก็คือตัวเลขของชาวมุสลิม ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันจะเพิ่มจาก 213 ล้านคน ก้าวกระโดดไปเป็น 232 ล้านคนเลยทีเดียว
อิหร่าน ตุรกี อินเดีย อัลจีเรีย อิสราเอล เหล่านี้คือตัวอย่างของประเทศที่เปลี่ยนจากรัฐบาลแบบ ‘รัฐโลกวิสัย’ (Secular State) หรือเป็นรัฐแบบฆราวาส ไปเป็นรัฐบาลที่ผูกพันกับศาสนา (เรียกว่า Religious Governments)
หลักฐานเหล่านี้บอกเราว่า ศาสนาจะไม่ ‘หายไป’ ในเวลาอันใกล้นี้หรอกนะครับ ศาสนายังอยู่ วิทยาศาสตร์ไม่ได้ทำลายศาสนา
คำถามที่ชวนคิดกันต่อก็คือ – แล้วอะไรทำให้ศาสนายังคงอยู่ต่อไปได้
มีคนบอกง่ายๆ ว่า วิทยาศาสตร์อาจค้นพบอะไรๆ ได้ ‘เกือบทุกสิ่ง’ แต่ตราบใดที่มันยังไม่สามารถค้นพบหรือหาคำตอบให้กับ ‘ทุกสิ่ง’ ได้ ตราบนั้นศาสนาก็จะยังคงดำรงอยู่เสมอ
คุณว่าอย่างนั้นไหม?