ในความหมายทั่วไป ความเป็นเมนเทอร์ หรือ Mentorship หมายถึงความสัมพันธ์ซึ่งคนที่มีความรู้หรือประสบการณ์มากกว่า (เรียกว่า Mentor) ช่วยแนะนำหรือ ‘นำทาง’ (guide) คนที่มีความรู้หรือประสบการณ์น้อยกว่า (เรียกว่า Mentee)
แต่นั่นไม่ได้แปลว่า เมนเทอร์จะต้องเป็นคนที่มีอายุมากกว่าเสมอไป คนที่มีอายุน้อยกว่าก็สามารถเป็นเมนเทอร์ให้ผู้สูงวัยกว่าได้ เพราะสิ่งสำคัญกว่าวัย ก็คือความรู้และประสบการณ์ในเรื่องนั้นๆ
ว่าแต่ว่า – คำว่า Mentor มาจากไหน?
ที่จริงคำว่า Mentor นี้เป็น ‘ชื่อคน’ มาก่อน ในปกรณัมกรีก มีคนชื่อเมนเทอร์อยู่หลายคนทีเดียว กษัตริย์องค์หนึ่งชื่อเมนเทอร์ เศรษฐีพ่อค้าม้าคนหนึ่งก็ชื่อนี้ แล้วยังมีทหารกล้าอีกนายหนึ่งชื่อเมนเทอร์ด้วย แต่ผู้ที่ทำให้ชื่อ ‘เมนเทอร์’ กลายเป็นคำว่าเมนเทอร์ที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน คือตัวละครจากมหากาพย์โบราณของโลกเรื่อง ‘โอดิสซีย์’ (Odyssey)
โอดิสซีย์เป็นหนึ่งในสองมหากาพย์ยิ่งใหญ่ที่เชื่อกันว่ารจนาโดยมหากวีโฮเมอร์ เล่าถึงเรื่องราวของ โอดิสซิอุส (Odysseus) ซึ่งถ้าเป็นชื่อโรมันจะเรียกว่า ‘ยูลิสซิส’ (Ulysses) ผู้เป็นกษัตริย์แห่งเมืองอิธากะ (Ithaca) ในช่วงเวลาแห่งการเดินทางกลับบ้านหลังกรุงทรอยล่มสลายแล้ว
การที่โอดิสซิอุสต้องออกเดินทางไปทำสงครามนั้น เขาต้องฝากบ้านฝากเมือง และฝากลูกชายของตัวเอง (ซึ่งมีชื่อว่า เทเลมาคุส – Telemachus) เอาไว้กับเพื่อนรักสองคน
และเพื่อนคนหนึ่งมีชื่อว่า ‘เมนเทอร์’
ความที่โอดิสซิอุสต้องใช้เวลาเดินทางกลับบ้านนานถึง 10 ปี ไม่นับรวมการเดินทางไปและช่วงเวลาทำสงคราม ดังนั้นเขาจึงจากบ้านไปเป็นเวลานานมาก หลายคนคิดว่า โอดิสซิอุสนั้นเสียชีวิตไปแล้ว ทั้งมเหสีของเขา (คือเพเนโลปี) และลูกชาย (คือเทเลมาคุส) จึงต้องดูแลจิตใจ ร่างกาย และคอยป้องกันตัวจากผู้ที่กล่าวหาและพยายามรุกเข้ามาครอบครองสิ่งที่เคยเป็นของโอดิสซิอุส ทั้งทรัพย์สมบัติและตัวเพนเนโลเป และบางคนก็ถึงขั้นวางแผนจะฆ่าเทเลมาคุสด้วยซ้ำ
ด้วยเหตุนี้ เมนเทอร์ – ผู้รับหน้าที่โดยตรงในการดูแลเทเลมาคุส (รวมไปถึงวังและทรัพย์สินของโอดิสซิอุสด้วย) จึงต้องรับบทหนักอยู่เป็นเวลานาน
อย่างไรก็ตาม เมนเทอร์ไม่ได้ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาหรือแนะนำเทเลมาคุสด้วยตัวเอง ที่จริงแล้ว ตำนานเล่าว่า เทพีอะธีนา (Athena) ซึ่งเป็นเทพีแห่งภูมิปัญญา สงคราม และงานฝีมือของกรีกโบราณ ได้มาเยี่ยมและสอนสั่งเทเลมาคุส ด้วยการ ‘แฝงตัว’ เข้ามาในร่างของเมนเทอร์ เพื่อปิดบังตัวเอง
อะธีนามาให้กำลังใจและให้คำแนะนำเทเลมาคุส ในอันที่จะยืนหยัดต่อสู้กับปรปักษ์ รวมทั้งกระตุ้นให้เขาออกเดินทางไปตามหาพ่อ เพื่อไปดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับพ่อของตัวเองบ้าง พ่อเสียชีวิตไปแล้วจริงหรือ แน่นอน ในวันเวลาอันว้าวุ่นนั้น เทเลมาคุสย่อมเกิดความขัดแย้งต่างๆ ในใจ เขาต้องการใครสักคนที่จะมาช่วยให้คำปรึกษา เพื่อจะได้ฝ่าฟันไปได้ และอะธีนา (ในร่างของเมนเทอร์) ก็ทำหน้าที่นี้ได้อย่างดี
ความสัมพันธ์ของเมนเทอร์ (ที่พูดได้ว่ามีอะธีนาสิงอยู่) กับเทเลมาคุส เป็นมากกว่าศิษย์กับครู เพราะทั้งคู่มีความรู้สึกเข้มข้นระหว่างกัน โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ตัวโอดิสซิอุส เป็นความสัมพันธ์แบบนี้นี่เอง ที่ทำให้เกิดการ ‘รับ’ เอาคำว่าเมนเทอร์ เข้ามาเป็นศัพท์ในภาษาอังกฤษ หมายถึงคนที่ปลูกฝังบ่มเพาะปัญญา รวมถึงแบ่งปันความรู้ต่างๆ ให้กับ ‘เพื่อน’ ที่มีประสบการณ์น้อยกว่า
เมนเทอร์จึงไม่ใช่เรื่องของครูกับศิษย์ และไม่ใช่เรื่องของเพื่อนกับเพื่อน แต่เป็นเรื่องที่อยู่กึ่งกลางระหว่างนั้น และต้องมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเป็นองค์ประกอบด้วย
ครั้งแรกสุดที่มีบันทึกการใช้คำว่าเมนเทอร์ในยุคใหม่ คือในหนังสือชื่อ Les Aventures de Télémaque หรือการผจญภัยของเทเลมาคุส เขียนโดยนักเขียนฝรั่งเศส François Fénelon ตั้งแต่ปี 1699 โดยตัวเอกในหนังสือเล่มนี้ก็คือเมนเทอร์นั่นเอง
หนังสือเล่มนี้เป็นที่นิยมมากในศตวรรษที่ 18 นั่นอาจเป็นเหตุผลที่คำคำนี้เป็นที่นิยมใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน