ความสัมพันธ์ในบึงวอลเดน: ใครคือ Mentor ของเฮนรี่ เดวิด ธอโร

หนังสือที่ดังที่สุดเล่มหนึ่งของ เฮนรี่ เดวิด ธอโร (Henry David Thoreau) คือหนังสือชื่อ ‘วอลเดน’ (Walden)

“Live in each season as it passes; breathe the air, drink the drink, taste the fruit, and resign yourself to the influence of the earth.”

“จงมีชีวิตในแต่ละฤดูกาลยามผันผ่าน สูดอากาศ ดื่มด่ำ ลิ้มรสผลไม้ และจำนนตัวตนของเธอให้กับอิทธิพลแห่งโลก”

– Henry David Thoreau, Walden

‘วอลเดน’ คืองานเขียนอันเรียบง่าย ทว่าทรงพลังยิ่งใหญ่ มันคือความเรียงหลายชิ้น ว่าด้วยชีวิตยามอยู่ริมบึงวอลเดน บึงที่อยู่ลึกลงไปในใจของธอโร ที่ที่เขาใช้เพื่อ ‘ดิ่งลึกและดูดซับไขกระดูกแห่งชีวิต’ (Live deep and suck out all the marrow of life)

เฮนรี่ เดวิด ธอโร เป็นนักเขียน กวี นักปรัชญา และนักคิด ในสายที่เรียกกันว่า ‘นักอุตรภาพนิยม’ หรือ Trancendeltalist 

แม้เขาจะชอบอยู่โดดเดี่ยวอย่างยิ่ง กระทั่งเคยกล่าวว่า ไม่มี ‘เพื่อน’ ที่ไหนจะดีงามเท่ากับความโดดเดี่ยวอีกแล้ว ทว่าขบวนการอุตรภาพนิยมที่เขาเติบโตขึ้นมานั้น หาใช่ขบวนการที่โดดเดี่ยวไม่

ท่ีจริงแล้ว ธอโรมีเพื่อน เพื่อนคนนั้นไม่ได้เป็นเพียงเพื่อน ทว่ายังเป็นทั้งครู พี่เลี้ยง ที่ปรึกษา ผู้เอื้อเฟื้อให้ที่พักพิงกับเขา และเป็นอื่นๆ อีกมากในชีวิต อย่างที่บางคนบอกว่า เขาคือ ‘เมนเทอร์’ (Mentor) ของธอโร

คนคนนั้นคือกวีที่มีชื่อว่า ราล์ฟ วอลโด อีเมอร์สัน (Ralph Waldo Emerson)

ในทางปรัชญา อุตรภาพนิยมคือขบวนการทางปรัชญาที่พัฒนาขึ้นในยุคปลายทศวรรษ 1820s ถึง 1830s ในภาคตะวันออกของสหรัฐอเมริกา นี่คือขบวนการที่เกิดขึ้นเพื่อ ‘ต่อต้าน’ หรือแสดงปฏิกิริยาไม่เห็นพ้องกับแนวคิด ‘ปัญญานิยม’ (Intellectualism) และ ‘จิตวิญญาณนิยม’ (Spirituality) ที่เป็นอยู่ในตอนนั้น ทว่าไม่ใช่การปฏิเสธมิติทั้งทางความคิดและจิตวิญญาณ แต่คือการ ‘ผสานรวม’ สองมิตินี้เข้าด้วยกัน และก้าวไกลไปถึงขั้นบอกว่า มนุษย์เราจะค้นพบสภาวะที่ ‘ข้ามพ้น’ หรืออยู่เหนือความเข้าใจของมนุษย์ได้ ก็เมื่อต้องอยู่ลำพัง ทำให้เกิดแนวคิด ‘ปัจเจกนิยม’ หรือ Individualism ขึ้นมา

ราล์ฟ วอลโด อีเมอร์สัน คือคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของขบวนการอุตรภาพนิยมนี้

แล้วเขาก็ส่งผ่านอิทธิพลของแนวคิดนี้ไปสู่นักคิดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของโลกตะวันตก – เฮนรี่ เดวิด ธอโร

ธอโรพบกับอีเมอร์สันครั้งแรกเมื่อเขาเรียนจบจากฮาร์วาร์ดคอลเลจในปี 1837 อีเมอร์สันอายุมากกว่าธอโร 14 ปี ต่อมาอีก 45 ปี เขาจะตายลงหลังธอโรเสียชีวิตไปแล้ว 20 ปี 

อีเมอร์สันสนใจในตัวธอโรมาก เขาให้คำแนะนำต่างๆ กับธอโร และพาเขาไปแนะนำตัวในแวดวงนักคิดนักเขียนต่างๆ เช่นไปพบกับ มาร์กาเร็ต ฟูลเลอร์ (Margaret Fuller) นาธาเนียล ฮอว์ธอร์น (Nathaniel Hawthorne) และคนอื่นๆ ซึ่งเป็นนักคิดในสายอุตรภาพ นั่นแสดงว่า อีเมอร์สันต้องเห็นว่าเด็กหนุ่มคนนี้มีอะไรดี เขาจึงสนับสนุนธอโรเต็มตัว

ธอโรรับความคิดเรื่องการเข้าสู่สภาวะข้ามพ้นด้วยการอยู่ลำพังกับธรรมชาติมาเต็มที่ อีเมอร์สันจึงอนุญาตให้เขาไปปลูกกระท่อมอยู่ริมบึงวอลเดน ซึ่งเป็นที่ดินของอีเมอร์สัน แล้วธอโรก็อยู่ที่นั่นนานกว่าสองปี ดุ่มเดินไปในพื้นที่ต่างๆ ส่วนใหญ่โดยลำพัง ครุ่นคิดเรื่องต่างๆ และที่สุดก็ผลิตงานออกมาเป็นความเรียงชิ้นสำคัญๆ มากมาย จนกลายเป็นงานเขียน ‘วอลเดน’ อันแสนงาม งานเขียนที่ โรเบิร์ต ฟรอสต์ กวีอเมริกันถึงกับบอกว่า – ในหนังสือหนึ่งเล่ม…เขาได้พุ่งแซงทุกสิ่งที่เราเคยสร้างกันมาในอเมริกาไปทั้งหมด

อีเมอร์สันคือเมนเทอร์ของธอโร แน่ละ อีเมอร์สันไม่ใช่ผู้สร้างธอโร เขาเป็นเพียงแต่ผู้ชี้ทางให้ด้วยวิถีและความเชื่อของเขาเอง

นี่คือความสัมพันธ์ที่มากกว่าครูกับศิษย์ และมากกว่าเพื่อนกับเพื่อน เพราะศิษย์ย่อมไม่ถกเถียงครู และเพื่อนมักไม่น้อมรับความคิดเห็นของกันและกันได้โดยง่าย ทว่าธอโรไม่ได้เป็นฝ่ายยอมรับแนวคิดของอีเมอร์สันเพียงอย่างเดียว เขา ‘สอนกลับ’ อีเมอร์สันในหลายเรื่องด้วย

ในอีกมิติ เขาจึงเป็นเสมือน ‘เพื่อน’ ที่ ‘เสมอกัน’ กับอีเมอร์สัน และทำให้ความหมายของคำว่า ‘เมนเทอร์’ นั้นสมบูรณ์แบบในตัวเองยิ่งกว่าที่เคยเป็นมาตลอดประวัติศาสตร์