เริ่มต้นทำสิ่งใหม่ด้วยการ ‘ออกแบบ’

เมื่อเราต้องเริ่มทำอะไรใหม่ๆ โดยเฉพาะในเรื่องงาน บ่อยครั้งเราผลีผลามกระโจนเข้าหาสิ่งนั้นๆ เลยโดยไม่ได้รั้งตัวเองออกมาครุ่นคิดมองดูเสียก่อน 

บ่อยครั้งที่ความรีบร้อนนั้นนำเราไปสู่ความผิดพลาด ด้วยการจมดิ่งลงไปในกองแห่งการทำงาน กองแห่งข้อมูล จนเราอาจรู้สึกคล้ายถูกการงานทับถมจนไม่อาจเงยหน้าขึ้นมาได้

แล้วเราก็จะเป็นทุกข์

ที่จริงแล้ว ก่อนลงมือทำ เราอาจต้องลองคิดเสียก่อน คำว่า ‘คิด’ ในที่นี้คือ คือการดึงตัวเองออกมามองดูโครงสร้างใหญ่ของมันทั้งหมด ด้วยการตั้งคำถามเสียก่อนว่า ตัวงานที่เราจะทำนั้น นิยามแท้จริงของมันคืออะไร และเราจะทำมันไปเพื่ออะไร 

การทำงานก็คล้ายการปลูกพืช เราจำเป็นต้องถามเสียก่อนว่า เราจะปลูกไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม หรือไม้คลุมดิน เพราะแต่ละอย่างไม่เหมือนกันเลย

นอกจากนี้ เราอาจจำเป็นต้องดูให้แน่ใจเสียก่อนว่า คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานนั้นๆ เห็นตรงกันหรือเปล่าว่าเป้าหมายเป็นเป้าหมายเดียวกัน แน่นอน เราไม่มีทางเห็นเหมือนกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเราให้นิยามของ ‘พืช’ ที่เราจะปลูกร่วมกันเสียก่อนว่าเราจะปลูกอะไร เราก็จะกำหนดวิธีทำงานร่วมกันได้ว่าจะใช้เวลาแค่ไหน ขุดดินลึกแค่ไหน ต้องใช้น้ำหรือปุ๋ยมากน้อยอย่างไร เตรียมดินอย่างไร

ในบางกรณี ถ้าเพื่อนร่วมงานคิดว่า งานที่เราจะทำคือการปลูกหญ้าหรือปลูกต้นไม้ใหญ่ ทั้งที่เราจะปลูกไม้พุ่ม ก็ต้องพยายามทำความเข้าใจเขาด้วย เช่น อย่าเพิ่งหาว่าคนที่ทำแค่ถากดินเพราะเข้าใจว่าจะปลูกหญ้านั้นเป็นคนขี้เกียจ หรือคนที่ขุดหลุมลึกเกินไปเพราะนึกว่าจะปลูกต้นไม้ใหญ่เป็นพวกทำงานไม่เป็น – บางทีอาจเพราะเราเข้าใจ ‘โจทย์’ ไม่ตรงกันก็เป็นได้ แล้วถ้าเราย้อนกลับมาที่ ‘ฐาน’ ของมัน คือนิยามโจทย์ให้ตรงกัน ปัญหาก็น่าจะลดทอนลงไปได้มาก 

การทำความเข้าใจกับโจทย์พวกนี้ไม่ง่าย เพราะต้องประสานกับคนมากมาย รวมทั้งทำความเข้าใจตัวเองด้วย แต่ที่ยากกว่าไปอีกขั้นก็คือ ต้องรู้จักปรับเปลี่ยนโจทย์หรือนิยามที่อุตส่าห์หาคำตอบมาอย่างยากเย็นนี้ตามสถานการณ์ด้วย เช่น หากเข้าใจตรงกันแล้วว่าจะปลูกไม้พุ่ม แต่เมื่อลงมือทำจริงๆ กลับพบว่าดินไม่เหมาะกับไม้พุ่มแน่ๆ ต้องปลูกหญ้าอย่างเดียว ก็อาจต้องเปลี่ยนเป้าหมาย เปลี่ยนวิธีคิด หรือกระทั่งเปลี่ยนโจทย์ไปเลย โดยควรทบทวนสิ่งเหล่านี้อยู่บ่อยๆ

ทั้งหมดที่ว่ามา คือการวางตัวเองเอาไว้ ‘เหนือ’ งาน คือมองลงมาแล้วเห็นโครงสร้างงานทั้งหมด รั้งตัวเองออกมา ‘มองดู’ เสียก่อนที่จะกระโจนลงไปคลุกกับงานเลย การกระโจนลงไปทำงานเลย อาจทำให้เราโงหัวไม่ขึ้นเพราะถูกปัญหากระแทกใส่ตลอดเวลา จนไม่สามารถดึงตัวออกมามองว่าปัญหาคืออะไร และจะแก้จากมุมไหนได้บ้าง 

ดังนั้น การ ‘เซ็ต’ ตัวเองเอาไว้ตั้งแต่ต้น ว่าจะไม่ถูกงานโถมทับโดยไม่รู้เหนือใต้ แต่อยู่เหนือมัน มองเห็นโครงสร้างทั้งหมดของมัน – จึงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการลงมือทำงานในขั้นต่อไป

โปรดระลึกไว้เสมอว่า – ยิ่งสถานการณ์รอบข้างไม่เอื้ออำนวยมากเท่าไหร่ ยิ่งต้องคิดหาวิธี หรือ ‘ออกแบบ’ การทำงานที่จะทำให้เราสนุกกับมันมากเท่านั้น

เริ่มต้นดี ก็มักให้ผลที่ราบรื่น