คุณเคยเช่ารถขับในยุโรปหรืออเมริกา (นอกเหนือจากอังกฤษ) บ้างไหมครับ
ถ้าเคย – คุณเคยรู้สึกเบื่อหน่ายรำคาญบ้างไหม ที่ประเทศเหล่านี้ขับรถชิดขวา รถจึงต้องเป็นพวงมาลัยซ้าย และดังนั้น – เราคนไทย, ผู้ขับรถชิดซ้ายในรถพวงมาลัยขวา จึงต้องฝึกนิสัยกลับซ้ายเป็นขวา และใช้เวลาสักพัก กว่าจะคุ้นชินกับการขับรถกลับด้าน
บางคนก็อาจสงสัยว่า ทำไมหนอ-ประเทศพวกนี้ถึงไม่ขับรถด้านซ้ายเหมือนเรา
ที่จริงแล้ว เรื่องการขับรถซ้ายขวานี้มีประวัติความเป็นมานะครับ
ในสมัยก่อนโน้น ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนในยุโรป ต่างก็ขับรถชิดซ้าย (เหมือนไทย) กันทั้งนั้น เพราะในยุคฟิวดัล ยุคที่อัศวินขี่ม้าแล้วก็รบพุ่งกันเป็นสามารถนั้น นักดาบที่ขี่ม้าส่วนใหญ่จะถนัดขวา เมื่อถนัดขวา ก็ต้องพกฝักดาบเอาไว้ทางซ้าย เพื่อจะได้ใช้มือขวาชักดาบออกมาฟันคู่ต่อสู้ได้ทันท่วงที การ ‘เว้นที่’ ทางด้านขวาเอาไว้จึงเป็นเรื่องจำเป็น
นอกจากนี้ เมื่อฝักดาบอยู่ทางด้านซ้าย เวลาจะขึ้นม้าจึงต้องขึ้นจากทางซ้ายด้วย เพราะถ้าขึ้นทางขวา ฝักดาบก็จะไปเกะกะกีดขวาง เมื่อรวมเหตุผลทั้งหมดแล้ว การสัญจรด้วยการขี่ม้า จึงต้องขี่ชิดซ้ายเอาไว้ ทำให้การจราจรในยุคโบราณ เป็นการเดินทางแบบชิดซ้ายเหมือนที่เราคนไทยคุ้นเคยกันในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ในราวศตวรรษที่ 18 ปรากฏว่าในฝรั่งเศส เกิดความนิยมสร้างรถม้าคันใหญ่ๆที่มีม้าลากรถหลายๆตัว (เรียกว่า Wagon) แน่นอน รถม้าแบบนี้ไม่มีที่นั่งคนขับ แต่คนขับรถม้าจะนั่งอยู่บนม้าตัวสุดท้ายที่อยู่ทางซ้าย เพื่อใช้มือขวาถือแส้เฆี่ยนม้าให้วิ่งตะบึงไป เมื่อเป็นแบบนี้ คนขับรถม้าเลยนิยมขับรถม้าชิดขวามากกว่า เพราะด้านที่ตัวเองอยู่เป็นด้านที่ใช้แล่นสวนทางไปมา จึงปลอดภัยกว่าถ้าจะเป็นด้านที่มองเห็น ความนิยมนี้จึงค่อยๆเปลี่ยนการสัญจรจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ใน ‘ช่วงเปลี่ยนผ่าน’ ของศตวรรษที่ 18 ในฝรั่งเศส ยังมีการสัญจรทั้งสองฝั่งอยู่ โดยคนชั้นสูงที่เป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม มักจะชอบสัญจรแบบชิดซ้าย (คือแบบดั้งเดิม) ทำให้คนที่เป็นชนชั้นล่าง (เช่นชาวนา) ต้องไปสัญจรทางฝั่งขวาของถนนแทน แต่เมื่อเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส ปรากฏว่าคนชั้นสูงทั้งหลายไม่ค่อยอยากให้คนรู้ว่าตัวเองเคยเป็นคนชั้นสูงมาก่อน เลยหันมาสัญจรชิดขวาแบบเดียวกับชาวนา ประกอบกับรถม้าแบบใหม่ที่นิยมชิดขวาด้วย ทำให้ในที่สุดก็เกิดกฎหมายบังคับการสัญจรแบบชิดขวาขึ้นในปี 1794 ซึ่งต่อมา นโปเลียนก็เอาวิธีสัญจรแบบนี้ไปแพร่ขยายในประเทศอื่นๆอีกหลายประเทศ ทั้งเบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี โปแลนด์ ฯลฯ
แต่แน่นอน ประเทศที่ถือว่าฝรั่งเศสเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันมาแต่ดั้งเดิมอย่างอังกฤษ ย่อมไม่ยอมเปลี่ยนข้างมาสัญจรชิดขวา อังกฤษประกาศให้ตัวเองเป็นประเทศชิดซ้ายในปี 1835 ซึ่งทำให้ประเทศที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษทั้งหลาย ตั้งแต่อินเดีย ออสเตรเลีย และหลายประเทศในแอฟริกา เป็นประเทศที่ขับรถชิดซ้ายมาจนปัจจุบันนี้
ส่วนในอเมริกานั้น แรกเริ่มเดิมทีตอนยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษอยู่ ก็มีการสัญจรแบบชิดซ้าย แต่เมื่อประกาศอิสรภาพแล้ว ก็เกิดอาการอยาก ‘สลัด’ ความเป็นอังกฤษทิ้งไปในหลายๆเรื่อง รวมถึงการสัญจรชิดซ้ายด้วย กฎหมายแรกที่ระบุให้สัญจรชิดขวา เกิดขึ้นในเพนซิลวาเนีย ในปี 1792 ตามด้วยนิวยอร์คและนิวเจอร์ซีย์ และที่สุดก็ทั่วประเทศ
เราอาจนึกว่า ยุโรปนั้นขับรถชิดขวามาตั้งแต่ด้ังเดิม แต่แท้จริงแล้ว หลายประเทศในยุโรปเพิ่งจะมาขับรถชิดขวากันในต้นศตวรรษที่ยี่สิบนี้เอง อย่างโปรตุเกสก็เพิ่งเริ่มขับรถชิดขวาในยุค 1920s แต่ที่น่าจะเริ่มต้นช้าที่สุดประเทศหนึ่ง เห็นจะเป็นสวีเดน
ในวันที่ 3 กันยายน 1967 (คือเมื่อเกือบห้าสิบปีที่แล้ว) สวีเดนได้เปลี่ยนการสัญจรจากที่เคยขับรถชิดซ้ายมาเป็นชิดขวา วันนั้นเรียกกันว่า H Day หรือ Högertrafik ซึ่งแปลว่า right traffic หรือเดินรถทางขวา ที่สวีเดนตัดสินใจอย่างนั้นก็เพราะทุกประเทศในแถบสแกนดิเนเวียน ได้เปลี่ยนไปขับรถชิดขวากันหมดแล้ว โดยได้รับอิทธิพลมาจากรัสเซีย เนื่องจากรัสเซียเอาชนะฟินแลนด์ได้ในสงคราม Finnish War (1808-1809)
ที่จริงในตอนนั้น คนสวีเดนส่วนใหญ่ไม่อยากเปลี่ยนการจราจรมาฝั่งขวาหรอกนะครับ มีการทำประชามติกันในปี 1955 มีผู้ ‘ไม่เอา’ มากถึง 83% แต่นักการเมืองก็ผลักดันจนได้ มีการเตรียมการกันตั้งแต่ปี 1963 พอถึงปี 1967 ก็มีการรณรงค์มากมาย ทั้งการแต่งเพลง การทำสติกเกอร์ การคิดสโลแกนต่างๆ เพื่อเปลี่ยนให้สวีเดนหันมาสู่ด้านขวา (ของถนน)
แล้วเมื่อถึงวันที่ 3 กันยายน รถราต่างๆก็ห้ามวิ่งจนกว่าจะถึงเวลาตีห้า ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้น ทุกอย่างก็กลับข้างกันไปหมด มีการเปลี่ยนป้ายจราจร 360,000 ป้ายในชั่วข้ามคืน รถโดยสารประจำทางที่มีประตูอยู่ทางด้านซ้าย สวีเดนก็ยกให้เคนยากับปากีสถานไปถึง 8,000 คัน
แม้ในตอนแรก คนจะบอกว่าไม่อยากเปลี่ยนแปลงการจราจรกลับซ้ายเป็นขวาแบบนี้ แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมาจริงๆ ปรากฏว่าอุบัติเหตุลดลงอย่างมากในชั่วข้ามคืน และคนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร สวีเดนจึงเป็นตัวอย่างให้ประเทศอื่นๆเปลี่ยนแปลงบ้าง เช่น ไอซ์แลนด์ เปลี่ยนมาเดินรถทางขวาในปี 1968 ส่วนกานากับไนจีเรีย ก็เปลี่ยนมาเดินรถทางขวาในยุคเจ็ดศูนย์ เป็นต้น
คำถามที่น่าถามก็คือ ถ้าเราดูการจราจรแบบซ้ายขวาเทียบกัน โลกนี้มีประเทศที่ขับรถชิดซ้ายหรือชิดขวามากกว่ากัน
คำตอบก็คือ ชิดขวามากกว่านะครับ
ประมาณว่า สองในสามของประชากรโลก ขับรถด้านขวา ในยุโรป ประเทศที่ขับรถชิดซ้ายมีสี่ประเทศ ล้วนแล้วแต่เป็นประเทศเกาะทั้งสิ้น ได้แก่สหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์ มอลต้า และไซปรัส ส่วนที่เหลือในโลก ส่วนใหญ่คือประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษมาก่อน เว้นแต่ญี่ปุ่น (ที่ได้รับอิทธิพลมาจากอังกฤษ เนื่องจากรับเทคโนโลยีการสร้างรถไฟมาจากอังกฤษ) ไทย เนปาล ภูฏาน โมแซมบีค สุรินัม ตะมอร์ตะวันออก และอินโดนีเซีย
เรื่องการขับรถซ้ายไปขวาขวาไปซ้ายนี้ อดัม โรเบิร์ตส์ (Adam Roberts) นักเขียนของ The Economist เคยตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า โลกของเราน่าจะเปลี่ยนระบบให้เหมือนกันหมดทั้งโลกได้แล้ว เพราะโลกหดเล็กลง อะไรที่ไม่จำเป็นต้องทำก็ไม่ควรต้องเคร่งครัด
เรื่องการขับรถชิดซ้ายหรือขวานี้ เป็นสิ่งที่ตกทอดมาจากการแบ่งแยกแบบเก่า อดัมจึงตั้งคำถามว่า มันเป็นเรื่องที่ ‘พ้นสมัย’ ไปแล้วหรือเปล่า แต่ไม่ใช่แค่เรื่องขับรถเท่านั้นหรอกนะครับที่เป็นอย่างนี้ ยังมีอีกหลายต่อหลายเรื่อง เช่น เต้าเสียบปลั๊กไฟที่ในแต่ละประเทศมีรูปแบบแตกต่างกันถึง 15 แบบ หรือเรื่องของหน่วยการวัดต่างๆ เวลาจะทำขนม ทำไมเราต้องมาเสียเวลานั่งแปลงหน่วยต่างๆ เช่นจากออนซ์เป็นกรัม จากหนึ่งถ้วยครึ่งถ้วยไปเป็นไพนต์ หรือระบบการวัดขนาดรองเท้าหรือขนาดเสื้อผ้า ที่มีทั้งแบบอเมริกัน แบบยุโรป หรือแบบญี่ปุ่น
โลกไม่ได้ ‘เล็ก’ ลง จนการแบ่งแยกเหล่านี้กลายเป็นเรื่องไม่จำเป็นไปแล้วหรอกหรือ?
คำถามของอดัมนั้นน่าคิด บ่อยครั้งที่เราอยู่กับความคุ้นชินบางอย่างจนไม่เคยตั้งคำถามกับมัน แต่ในฉับพลันทันทีที่เราเกิดความสงสัยขึ้นมา สิ่งที่เคยคุ้นจนชินชา ก็ดูไม่สมเหตุสมผลขึ้นมาในทันที
ประวัติศาสตร์ของการขับรถชิดซ้ายขิดขวาเป็นเรื่องที่ทำให้เราเห็นว่า ในอดีต-มนุษย์เคยแบ่งแยกกันด้วยเรื่องที่ไม่ค่อยเป็นสาระมากมายแค่ไหน
คำถามก็คือ-เราจะต้องแบ่งแยกกันแบบนี้กันไปอีกนานแค่ไหน