ทำไมเราถึงทำลายตัวเอง

ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ ยี่สิบ สามสิบ หรือสี่สิบปี คุณอาจไม่รู้ตัวก็ได้ ว่าขณะมีชีวิตอยู่ คุณกำลังทำลายตัวเองด้วยวิธีต่างๆ อย่างไรบ้าง

เวลาคนเราทำลายตัวเอง เรามักไม่รู้สึกตัว ไม่ว่าจะเป็นการทำลายตัวเองในที่ทำงาน ที่บ้าน หรือกับเพื่อนๆ ก็ตามแต่ การทำลายตัวเอง มักเกิดขึ้นเพราะเราไม่รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่ามากพอ และดังนั้นจึงมัก ‘ลงโทษ’ ตัวเองด้วยวิธีการต่างๆ ทำให้ไม่สามารถปลดปล่อยตัวเองออกมาสู่ศักยภาพที่แท้จริงแล้ว วงจรของการทำลายตัวเองจึงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะเมื่อเราไม่สามารถแสดงศักยภาพที่แท้จริงออกมาได้ ก็ยิ่งทำให้เราดูหมิ่นตัวเองมากขึ้น จึงเกิดเป็นวังวนที่ดิ่งลึกลงไปเรื่อยๆ

ลิซา ไฟร์สโตน (Lisa Firestone) เคยเขียนไว้ใน Psychology Today (อ่านได้ที่นี่ https://www.psychologytoday.com/blog/compassion-matters/201407/4-ways-stop-sabotaging-yourself) ว่าเหตุผลที่คนเราทำลายตัวเองมีอยู่ด้วยกัน 4 เรื่อง

อย่างแรกสุดก็คือ เรา ‘เกลียด’ ตัวเอง (Self-Hatred) ซึ่งความเกลียดตัวเองนี้ ไม่ได้แปลว่าเราเกลียดตัวเองในทุกสถานการณ์นะครับ แต่ตลอดเวลา จิตของเราจะวางตัวอยู่ระหว่างความชิงชังตัวเอง (Self-Loathing) กับความมั่นใจในตัวเอง (Self-Confidence) ซึ่งหากอย่างหลังมีมากเกินไป ก็จะกลายเป็นคนหลงตัวเองไปได้ แต่ถ้าหากอย่างแรกมีมากเกินไปในบางสถานการณ์ ก็จะเข้าข่ายเกลียดตัวเองจนบางครั้งกลายเป็นการ ‘ต่อต้านตัวเอง’ (Anti-Self) ขึ้นมา

อาการต่อต้านตัวเองนั้น บางครั้งทำให้เกิดการปฏิเสธหรือวิจารณ์ตัวเองอยู่ตลอดเวลา (ลิซาเรียกว่าเป็น ‘เสียงวิพากษ์ในภายใน หรือ Critical Innter Voice) ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตามที ทำให้เราไม่กล้าทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ เพราะหยามหยันตัวเองเอาไว้แล้วล่วงหน้าว่าจะต้องไม่ประสบความสำเร็จแน่ๆ  ผลลัพธ์จึงคือการบ่อนทำลายตัวเอง

อย่างที่สองนี่ คุณอาจนึกไม่ถึงว่าเป็นผลสืบเนื่องมาจากสาเหตุแรก ทั้งนี้ก็เพราะเจ้าเสียงวิพากษ์ภายในนั่นแหละครับ ที่มันทำให้เราพึงพอใจจะขังตัวเองอยู่แต่ในพื้นที่สบายๆ หรือ Comfort Zone ของเราเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพราะคุณไม่กล้าเสี่ยงลงมือทำสิ่งที่อาจทำให้คุณล้มเหลว คุณก็เลยบอกตัวเองว่า – ถ้าอย่างนั้นไม่ต้องทำเสียดีกว่า นั่งอยู่กับบ้าน ทำสิ่งที่พอทำได้ก็พอแล้ว การบอกตัวเองให้รู้จักพอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่นั้น บางครั้งเป็นเรื่องดี แต่ถ้ามากเกินไป หลายครั้งก็กลับเป็นการทำลายตัวเองได้เหมือนกัน

อย่างที่สามที่เกิดตามมาก็คือความ ‘แข็งตัว’ (Rigidity) ของตัวตนคุณเอง เพราะเมื่อมีเสียงวิพากษ์ภายในคอยตีกรอบคุณเอาไว้ และคุณก็พึงพอใจจะอยู่ในที่ทางที่สบายๆ แล้ว ในที่สุดคุณก็จะคุ้นเคยกับที่ทางนั้น ไม่อยากและไม่กล้าเปลี่ยนแปลงอะไรด้วย จึงเกิดเป็น ‘กลไกป้องกันตัวเอง’ (Self-Defense) ขึ้นมา 

กลไกที่ว่านี้มีตั้งแต่การอยู่เงียบๆ ไม่เถียงกับใคร ทำให้ปัญหาที่มีอยู่ถูกหมกหมักหมมเอาไว้ใต้พรม ไปจนถึงการไม่ยอมริเริ่มทำอะไรใหม่ๆ อยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้ัน แต่ปัญหาก็คือ โลกไม่ได้อยู่นิ่งๆ เหมือนเราด้วย การไม่ริเริ่มอะไรเลยก็คือการไม่ปรับตัวให้สอดรับกับโลกใบใหม่ และดังนั้นก็อาจมาถึงจุดวิกฤตได้ เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปข้างหน้ามากแล้ว แต่เรายังแข็งตัวอยู่ที่เดิม ผลลัพธ์อาจเป็นการพังครืนของตัวตนลงมาในคราวเดียวก็ได้

เหตุผลสุดท้ายก็คือความกลัว มันคือรากของแทบทุกอย่างที่ว่ามาข้างต้น เรากลัวความล้มเหลว กลัวคนอื่นจะวิพากษ์วิจารณ์เรา เราจึงชิงวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองไปก่อน และที่สุดก็ไม่ได้ลงมือทำอะไร เพราะกลัวว่าตัวเองจะรับมือกับความผิดพลาดล้มเหลวไม่ได้ แต่ในความเป็นจริง ชีวิตไม่ได้เจ็บปวดล้มเหลวไปเสียทั้งหมด ชีวิตมอบให้เราทั้งความล้มเหลวและสำเร็จ ทั้งความเจ็บปวดและความสุข แต่คนที่ฝึกให้ตัวเองทำลายตัวเองมาตลอดชีวิต จะ ‘ขยายเสียง’ แต่เฉพาะเรื่องของความทุกข์หรือความล้มเหลวใส่ตัวเท่านั้น ไม่ยอมมองให้เห็นว่าตัวเองเคยประสบความสำเร็จหรือมีแง่มุมดีๆ เปี่ยมความสามารถตรงไหนบ้าง ดังนั้นจึงทำให้การทำลายตัวเองดำเนินต่อไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นวงจรอุบาทว์อย่างที่ว่ามา

คำถามก็คือ – แล้วจะทำอย่างไรดี?

วิธีที่พูดง่ายแต่ทำยากมาก ก็คือลองสังเกตเสียงวิพากษ์จากภายในของตัวเองดู หลายครั้งเราไม่รู้ไม่เห็นไม่ได้ยินมัน เพราะมันทำงานอยู่ตลอดเวลาจนกลายเป็นเรื่องอัตโนมัติไปแล้ว แต่ถ้าเราลองสังเกตดูดีๆ ในแต่ละขณะ แต่ละสถานการณ์ เราจะรู้เลยว่าตอนไหนเสียงนี้ทำงานอยู่บ้าง

เมื่อเรา ‘ได้ยิน’ หรือ ‘รับรู้’ ถึงเสียงนี้แล้ว ก็จะง่ายขึ้นในการที่จะรับมือกับมัน เพราะเราจะรู้ว่าเรื่องไหนเกิดขึ้นเพราะความกลัว ความสบาย ความแข็งตัวของชีวิต หรือความเกลียดตัวเอง จนทำให้เราปิดกั้นโอกาสต่างๆ ในชีวิต

หลังจากนั้น อาจต้องค่อยๆ พยายามทำให้ตัวเองเลิกโทษตัวเองในเรื่องต่างๆ การได้ยินเสียงวิพากษ์ภายในจะทำให้เราสามารถ ‘ลดเสียง’ (แทนที่จะ ‘ขยายเสียง’) แห่งการวิพากษ์นั้นลงไปได้บ้าง เมื่อลดลงไปได้แล้ว เราก็จะค่อยๆ หยุดรู้สึกว่าตัวเองมีอะไรผิดปกติ 

เสียงวิพากษ์ภายในนั้นมันไม่ได้ทำงานเฉพาะกับเรื่องงานหรือชีวิตเท่านั้นนะครับ ในบางคนก็โทษตัวเองว่าไม่สวยไม่หล่อ ผิวไม่ดีหน้าตาน่าเกลียด ฯลฯ ด้วย แล้วเรื่องแบบนี้ก็ไปส่งผลต่อมิติอื่นๆ ของชีวิตอีกทีหนึ่ง ดังนั้น สิ่งแรกที่ต้องทำให้ได้ก็คือการหยุดรู้สึกว่าตัวเองมีอะไรผิดปกตินี่แหละครับ

ต่อมา เมื่อคุณรู้แล้วว่าตัวเองไม่ได้ด้อยค่า ไม่ได้ผิดปกติ ก็ย่อมแปลว่าคุณควรได้รับในสิ่งที่ดีเหมือนคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหน้าที่การงานหรือความสัมพันธ์ เดิมทีเดียว คุณอาจไม่อยากให้คนอื่นรู้สึกแย่กับคุณมากขึ้นไปอีก (เพราะเสียงภายในก็ทำให้คุณรู้สึกแย่กับตัวเองมากพอแล้ว) คุณก็เลยยอมรับเงื่อนไขที่คนอื่นๆ ตั้งให้คุณ แต่เมื่อคุณฟังเสียงนั้นน้อยลง คุณจะรู้ว่าตัวเองมีคุณค่ามากขึ้น ซึ่งตรงนี้ก็ต้องระวังด้วย เพราะหากมันล้ำเส้นไปสู่อาการมั่นใจในตัวเองจนล้นเกิน ก็อาจสร้างปัญหาอีกแบบหนึ่งขึ้นมาได้ แต่เอาเป็นว่าในระยะเริ่มต้น แค่เพิ่มคุณค่าให้ตัวเองได้ก็เป็นเรื่องน่ายินดีแล้ว

ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ คือการทำลายตัวเองที่เกิดจากความรู้สึกด้อยค่า คืออยู่ที่ขั้ว Self-Loathing แต่ยังมีการทำลายตัวเองอีกแบบหนึ่งที่อยู่ในขั้วตรงข้าม คืออยู่ในขั้ว Self-Confidence แบบล้นเกิน 

เกลียดตัวเองนั้นทำลายตัวเองแบบหนึ่ง แต่รักตัวเองมากเกินไป มั่นใจในตัวเองมากเกินไป ก็ทำลายตัวเองได้ในอีกแบบหนึ่งด้วยเช่นกัน