ทำไมเราถึงเหงา: ทำความเข้าใจกับความโดดเดี่ยวในโลกสมัยใหม่

สภาวะโดดเดี่ยวทางสังคมมาจากไหน และมันไปเกี่ยวอะไรกับโลกสมัยใหม่ 

อริสโตเติลเคยบอกว่า “โดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์เป็นสัตว์สังคม” นัยยะของข้อความนี้คือ การจะเป็นมนุษย์และการใช้ชีวิตนั้น ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับผู้อื่น หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ต้องนำตัวเองเข้าไปอยู่ในสังคม หากใครฝ่าฝืนธรรมชาติของมนุษย์ข้อนี้ ก็จะทำให้การใช้ชีวิตของมนุษย์ผู้นั้นประสบอุปสรรค ไม่อาจเติมเต็มความหมายของความเป็นคนอย่างสมบูรณ์ได้

คำพูดของอริสโตเติลแสดงให้เห็นว่า มนุษย์นั้นรู้ตัวมานานเป็นพันปีแล้วว่าสภาวะที่พึงประสงค์ของการดำรงซึ่งเผ่าพันธุ์มนุษยชาตินั้นคือ การอยู่ร่วมกันเป็นสังคม ตรงข้าม สภาวะที่มนุษย์ไม่อยากให้เกิดขึ้น คือ การแตกกระจายของสังคม เพราะอาจจะนำมาสู่ความล่มสลายของหมู่มวลมนุษยชาติเอาได้ง่ายๆ 

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่โบราณ ด้วยเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ต่างๆ นานา มนุษย์มักจะอยู่รวมกันเป็นหมู่เป็นก้อนกันอยู่แล้ว ไม่ค่อยมีหรอก มนุษย์ที่แยกตัวออกไปอยู่คนเดียวจากชุมชนหรือสังคมที่ตนสังกัดอยู่ ทั้งนี้เป็นเพราะสมัยก่อนสภาพความเป็นอยู่นั้นโหดร้ายมาก การหลีกลี้เอาตัวเองออกมาจากชุมชน ก็อาจเท่ากับเป็นการพาชีวิตตัวเองไปทิ้งเอาเสียดื้อๆ ด้วยเหตุนี้ ผู้คนในยุคนั้นจึงยังไม่ค่อยรู้จักสิ่งที่เรียกว่า ‘สภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม’ เสียเท่าไหร่ ต้องรอจนกระทั่งสังคมวิวัฒน์มาถึงยุคหลังๆ พูดให้จำเพาะเจาะจงหน่อยก็คือ ยุคที่โลกเข้าสู่ความทันสมัยหรือ ‘Modernity’ นั่นแหละ

ในยุคทันสมัยหรือโลกสมัยใหม่ (ซึ่งถ้าจะพูดในแง่เวลา โลกได้เข้าสู่ยุคนี้มาราวๆ 150 ปีแล้ว) มนุษย์ได้พัฒนาสิ่งต่างๆ ขึ้นมามากมายเพื่อทำให้ความเป็นอยู่ของมนุษย์สะดวกสบายและมีคุณภาพมากขึ้นกว่าแต่ก่อน อย่างไรก็ดี มีบางสิ่งที่มาพร้อมกับยุคสมัยใหม่ และทำให้เกิด ‘สภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม’ ขึ้น

สิ่งนั้นคือเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย สังคมการเมืองที่มีเสถียรภาพมากขึ้น และอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจการเมือง 

ในโลกยุคนี้ ต้องยอมรับว่าอุมการณ์ทางเศรษฐกิจการเมืองหนึ่งที่ขึ้นมานำและเบียดขับอุดมการณ์แบบอื่นๆ คือ เสรีประชาธิปไตย (พ่วงท้ายด้วยทุนนิยม) อุดมการณ์ดังกล่าวได้กลายเป็นที่ยอมรับของรัฐและประชาชนทั่วโลก กลายเป็นว่าเป็นแบบแผนสำคัญสำหรับการใช้ชีวิตในโลกยุคปัจจุบันอย่างไม่ต้องสงสัย 

ฐานสำคัญของอุดมการณ์ประชาธิปไตย คือการทำให้ประชาชนแต่ละคนมีแนวคิดเรื่องปัจเจกนิยม (individualism) มากขึ้น ประชาชนเริ่มตระหนักรู้ถึงการมีสิทธิมีเสียงของตนเองมากขึ้น และเริ่มเชื่อมั่นความสามารถในการกำหนดตัวเองในสังคมมากขึ้น ทั้งหมดนี้ได้ส่งเสริมให้ปัจเจกแต่ละคนกล้าทำตามสิ่งที่ตนนึกคิดมากขึ้น ถึงแม้ว่าสิ่งเหล่านั้นจะขัดกับค่านิยมของคนในสังคมส่วนใหญ่ก็ตาม 

ประวัติศาสตร์สอนมนุษย์ว่า ถ้าอยากให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ต้องปรับปรุงการจัดระเบียบทางสังคมการเมืองให้ดีขึ้น หลังเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 ตลอดจนศตวรรษที่ 21 เราจะเห็นได้ว่าแต่ละรัฐเริ่มพัฒนาตัวเองให้มีความพร้อมเชิงสถาบันมากขึ้นกว่าแต่ก่อน รัฐหันไปให้ความสนใจกับการสร้างสันติสุขระหว่างประเทศ และเข้ามาดูแลประชากรของตนเองให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 

หลายรัฐดำเนินนโยบายเชิงสังคม โดยการให้สวัสดิการต่างๆ เช่น การรักษาพยาบาล ที่อยู่อาศัย และงาน สิ่งเหล่านี้ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ดีขึ้นมาก แต่ในทางกลับกัน การที่มนุษย์เราสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยการบริการจากรัฐแบบครบวงจร ตั้งแต่เกิดจนตาย ก็อาจทำให้มนุษย์หนึ่งคนสามารถเลือกที่จะอยู่คนเดียวได้ โดยที่ไม่ต้องพึ่งสังคมหรือชุมชน 

ในแง่ของเทคโนโลยีสารสนเทศ จะเห็นได้ว่าในยุคนี้ เราได้พัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวไปมาก ไม่ว่าจะเป็นโทรเลข โทรศัพท์ หรืออินเทอร์เน็ต ทั้งหมดนี้ได้ส่งผลให้เราสามารถติดต่อสื่อสารกันได้โดยที่ไม่ต้องพบหน้ากัน อย่างไรก็ดี มองในอีกด้านหนึ่ง มันก็ทำให้มนุษย์ไม่ต้องเจอกันจริงๆ ได้เช่นกัน และจะส่งผลให้มนุษย์เราตัดขาดออกจากกันได้ง่ายขึ้น 

จะเห็นได้ว่าสิ่งเหล่านี้สามารถส่งผลทำให้มนุษย์ในยุคปัจจุบันอยู่กันอย่างโดดเดี่ยวได้ง่ายขึ้น แต่ในช่วงแรกๆ รัฐอาจยังไม่เห็นการก่อตัวของสภาวะนี้ได้ชัดเจนเท่าไหร่นัก เพราะว่ารัฐยังไม่เห็นความเป็นไปหรือขนาดของผู้คนที่ตกอยู่ในสภาวะดังกล่าว แต่เมื่อเวลาผ่านไป ด้วยความก้าวหน้าของเทคโลยี รัฐสามารถเก็บข้อมูลเชิงประชากรได้ง่ายและละเอียดขึ้น และพบว่าจริงๆ แล้วมีประชากรจำนวนมากที่ตกอยู่ในสภาวะโดดเดี่ยวเชิงสังคม จึงได้เล็งเห็นถึงปัญหาที่สภาวะดังกล่าวน่าจะก่อให้เกิดขึ้นได้ ด้วยเหตุนี้สิ่งที้เรียกว่า ‘สภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม’ จึงได้ถือกำเนิดและได้รับการศึกษาอย่างจริงจัง 

ความรู้สึก ‘โดดเดี่ยวทางสังคม’ จึงไม่ใช่แค่เรื่องข้างในของเราเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวพันกับเรื่องใหญ่ๆ ข้างนอก ที่เราเรียกว่า ‘สังคม’ โดยเฉพาะกับ ‘สังคมสมัยใหม่’ ได้ในหลายมิติเช่นนี้เอง