วิทยาศาสตร์แห่งการใช้เงิน : ใช้เงินอย่างไรให้มีความสุข

เพราะคนเราใช้เงินไม่ถูกต้อง คนส่วนใหญ่ไม่รู้ข้อเท็จจริงพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับความสุข ไม่รู้ว่าอะไรนำความสุขมาให้ และจะรักษาความสุขอย่างไร ดังนั้น พวกเขาจึงไม่รู้วิธีใช้เงินเพื่อทำให้ตัวเองมีความสุข

บางตอนจากบทความวิชาการชื่อ

If Money Doesn’t Make You Happy, Then You Probably Aren’t Spending It Right

โดย Elizabeth Dunn และคณะ

(http://www.danielgilbert.com/DUNN%20GILBERT%20&%20WILSON%20%282011%29.pdf)

คนมากมายยิ่งใช้เงินก็ยิ่งไม่มีความสุข

มีตัวอย่างคนถูกล็อตเตอรี่หลายสิบล้านบาทมากมายที่ใช้จ่ายเงินไปอย่างสุรุ่ยสุร่าย และลงเอยด้วยโศกนาฏกรรมแห่งชีวิต ตัวอย่างเช่น เจอรัลด์ มูสวากอน (Gerald Muswagon) ซึ่งเคยถูกล็อตเตอรี่ถึง 10 ล้านเหรียญ เขาซื้อรถ จัดปาร์ตี้หรู ให้ของขวัญเพื่อน แล้วเอาเงินไปลงทุน แต่ธุรกิจเจ๊ง เขาติดยา ติดเหล้า และสุดท้ายไม่นานนักก็แขวนคอตาย

หลายคนเรียกภาวะแบบนี้ว่า – คำสาปของความรวย (Lottery Curse) โดยเฉพาะการรวยขึ้นมากะทันหัน ทำให้เรารับมือกับมันไม่เป็น จึงใช้จ่ายออกไปมากมาย แต่ไม่ได้ทำให้เรามีความสุขมากขึ้นเท่าไหร่

อย่างไรก็ตาม การ ‘ใช้เงินผิดๆ’ แบบนี้ ไม่จำเป็นต้องเกิดกับคนที่รวยกะทันหันเท่านั้น กระทั่งเราๆ ทั่วไปที่ไม่ได้ร่ำรวยอะไร บ่อยครั้งเราอาจพบว่า ยิ่งใช้จ่ายเงินออกไป ก็ยิ่งไม่มีความสุข

ในงานเขียนทางวิชาการที่ยกมาข้างต้น เอลิซาเบธ ดันน์ และคณะ ได้ศึกษาด้วยวิธีทบทวนวรรณกรรม (Literature Review) งานทางจิตวิทยามากมาย เพื่อหาหลักการในการทำนายว่าเราจะรู้สึกอย่างไรในอนาคตเมื่อจับจ่ายใช้สอย และเราควรทำอย่างไร เพื่อให้การ ‘ใช้เงินออกไป’ ได้กลับมาซึ่ง ‘ความสุข’ ที่ยั่งยืนถาวรกว่า

งานชิ้นนี้สรุปหลักการของการ ‘ใช้จ่าย’ เพื่อให้ได้มาซึ่ง ‘ความสุข’ ออกมาหลายข้อ ได้แก่

1. ให้ซื้อสิ่งที่เป็น ‘ประสบการณ์’ มากกว่าซื้อของที่เป็นวัตถุ

เวลาเราซื้อของที่เป็นวัตถุ เราจะปรับตัวให้เข้ากับวัตถุได้ง่ายมาก ดังนั้น เส้นกราฟความสุขที่เกิดขึ้นจึงมีลักษณะเป็น S Curve คือพุ่งสูงขึ้นไปในระยะแรก แต่สุดท้ายก็จะเข้าสู่ช่วงแนวราบที่เรียกว่า Plateau นั่นแปลว่าความสุขจะคงที่ แล้วสุดท้ายก็ค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ แต่ประสบการณ์ไม่เป็นอย่างนั้น ไมเคิล นอร์ตัน (Michael Norton) นักจิตวิทยาจากฮาร์วาร์ดบอกว่า เมื่อเราเสียเงินไปกับประสบการณ์ มันสามารถรื้อฟื้นกลับมาใหม่ได้ในรูปแบบของความทรงจำ ทำให้เส้นกราฟความสุขไม่ลดลงถาวร แต่สามารถกระโดดคืนกลับขึ้นไปได้เมื่อรำลึกถึง และเราสามารถนำประสบการณ์ไปใช้กับชีวิตในมิติอื่นๆ ได้ด้วย การใช้เงินไปกับประสบการณ์จึงสร้างความสุขที่ยั่งยืนกว่า

2. ใช้เงินเพื่อสร้างประโยชน์ให้ผู้อื่น

ฟังดูคล้ายการทำบุญ แต่ในทางวิทยาศาสตร์ มีการทดลองพบว่า คนที่ใช้เงินในลักษณะท่ี่เรียกว่า Pro-Social หรือเห็นแก่ประโยชน์ของส่วนรวม จะมีระดับความพึงพอใจสูงกว่า ยาวนานกว่า ส่วนการใช้จ่ายเพื่อตัวเองนั้น แม้ไม่ได้ไปลดความพึงพอใจลง แต่โดยรวมแล้ว ความพึงพอใจก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นด้วย การใช้จ่ายเพื่อคนอื่นจึงทำให้เรามีระดับความสุขโดยรวมสูงกว่า

ที่น่าสนใจก็คือ การใช้เงินเพื่อผู้อื่น (เช่น ซื้อของขวัญให้เพื่อน พาพ่อแม่ไปดินเนอร์ ฯลฯ) คือการใช้เงินเพื่อ ‘สร้างประสบการณ์’ ในข้อ 1. และเป็นประสบการณ์ร่วมกับคนอื่นด้วย จึงยิ่งเสริมให้มีความสุขมากขึ้นไปอีก

3. ใช้เงินซื้อของเล็กที่ราคาถูกบ่อยครั้ง ให้ความสุขได้มากกว่าซื้อของใหญ่ๆ ราคาแพงเพียงครั้งเดียว

ความสุขไม่เกี่ยวกับมูลค่า ของนั้นๆ ไม่ว่าจะราคาแพงเท่าไหร่ ก็จะทำให้เกิดเส้นกราฟความสุขรูปแบบเดียวกัน คือพุ่งสูงขึ้น เข้าสู่แนวราบ แล้วลดระดับลง แต่เงินที่เรามี มีอยู่จำกัด ดังนั้น การศึกษานี้จึงแนะนำว่าถ้าจะซื้อของที่เป็นวัตถุเพื่อทำให้ตัวเองมีความสุข ควรซื้อของเล็กๆ บ่อยหนดีกว่าซื้อของใหญ่ๆ แพงๆ เพียงครั้งเดียว เพราะทุกครั้งที่ซื้อ คือการได้ ‘รีเซ็ต’ กราฟความสุข ‘ของใหม่’ ทำให้กราฟความสุขเริ่มต้นใหม่ ความพึงพอใจในชีวิตจึงถูกกระตุ้นขึ้นบ่อยครั้งกว่า

4. หลีกเลี่ยงการซื้อการคุ้มครองต่างๆ ที่ไม่จำเป็น

มนุษย์มีแนวโน้มไม่ชอบความเสี่ยง ดังนั้นหลายคนจึงซื้อความคุ้มครองหรือประกันต่างๆ มากมายเกินจำเป็น การศึกษานี้บอกว่า มนุษย์มักซื้อความคุ้มครองเกินจำเป็นเสมอ มีรายงานการสำรวจผู้บริโภคในปี 2013 ของอเมริกา ที่บอกว่าผู้ใช้รถยนต์ในอเมริกาซื้อประกันต่างๆ มากเกินไปจนเสียเงินไปมากกว่าประโยชน์ที่จะได้รับ พวกเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ก็เป็นเช่นเดียวกัน มีสถิติรายงานว่า เมื่อคิดเฉลี่ยสุดท้ายแล้ว ค่าซ่อมที่เกิดขึ้นเนื่องจากไม่ได้จ่ายค่าประกันคุ้มครองจะพอๆ กันกับค่าประกันคุ้มครอง แต่ข้อเสียของค่าประกันคุ้มครองก็คือ เราต้องจ่ายไปตั้งแต่ต้น 

5. อดเปรี้ยวไว้กินหวาน

การเป็นผู้บริโภคแบบฉับพลัน (Impulsive Consumer) มักมีผลทำให้เงินที่ใช้จ่ายออกไปกับปริมาณความสุขที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่วนกัน พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ถ้าอยากได้อะไรก็ซื้อ จะทำให้เราพึงพอใจกับสิ่งที่เราซื้อในทันทีน้อยกว่าการค่อยๆ อดออม เก็บสะสม แล้วค่อยๆ ตัดสินใจซื้อช้า ในทางจิตวิทยาแล้ว พบว่ามนุษย์ ‘ตัดสินใจ’ ได้ดีกว่า ถ้าหากว่าเราไม่ได้ตัดสินใจในทันที แต่ค่อยๆ คิด ค่อยๆ สำรวจความต้องการต่างๆ ของตัวเอง 

ถ้าเราอยากได้อะไร ไม่ว่าจะเป็นของเล็กน้อยแค่ไหน หรือมีเงินก้อนอยู่มากแค่ไหน ให้ค่อยๆ เก็บเงินสะสมใหม่เพื่อซื้อของนั้น วิธีนี้จะทำให้ความพึงพอใจเมื่อได้ของนั้นมาสูงขึ้นกว่าซื้อเลยในทันที ในการศึกษานี้ เขาบอกว่าการ ‘คาดหวังรอคอย’ (Anticipation) คือ ‘ความสุขฟรี’ ที่เราไม่ต้องเสียเงินซื้อ

6. ให้คิดถึงปัจจุบันมากกว่าอนาคต

เรื่องนี้อาจฟังดูแปลก แต่งานวิจัยนี้บอกว่า การคิดถึงอนาคตมักทำให้เราเกิดภาพแบบ ‘นามธรรม’ ที่ไม่เป็นจริงขึ้นมา ตัวอย่างเช่น ถ้าเราต้องเลือกระหว่างบ้านหลังเล็กสภาพดีพร้อมอยู่ กับบ้านหลังใหญ่กว่าที่ต้องซ่อมอีกมาก ถ้าทั้งสองหลังราคาเดียวกัน ส่วนใหญ่เรามักเลือกบ้านหลังใหญ่ เพราะคิดว่าเมื่อซ่อมแซมแล้วชีวิตน่าจะสมบูรณ์แบบกว่า แต่นั่นคือการมองไปในอนาคต ไม่ได้อยู่กับความจริงในปัจจุบัน จากการสำรวจ พบว่าการซื้อบ้านหลังใหญ่ที่ต้องซ่อมแซม จะกินเวลาของชีวิตเราไปกับการซ่อมบ้านมากมาย จนอาจเลยจุดคุ้มค่าไปได้เหมือนกัน ซึ่งสุดท้ายก็จะไปลดความพึงพอใจในชีวิตลง แต่เนื่องจากเราไม่ค่อยตีค่าความพึงพอใจเป็น ‘มูลค่า’ เราจึงรู้สึกว่าการซื้อบ้านหลังใหญ่เป็นเรื่องคุ้มค่ากว่า ทั้งที่สิ่งที่ตามมาอาจคือความเครียดที่ไปลดทอนความพึงพอใจในชีวิตของเราเอง ดังนั้น การพิจารณาถึง ‘ปัจจุบัน’ จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

7. ให้ระวังการเทียบราคา

การเปรียบเทียบราคาเป็นเรื่องที่ฟังดูดี คือต้องดูสินค้าเดียวกันจากหลายๆ แหล่ง แล้วเปรียบเทียบตัวเลือกในราคาต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าก่อให้เกิดผลดีทางการเงิน แต่คำถามก็คือ – มันทำให้เรามีความสุขหรือความพึงพอใจเพ่ิมขึ้นหรือลดลงหรือเปล่า

แบรี ชวาร์ตซ์ (Barry Schwartz) ผู้เขียนหนังสือ Paradox of Choice บอกว่า การมีตัวเลือกมากเกินไปจะทำให้เรามีความสุขน้อยลง ยิ่งตัวเลือกที่แตกต่างกันเล็กๆ น้อยๆ มีมากเท่าไหร่ ก็จะทำให้ความพึงพอใจลดลงมากเท่านั้น เพราะเราเลือกไม่ถูก และสุดท้ายก็เสียเวลาไปกับการเลือกจนไม่ได้ใช้ของนั้นๆ แบบเดียวกับการเลือกดูรายการทางช่องสตรีมมิ่งจนหมดเวลาดู

จะเห็นว่า การซื้อนั้นไม่ได้มี ‘ราคา’ ท่ีต้องจ่ายเพียงค่าสินค้าหรือบริการเท่านั้น แต่ราคาอีกอย่างหนึ่งที่ซ่อนอยู่ ก็คือราคาแห่งความพึงพอใจ

ในโลกปัจจุบันที่ซับซ้อนและมีกลยุทธ์ทางการตลาดมากมาย การจับจ่ายใช้สอยอาจทำให้เรามีกราฟความสุขที่พุ่งขึ้นในระยะแรกสูงชันมาก จนเราเผลอนึกไปว่านั่นเป็นความสุขที่ยั่งยืน แต่สุดท้ายมันก็จะราบนิ่งและดิ่งลงเสมอ

ดังนั้น การบริโภคโดยนับรวมเอาความสุขหรือความพึงพอใจในชีวิตเข้ามาอยู่ในสมการแห่งการซื้อ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนให้เหมาะสมกับแต่ละคน

ไม่ใช่เรื่องง่าย – แต่ก็ไม่ยากจนเกินไป