ออกแบบเมืองด้วยกลิ่น

เวลาพูดถึงการออกแบบเมือง หลายคนนึกถึงแต่เรื่องของภาพที่เห็น ซึ่งก็คือ ‘การมอง’ หรือผัสสะแบบ Visual เท่านั้น แต่วิคตอเรีย เฮนชอว์ (Victoria Henshaw) ซึ่งเป็นนักวิชาการและนักวางผังเมือง (Urban Planner) คนสำคัญคนหนึ่งจากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์และเชฟฟิลด์ในอังกฤษ กลับบอกว่าเรื่องหนึ่งที่เราละเลยไปอย่างมาก – ก็คือเรื่องของกลิ่น

ใช่ – ด้วยกลิ่นและจมูกของเรานี่แหละ!

น่าเสียดาย ที่เฮนชอว์เสียชีวิตไปเมื่อปี 2014 ด้วยวัยเพียง 43 ปี ทำให้แนวคิดที่ดูแหวกแนวล้ำสมัยไม่เหมือนใครของเธอคล้ายถูกละเลยไปไม่มีใครสานต่อ แต่โชคดีที่ในปี 2013 หนังสือ Urban Smellscapes: Understanding and Designing City Smell Environments ของเธอออกวางจำหน่ายมาก่อนแล้ว หนังสือเล่มนี้จึงเป็นหนังสือสำคัญในการศึกษาเรื่อง ‘กลิ่นในเมือง’ ที่เลยไกลไปถึงการวางผังและออกแบบเมืองในด้านที่เกี่ยวข้องกับกลิ่นด้วย

ในช่วงหนึ่งถึงสองทศวรรษที่ผ่านมา การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างผัสสะของมนุษย์ (Human Senses) กับมิติสัมพันธ์เชิงสังคม (Sociospatiality) มีความก้าวหน้ามาก มีคนทำวิจัยและศึกษาเรื่องนี้ไม่น้อย แต่การศึกษาความสัมพันธ์นี้มักเน้นหนักไปที่การมองเห็น (Visual) หรือเน้นไปที่ความเป็นอยู่ (Well-Being) ในมิติอื่นๆ โดยเรื่องหนึ่งที่เฮนชอว์เห็นว่าถูกละเลยเอามากๆ ก็คือเรื่องของกลิ่น

เฮนชอว์พยายามเสนอและวางรากฐานแนวคิดที่ว่า กลิ่นนั้นมีอิทธิพลต่อ ‘ประสบการณ์’ ในมิติสถานที่ ​(ทั้ง Space และ Place) เป็นอย่างมาก กลิ่นเองก็สามารถส่งอิทธิพลต่อการออกแบบเชิงสถาปัตยกรรม ซึ่งเมื่อมนุษย์มาอยู่รวมกันในเมือง ก็สามารถกินความกว้างไกลไปถึงการออกแบบเมืองได้ด้วย

หนังสือเล่มนี้มีเป้าหมายสองอย่าง อย่างแรกก็คือการสำรวจบทบาทของกลิ่นที่มีต่อการออกแบบและวางผังเมืองต่างๆ อย่างที่สองก็คือการ ‘คิดใหม่’ (Rethink) วิธีที่เราใช้มองความสัมพันธ์ระหว่างกลิ่นและการออกแบบเมือง 

เธอให้นิยามคำว่า Smellscape เอาไว้ว่าเป็น The totality of the olfactory landscape, accommodating both episodic (foregrounded or time limited) and involuntary (background) odours ซึ่งเธอเน้นย้ำเอาไว้ว่า กลิ่นนั้นแม้จะมีอิทธิพลกับพื้นที่เป็นอย่างมาก แต่มันไม่เหมือนกับภาพของวัตถุที่เห็นและจับต้องได้ ซึ่งมีความแข็งตัวอยู่กับที่ แต่กลิ่นจะล่องลอย เปลี่ยนแปลง บอบบาง ชั่วคราว และอาจไม่ชัดเจนได้

เมื่ออ่านงานของเฮนชอว์ ผมนึกถึงสวนสาธารณะสามแห่งในกรุงเทพฯ ที่อยู่ติดกัน ได้แก่สวนจตุจักร สวนรถไฟ และสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ซึ่งเป็นสวนใกล้บ้านที่ผมไปใช้บริการบ่อยครั้งที่สุด

สวนทั้งสามนี้มีบางอย่างละม้ายคล้ายกันเพราะอยู่ติดกัน แต่ก็กลับมีหลายอย่างแตกต่างกันอย่างมากด้วย 

เท่าที่มองเห็นด้วยตา สวนจตุจักรนั้นมีความ ‘เนี้ยบกริบ’ ที่สุด คือมีการตัดแต่งต้นไม้ใบหญ้าอย่างเป็นระเบียบ พุ่มไม้ต่างๆ มีการออกแบบสวยงามซับซ้อน สนามหญ้าเรียบเขียวงดงาม ในขณะที่สวนรถไฟมีลักษณะที่เป็นธรรมชาติกว่า บางส่วนมีลักษณะทึบคล้ายป่า เช่นส่วนที่เป็นอุทยานผีเสื้อ อาจด้วยเป้าหมายเพื่อดึงดูดผีเสื้อให้เข้ามาอยู่ ส่วนสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์นั้นมีทั้งสองลักษณะรวมกัน คือมีความเป็นระเบียบเนี้ยบกริบด้วย แต่เป็นระเบียบที่มีลักษณะแบบสวนอังกฤษปนอยู่ไม่น้อย โดยมีบางส่วนที่มีลักษณะคล้ายป่าอยู่ด้วย ถ้าสังเกตให้ดี จะพบว่าทั้งสามสวนมีการออกแบบและดูแลรักษาให้แตกต่างกันออกไป 

แต่เรื่องหนึ่งที่แตกต่างมากจนสังเกตได้ชัดก็คือเรื่องกลิ่น

สวนจตุจักรนั้นไม่ค่อยมีไม้ที่ออกดอกแล้วให้กลิ่นเท่าไหร่ อาจเพราะไม่ได้มุ่งหมายจะเป็นสวนพฤกษศาสตร์ แต่เป็นสวนให้ความหย่อนใจผู้คน ส่วนสวนรถไฟแม้มีไม้หอมอยู่บ้าง เช่น พยอมหรือดอกไม้อื่นๆ แต่ก็มีอยู่ในสัดส่วนที่น้อยกว่า ในขณะที่สวนสิริกิติ์นั้น หากถึงฤดู เราจะได้กลิ่นหอมจางๆ (หรือบางทีก็หอมมาก) ของดอกไม้ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปแทบตลอดปี ด้วยเหตุนี้ หากจะนั่งพักผ่อนหย่อนใจในสวนเนี้ยบที่เข้าถึงได้ง่าย เราอาจใช้งานสวนจตุจักร เพราะเป็นระเบียบเรียบร้อยสะอาดตา แต่หากอยากวิ่งออกกำลังกายในพื้นที่เปิด สวนรถไฟดูจะเป็นทางเลือกที่ดีเพราะมีพื้นที่กว้างและมีภูมิประเทศหลายแบบสลับกันไป แต่หากอยากเดินเล่นหย่อนใจ สวนสิริกิติ์ก็น่าจะเป็นคำตอบ เพราะไม่ได้มีเพียงความรื่นตาเท่านั้น ทว่ายังมี ‘กลิ่น’ อันเป็นเอกลักษณ์ด้วย

นอกจากนี้ เฮนชอว์ยังทำให้ผมนึกไปถึงเครือข่ายในเชียงใหม่ที่มีชื่อว่า ‘เขียว สวย หอม’ อันเป็นเครือข่ายที่มุ่งหมายจะทำเมืองเชียงใหม่ให้ดีขึ้นตามชื่อเลย นั่นก็คือทำให้เชียงใหม่เขียว สวย และหอม ซึ่งก็เป็นไปตามคอนเซ็ปต์ของเฮนชอว์โดยแท้

เฮนชอว์ชวนเราว่า ให้เรามาลองใช้ New Sensory หรือผัสสะแบบใหม่ ในการ Approach เข้าสู่ Urbanism กัน เธอบอกว่า ทุกอย่างล้วนมีกลิ่นทั้งสิ้น เช่น กลิ่นอาหาร ถ้าเรานึกถึง Food Street ในเมืองใหญ่ๆ หลายแห่ง เราจะพบว่ามันมีการ ‘ออกแบบกลิ่น’ อยู่แล้ว ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว เช่นถนนที่มีการปิ้งสะเต๊ะในสิงคโปร์ ถนนในไต้หวันที่มีการผัดหรืออบอาหาร ทำให้กลิ่นเหล่านี้โชยไปทั่วบริเวณ ยั่วน้ำลายผู้มาเดินให้ต้องควักกระเป๋าจับจ่ายใช้สอย 

ถนนเหล่านี้ไม่ควรจะอยู่ปะปนไปกับสิ่งอื่นๆ ที่ให้กลิ่นขัดแย้งกัน เช่น มีโรงกลึง โรงงาน โรงเชื่อมเหล็ก โรงฟอกหนัง ฯลฯ มาอยู่ใกล้ๆ เพราะกลิ่นที่เป็นกลิ่นโลหะ กลิ่นน้ำมันเครื่อง หรือร้ายแรงที่สุดก็คือกลิ่นสารที่ใช้ฟอกหนังนั้น ทำลายอรรถรสในการเป็น Food Street ลงอย่างสิ้นเชิง

เฮนชอว์บอกว่า อาหารนั้นเป็นเหมือน ‘เครื่องมือ’ ในการแสดงออกและหล่อหลอมปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน มันเป็นเหมือนของขวัญเบื้องต้นที่มนุษย์มอบให้แก่กันได้ ดังนั้น กลิ่นของอาหารจึงมี ‘ความหมายทางสังคม’ (Social Meanings) อย่างสูงมาก

ถ้าใครเคยไปเดินเล่นในย่านเมืองเก่าของจันทบุรีหรือสงขลา ก็จะพบเลยว่า เมืองเก่าทั้งสองมี ‘กลิ่น’ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อย่างจันทบุรีนั้น กลิ่นของเมืองเป็นกลิ่นผสมผสานของอาหารหลากเชื้อชาติ ทั้งอาหารจีน อาหารไทย อาหารเวียตนาม และกระทั่งอาหารฝรั่งเศส เมืองเก่าสงขลาเองก็เช่นกัน มีทั้งชุมชนพุทธ มุสลิม และคริสต์ อยู่ปะปนกันอย่างใกล้ชิด เหล่านี้ทำให้เกิดสิ่งที่เฮนชอว์เรียกว่าเป็น ‘อัตลักษณ์ทางกลิ่น’ (Odour Identity) ขึ้นมา ซึ่งหากไม่มีใครสนใจ มันก็อาจจะหายไป หรือถูกกลิ่นอารยธรรมอื่นๆ (เช่น กลิ่นเครื่องปรับอากาศจากบ้านเรือน โรงแรม และห้างร้าน) เข้ามาเกลื่อนกลืนไปได้ นั่นเพราะกลิ่นเป็นสิ่งที่บอบบาง ชั่วคราว และสูญหายไปได้เร็วมาก แต่ในอีกด้านหนึ่ง เราก็สามารถออกแบบและวางผังเพื่อให้เมืองยังคงมีกลิ่นเป็นเอกลักษณ์เหล่านี้ได้อยู่

เฮนชอว์ทำวิจัยปริญญาเอกของเธอด้วยเรื่องของ Smellwalking หรือการเดินเท้าไปในสิ่งแวดล้อมต่างๆ ด้วยการเปิดจมูกรับกลิ่นของเมือง และพยายามสร้างวิธีแบบ Proactive สำหรับการออกแบบและจัดการกลิ่นของเมืองขึ้นมา ไม่ใช่แค่เรื่องของกลิ่นหอมเท่านั้น แต่รวมไปถึงกลิ่นเหม็นต่างๆ ที่บ่งบอกได้ด้วยว่าเมืองนั้นๆ มีลักษณะเป็นอย่างไร

เธอเคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Wired ว่า ตั้งแต่มนุษย์เดินตัวตรงได้ ความสามารถในการรับกลิ่นของเราก็เริ่มหายไป นั่นเพราะพอเราเดินตัวตรง เราหันมาให้ความสำคัญกับการมองเห็นมากกว่า ในยุคกรีกโรมันก็ไม่มีใครสนใจผัสสะเรื่องกลิ่น โดยมักจะมองกันว่า กลิ่นเป็นผัสสะที่ไม่สูงส่งเท่าผัสสะอื่นๆ กลิ่นเกี่ยวพันกับความปรารถนาในการบริโภคมากกว่า ไม่ละเมียดละไมเท่ากับการมอง (ทัศนศิลป์) และการได้ยิน (คีตศิลป์) แม้กลิ่นจะมีส่วนสำคัญในการแยกแยะความอร่อยของรสชาติ แต่เราก็กลับให้ความสำคัญกับลิ้น (ปากศิลป์) มากกว่า

เธอย้ำว่า นักออกแบบในโลกตะวันตกมักจะสนใจกลิ่นในแง่ของการควบคุมและจัดการ เช่นการแยกขยะ การสร้างกลิ่นหอม การอำพรางกลิ่น แต่ไม่ได้สนใจเรื่องของการอนุรักษ์ สงวนรักษา หรือศึกษาเรื่องกลิ่นลึกลงไปว่ามันเป็นตัวแทนของชุมชนได้ 

ในเรื่องนี้ เธอบอกว่าเราสามารถดูตัวอย่างได้จากญี่ปุ่น ซึ่งมีการประกาศ 100 Sites of Good Fragrance ทั่วประเทศ ให้เป็นสถานที่ที่ต้องได้รับการคุ้มครองเรื่องกลิ่น อย่างเช่น ทะเลหมอกของเมืองคูชิโร (Kushiro) บนเกาะฮอกไกโดที่มีกลิ่นทะเลเฉพาะตัว หรือกลิ่นกาวในย่านของคนทำตุ๊กตาญี่ปุ่นของเมืองโคริยามะ (Koriyama) ในฟุกุชิมะ

หลายคนอาจมองว่า กลิ่นเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ หรือเห็นว่าแนวคิดของเฮนชอว์นั้นประหลาดเกินไป แต่ที่่จริงแล้ว เราต้องหายใจอยู่ตลอดเวลา ปัญหาอย่างฝุ่น PM2.5 หรือกลิ่นที่เราสูดดมเข้าไปทุกเมื่อเชื่อวันในเนื้อเมืองที่สักแต่อยู่โดยไม่ได้มีการออกแบบดูแลกลิ่นนั้น – แท้จริงก็บ่งบอกได้เหมือนกันว่าเราอาศัยอยู่ในที่ทางแบบไหน

สำหรับบางคน – มันอาจไม่สำคัญ แต่สำหรับเฮนชอว์แล้ว เธอทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อศึกษามัน