คุณค่าที่แทัจริงของสวนในเมือง: เมื่อความรู้อยู่ในสวน

เวลาพูดถึงสวนในเมือง (เช่น สวนสาธารณะ) เรามักนึกถึง ‘คุณค่า’ ของสวนเหล่านั้น ในฐานะที่เป็นแหล่งออกกำลังทางกาย (Physical Quality) เป็นที่ที่สวยงามเอาไว้พักผ่อนหย่อนใจ (Aesthetic Quality) ซึ่งทำให้เกิดเป็น ‘ทรัพย์สิน’ ของเมือง ในแง่ของสันทนาการและทัศนียภาพ

แต่ในปัจจุบันนี้ คำว่า ‘สวนในเมือง’ ไม่ได้มีคุณค่าแค่สองเรื่อง คือเอาไว้วิ่งออกกำลังกายและเดินดูดอกไม้ใบหญ้าเท่านั้น แต่มุมมองใหม่ก็คือ การใช้สวนให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนในเรื่องอื่นๆ ที่กว้างขวางขึ้นด้วย

แต่เดิม สวนในเมืองหรือสวนสาธารณะ มักจะอยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เช่นถ้าเป็นกรุงเทพฯ ก็อาจจะเป็นกรุงเทพมหานคร หรือถ้าเป็นลอนดอน ก็อาจเป็น Greater London Authority ซึี่งทำหน้าที่คล้ายๆ กรุงเทพมหานครของเรานี่แหละครับ 

ในสมัยก่อน สวนในเมืองไม่ได้มี ‘หน้าที่’ (function) มากนัก นอกจากหน้าที่ในการออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจแล้ว อีกหน้าที่หนึ่งก็คือเอาไว้ ‘เชิดหน้าชูตา’ เมือง ซึ่งมีผลต่อเนื่องทำให้มูลค่าที่ดินรอบๆ สวนสาธารณะสูงขึ้น

เคยมีงานวิจัยเก่าตั้งแต่ปี 1974 พบว่าเมื่อมีการสร้างสวนสาธารณะในกรุงฟิลาเดลเฟีย พบว่ามูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่รอบๆ พุ่งทะยานสูงขึ้นกว่าสิบเท่า คือพื้นที่ที่อยู่ห่างสวนเกิน 2,500 ฟุต จะมีมูลค่าที่ดินราวๆ 1,000 เหรียญต่อเอเคอร์ แต่ถ้าอยู่ติดสวน คืออยู่ไม่เกิน 40 ฟุต มูลค่าจะพุ่งขึ้นเป็น 11,500 เหรียญต่อเอเคอร์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สวนสาธารณะมีหน้าที่ซ่อนเร้นอยู่ข้างใต้ คือเป็นตัวทำให้มูลค่าที่ดินในเมืองสูงขึ้น 

แต่ถึงสวนจะทำให้เมืองมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ก็ต้องบอกคุณด้วยว่า ในสมัยก่อน คำว่า ‘พื้นที่สาธารณะ’ (อย่างเช่นสวนในเมือง) ไม่ได้มี ‘ความหมาย’ มากเท่าในปัจจุบัน เพราะสมัยก่อนคนไม่ได้อพยพเข้ามาอยู่ในเมืองมากขนาดนี้ การที่เกิดเทรนด์ Urbanization หรือมนุษย์ย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองกลายเป็นมนุษย์เมืองมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในประวัติศาสตร์ ทำให้มนุษย์จำเป็นต้องลด ‘พื้นที่ส่วนตัว’ ลงมา เช่น ที่อยู่อาศัยคับแคบลง มนุษย์เมืองไม่อาจมีบ้านที่มีสนามหญ้าเขียวๆ กว้างๆ เลี้ยงหมาเลี้ยงแมวให้วิ่งเล่นไปมาได้เหมือนก่อนแล้ว แต่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์หรือคอนโดมิเนียม ทำให้เมืองกลายเป็นเมืองแนวดิ่งมากขึ้น พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เราไม่สามารถมี ‘พื้นที่สีเขียว’ เป็นการส่วนตัวได้อีกต่อไป แต่ต้องหันไปพึ่งพิงพื้นที่สาธารณะเพื่อทำกิจกรรมที่เติมเต็มความเป็นมนุษย์มากขึ้น

เมื่อพื้นที่ส่วนตัวหดแคบลง พื้นที่สาธารณะต่างๆ นอกเหนือจากพื้นที่สีเขียวก็ทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ มนุษย์เมืองยุคใหม่มี ‘สำนึก’ ต่อพื้นที่สาธารณะไม่เหมือนเก่า พวกเขาไม่ได้เห็นว่าพื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีไว้งั้นๆ แต่คนเหล่านี้ตระหนักว่าพื้นที่สาธารณะมีคุณค่าต่อชีวิตจริงๆ เพราะคอยเติมเต็มมิติต่างๆ ให้ชีวิตที่ไม่อาจมีได้ ไม่อาจเสาะหามาครอบครองเป็นของส่วนตัว เพราะมีราคาแพงเกินไปเนื่องจากเมืองมีความหนาแน่น

ด้วยเหตุนี้ การทำให้ ‘สวนในเมือง’ มีหน้าที่ (function) เพียงแค่เป็น ‘สวน’ คือเอาไว้ออกกำลังกาย เดินเล่น หรือใช้พักผ่อนหย่อนใจ จึงเป็นเรื่องที่ ‘เสียเปล่า’

ในหลายเมือง จึงเกิดแนวคิดใหม่ๆ ขึ้นมาเต็มไปหมด และจากเดิมที่มีแค่ ‘หน่วยงานภายใน’ (เช่น กรุงเทพมหานครหรือ Greater London Authority) เป็นผู้รับผิดชอบ ในปัจจุบันก็มีหน่วยงานที่สามหรือ Third Party ยื่นมือเข้ามาขอมีส่วนร่วมในการ ‘พัฒนา’ พื้นที่สาธารณะอย่างเช่นสวนในเมืองในมิติอื่นๆ ด้วย

อ้าว! แล้วแค่หน่วยงานที่ดูแลสวนนี่ไม่เพียงพอหรืออย่างไร 

คำตอบก็คือ – ปัจจุบันนี้โลกซับซ้อนมาก ดังนั้น ความต้องการใช้พื้นที่ก็มีความซับซ้อนตามไปด้วย เช่น กรุงเทพมหานครหรือ Greater London Authority อาจเก่งในเรื่องการจัดการพื้นที่โดยรวม แต่ถ้าให้สร้างห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ หรือสาธารณูปโภคอื่นๆ ที่มีลักษณะเป็นศูนย์กลางความรู้ (Knowledge Center) ในสวน ก็อาจบริหารจัดการไม่ถนัดนัก เช่น ไม่รู้ว่าควรต้อง curate งานอย่างไร ต้องดูแลรักษาหนังสืออย่างไร หรือต้องจัดระบบข้อมูลต่างๆ ให้สอดรับกับโลกออนไลน์ยุคใหม่อย่างไรบ้าง

ด้วยเหตุนี้ ในหลายเมือง Third Party มากมายจึงเข้ามาเกี่ยวข้องกับการจัดการสวน เพื่อสร้างพื้นที่ใหม่ๆ ให้กับสวนในเมือง โดยมีเป้าหมายแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าสวนนั้นๆ มี ‘ศักยภาพ’ ที่จะพัฒนาต่อเนื่องไปเป็นอะไรได้บ้าง

มุมมองใหม่ที่มีต่อสวนในเมืองทั่วโลกมีหลายอย่าง อาทิเช่น

 

1. ช่วยให้เด็กและคนหนุ่มสาวในเมืองที่คุ้นเคยกับการใช้พื้นที่สาธารณะได้เข้ามาใช้พื้นที่ในหลายมิติ

เช่น ด้านร่างกาย (คือออกกำลังกาย) ด้านอารมณ์ (คือใช้พักผ่อนหย่อนใจ) ด้านสติปัญญา (คือเป็นพื้นที่ความรู้) และด้านความสัมพันธ์ทางสังคม (คือใช้เป็นที่พบปะกัน) 

ตัวอย่างเช่น ที่ชิคาโก มีสวนสาธารณะชื่อ Garfield Park ที่เปิดศูนย์ชื่อ Garfield Park Conservatory Alliance ขึ้น ศูนย์นี้มีโปรแกรมที่สร้างสรรค์เพื่อพุ่งเป้าไปที่เด็กๆ และคนหนุ่มสาว เช่น สนับสนุนให้คนเหล่านี้ได้เข้ามา ‘ทำสวน’ จริงๆ เนื่องจากพื้นที่เมืองนั้นแออัด ไม่มีใครมีพื้นที่ทำสวนได้ การเปิดสวนสาธารณะให้เด็กๆ ได้เข้ามาเรียนรู้ถึงศาสตร์การปลูกพืชสวน (Horticulure) ทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับสวนจริงๆ และได้รับความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม พืชและสัตว์ต่างๆ รวมถึงปลูกฝังความ ‘รักเมือง’ เพราะเห็นคุณค่าของพื้นที่จริงๆ ไม่ได้แค่เข้ามาใช้พื้นที่เพื่อวิ่งเล่นออกกำลังเฉยๆ

หรือในนิวยอร์ค ที่เซ็นทรัลปาร์คนั้นมีโปรแกรมมากมายหลายอย่างอยู่แล้ว แต่มีโปรแกรมหนึ่งของศูนย์ชื่อ North Meadow Recreation Center ซึ่งร่วมมือกับโรงเรียนและชุมชนในท้องถิ่น จัดสอนหลักการเรื่องสรีรวิทยา (anatomy) เพื่อให้คนได้เรียนรู้ร่างกายของตัวเอง รวมไปถึงเรื่องการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับร่างกาย ดังนั้นคนที่เข้าร่วมโปรแกรมนี้ จึงได้เรียนรู้ถึงร่างกายตัวเองในแง่ลึก และดูว่าการออกกำลังกายแบบไหนเหมาะกับตัวเอง เป็นต้น

 

2. ใช้สวนในเมืองเพื่อเป็นสถานที่สำหรับสร้างงานแบบใหม่ๆ 

ที่จริงเรื่องนี้ กรุงเทพมหานครทำอยู่แล้ว เช่น มีศูนย์ฝึกอาชีพต่างๆ ที่อยู่ตามพื้นที่สาธารณะ ซึ่งบางแห่งก็เป็นศูนย์ฝึกอาชีพที่อยู่ในสวนด้วย แต่ในโลกปัจจุบันที่ซับซ้อนมากขึ้น การแสวงหาความร่วมมือจาก Third Party ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จะทำให้การสร้างงานหรือ ‘ฝึกอาชีพ’ เกิดความเป็นไปได้หลากหลายมากขึ้น เช่น เปิดเวิร์คช็อพต่างๆ สร้างพื้นที่ maker lab ในสวน หรือการสร้างพื้นที่ในสวนให้เกิดเป็น co-working space ด้วยการจัดหาที่นั่ง เปิดไวไฟฟรี ฯลฯ

แนวคิดก็คือ สวนในเมืองเป็นเสมือน ‘ศูนย์กลาง’ ของเมืองที่ผู้คนต้องมารวมตัวกันอยู่แล้ว แต่ถ้ามีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สวนด้วยมิติที่ของการสร้างรายได้ให้ผู้คนในเมือง ก็จะยิ่งทำให้สวนมีคุณค่าต่อชีวิตคนจริงๆ มากขึ้นด้วย

 

3. สร้างต้นทุนทางสังคม

ที่จริงสองเรื่องข้างต้นก็เป็นการสร้างต้นทุนทางสังคมอยู่แล้ว แต่เป็นการสร้างแบบ active คือจัดทำโปรแกรมต่างๆ เพื่อดึงดูดคนให้เข้ามาในสวน แต่สวนในเมืองยุคใหม่ ยังสามารถสร้างต้นทุนทางสังคม (Social Capital) อีกแบบหนึ่งได้ด้วย นั่นคือต้นทุนแบบที่ไม่ได้หวังผลตรงๆ หรือเป็นต้นทุนแบบ passive แล้วแต่ว่าใครจะอยากเข้ามาเก็บเกี่ยวแสวงหาความรู้อะไรก็ได้ตามใจ

ต้นทุนที่ว่านี้ส่วนใหญ่แบ่งเป็นพื้นที่สองแบบ คือพิพิธภัณฑ์กับห้องสมุด เช่น Museum in the Park ของหลายที่ อย่างเช่นสวน Stratford Park ในอังกฤษ ที่ทำพิพิธภัณฑ์ไว้ในสวนเลย โดยมีทั้งพิพิธภัณฑ์ที่เป็นความรู้เกี่ยวกับท้องถิ่น และการใช้ประโยชน์จากสวนเพื่อ ‘สอน’ เรื่องราวประวัติศาสตร์การทำสวนแบบอังกฤษ ด้วยการสร้างเป็น Walled Garden หรือสวนแบบอังกฤษที่มีกำแพงล้อมรอบ

ในบางเมือง เช่น ชิคาโก อาจจะไม่ได้ทำพิพิธภัณฑ์ไว้ในสวน แต่เกิดความร่วมมือระหว่างสวนกับพิพิธภัณฑ์ แล้วจัดงานแสดงนิทรรศการขึ้นในสวนในช่วงที่อากาศดี (เช่นในฤดูร้อน) โดยทำโปรแกรมการแสดงงานศิลปะที่อยู่กลางแจ้งได้ เช่น งานประติมากรรม งาน installation ต่างๆ และให้ความรู้ในด้านศิลปะไปด้วยพร้อมกับบรรยากาศที่รื่นรมย์ในสวน หรือในมหาวิทยาลัยของอเมริกาหลายแห่ง ก็ทำสวนประติมากรรม เช่น Standford มี Rodin Sculpture Garden เป็นต้น กระทั่งพิพิธภัณฑ์ใหญ่ของนิวยอร์ค อย่าง Metropolitan Museum ก็อยู่ในพื้นที่เดียวกับเซ็นทรัลปาร์ค เป็นต้น พื้นที่ทั้งสองแบบซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะทั้งคู่ จะเสริมส่งซึ่งกันและกันในหลายมิติ

ส่วนห้องสมุดก็มีตัวอย่างมากมายที่เป็นสถานที่หรือเป็นอาคารห้องสมุดในสวน แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ ในหลายเมืองมีการจัดกิจกรรมการอ่าน เช่น Reading Rally หรือ Story Walk ในสวน เพื่อให้กิจกรรมการอ่านนั้นผนวกรวมเข้ากับสวนเลยโดยตรง เช่น ต้นไม้ที่เคยปรากฏในงานวรรณกรรมมีอะไรบ้างที่อยู่ในสวนนั้นๆ (ถ้าเป็นของไทยก็อาจเป็นพรรณไม้ในวรรณคดีก็ได้) การ ‘อ่านออกเสียง’ ใน ‘ฉาก’ ที่มีความเขียวขจีและงดงามของสวน จะทำให้ผู้เข้าร่วมซึมซับอรรถรสได้จริง ช่วยให้เสพงานศิลปะที่คนรุ่นใหม่อาจเห็นว่าน่าเบื่อหน่าย (เช่นวรรณคดี) ได้ด้วยวิธีที่แปลกใหม่ ไม่ง่วง ได้ออกกำลังกาย ได้ใช้ประโยชน์พื้นที่ด้วยการเดิน ซึ่งเป็นการเพิ่ม Walkability ให้เมือง แถมยังได้พบปะแลกเปลี่ยนกับคนอื่นๆ ตามเป้าหมายของการสร้างพื้นที่สาธารณะอีกด้วย

ในหลายเมือง มีการสร้างพื้นที่ความรู้แบบ Pop-Up ขึ้นมา เช่น Pop-Up Library ที่ Oack Park ในอิลลินอยส์ คือเป็นห้องสมุดชั่วคราวที่ทำง่ายๆ แค่ตั้งเต๊นท์ขึ้นมา ที่ทำแบบนี้ก็เพราะสวนมีขนาดใหญ่ ต้องการดึงดูดผู้คนให้เดินเข้าไปด้านในของสวน แต่ถ้าเป็นฤดูหนาว การเดินทางจะลำบาก จึงทำเป็นห้องสมุดชั่วคราวให้คนได้มาใช้งานเฉพาะในฤดูร้อนเท่านั้น ซึ่งก็ปรากฏว่าได้รับความนิยมจากชาวเมืองเป็นอย่างยิ่ง

 

ประเด็นสำคัญของการสร้างพื้นที่ใหม่ๆ ในสวน ก็คือการแสวงหา ‘หุ้นส่วน’ (Partnership) ที่เป็นบุคคลที่สาม (Third Party) เข้ามาจัดทำโน่นนั่นนี่ในเมือง โดยต้องคำนึงถึงหลักการใหญ่ๆ พื้นฐาน เช่นว่า ใครจะเป็นผู้เข้ามาใช้สวนบ้าง, อยากให้คนใช้สวนอย่างไร, ทำไมชุมชนนั้นๆ จึงจะต้องเข้ามาใช้สวนในรูปแบบนั้นๆ และสุดท้ายแล้วจะเกิดอะไรขึ้นขึ้นในสวนได้บ้าง

เราอาจรู้สึกว่า สวนในเมืองก็เป็น ‘สวนสาธารณะ’ อยู่แล้ว แต่การสร้าง ‘พื้นที่สาธารณะ’ แบบอื่นๆ เช่นพื้นที่ความรู้ ฯลฯ ซ้อนทับลงไปในพื้นที่ของสวนในเมือง จะยิ่งช่วยสร้าง ‘คุณค่า’ ให้สวนนั้นๆ มากขึ้น และเป็นแนวทางที่สอดรับกับวิถีชีวิตแห่งศตวรรษที่ 21 ที่มนุษย์จะเข้ามาอยู่ในเมืองกันมากขึ้นด้วย