ละคร ‘นาง (ร้าย)’ เปิดฉากมาก็ ‘แรง’ เลย เป็นความแรงทั้งการแสดงและเนื้อหา ด้วยแววตาสั่นระริก น้ำตาคลอเบ้าตา พวงหรีด การกระแทก และความบาดเจ็บของการสูญเสีย ‘ชาติ’
‘ชาติ’ ในที่นี้ คือชื่อของผู้ชายคนหนึ่งที่ถูกพรากไป ไม่ว่าอย่างไร ผู้หญิงคนที่ยืนอยู่ตรงหน้า ผู้หญิงที่มีเลือดเนื้อและความรู้สึก ก็จะไม่มีวันได้เป็นเจ้าของผู้ชายชื่อ ‘ชาติ’ คนนั้นไป เพราะเขาไม่ใช่ของของเธอ
‘นาง (ร้าย)’ แบ่งออกเป็นช่วงใหญ่ๆ ได้ราวสามสี่ช่วง แต่ละช่วงมีเรื่องราวความซับซ้อนและเซอร์ไพรส์ต่างๆ ในตัวของมันเอง สิ่งที่ทำให้ทึ่งมากที่สุด น่าจะเป็นฝีมือการแสดงของนักแสดงทั้งสามคน คือ บุ๋ม-รัญญา ศิยานนท์, นุ่น-ศิรพันธุ์ วัฒนจินดา และก้อย-อรัชพร โภคินภากร เพราะบททั้งหมดซับซ้อน และต้องแสดงอารมณ์หลากหลายมาก
เอาง่ายๆ ก็คือ แต่ละช่วงของละคร (ที่จะเรียกว่า ‘องก์’ ก็อาจจะได้) ตัวละครต้องเล่นคนละแบบหมดเลย ตั้งแต่เล่นแบบละครเวที + ละครโทรทัศน์ คือเป็นละครเวทีที่มีกลิ่นอายแบบละครโทรทัศน์ ซึ่งคือเล่น ‘ใหญ่’ ทั้งสองแบบ แต่ใหญ่คนละแบบกัน โดยทุกคนต้องดึงการเล่น ‘ใหญ่’ ทั้งสองแบบออกมาผสมผสานกันให้ได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
นอกจากนี้ บางช่วงก็ต้องเล่นให้ ‘เรียล’ ด้วย เรียลในที่นี้คือเรียลมากๆ จริงแบบเป็นมนุษย์จริงๆ แล้วยังมีการตัดสลับไปเป็นเล่นแบบหนังไทย รวมไปถึงการเล่นแบบรายการทอล์คโชว์ และยังมีโมโนล็อกอีก อีกทั้งบทก็ยังไขว้กันไปไขว้กันมา เดี๋ยวเป็นตัวนั้นตัวนี้ แสดงให้เห็นว่านักแสดงเก่งกันมากๆ แค่ไปดูการแสดงก็คุ้มมากแล้ว
แต่ที่ ‘เผ็ด’ ไม่แพ้การแสดง ก็คือ subtext ที่ซ่อนอยู่ใต้ตัวบท ฉาก และสัญลักษณ์ต่างๆ ในละคร ทั้งหมดในเรื่องล้วนเป็นเรื่องของ ‘นางร้าย’ หลายๆ แบบ มีทั้งร้ายจริง ร้ายไม่จริง พยายามร้าย ร้ายร้อน ร้ายเย็น ร้านยั่ว ร้ายลึก ฯลฯ แต่ทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นแบบ ‘ย้อนยุค’ และค่อยๆ ย้อนไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเก่าสุดขีด
ที่ซ่อนอยู่ในเนื้อหาความร้ายของการย้อนยุค ก็คือการ ‘แสดง’ หรือ ‘เปิดโปง’ ให้เห็นว่า เบื้องหลังความร้ายทั้งหลายทั้งปวงนั้น ยังมีโครงสร้างเนียนๆ ที่ ‘ร้าย’ เสียยิ่งกว่าความร้ายของนางร้ายเหล่านี้ซุกซ่อนอยู่ เช่น สีของข้าวของต่างๆ ตั้งแต่ปืน แก้วน้ำ รถเข็น ซึ่งเป็นสีเดียวกันทั้งหมด
ละครยังทำให้เราเห็นด้วยว่า บรรดาการแก่งแย่งชิงดี การฆ่าฟันกัน การแย่งชิงทรัพย์สมบัติ ความรัก จนถึงการแย่งชิงสถานะในสังคม ล้วนแล้วแต่ไม่ได้เกิดขึ้นโดยตัวของมันเอง แต่มี ‘ความเจ็บปวด’ บางอย่างเป็นกลไกชักใยอยู่ข้างหลัง เราก่นด่ากันเอง วางยาพิษใส่กัน เอาปืนยิงกัน แต่แท้จริงแล้วกลับมี ‘เรื่องอื่น’ ที่เราควบคุมไม่ได้เป็นฉากหลังคอยควบคุมเราในแบบที่เรามองเห็นได้ยากอีกทีหนึ่ง
แม่นม คุณหญิง เมียหลวง เมียที่สี่ หญิงใหญ่ หญิงเล็ก หญิงจิ๋ว นักการเมือง นางงาม พนักงานบริษัท ฯลฯ เหล่านี้ล้วนทะเลาะเบาะแว้งตบตีกันอยู่ตลอดเวลา โดยฉากที่ ‘พีค’ ท่ีสุดสำหรับผมก็คือ – บางครั้งพวกเธอก็ตบตีกันโดยไม่รู้เลยด้วยซ้ำ, ว่าทำไปทำไม อะไรคือเหตุผล อะไรเป็นสาเหตุ
สิ่งที่มองไม่เห็นทำให้เราร้ายใส่กัน ความบีบคั้นต่างๆ ทำให้เราลืมไปว่า เราควรรักอะไร และเราควรมองให้เห็นว่า สิ่งที่เป็น ‘ปัญหา’ หรือเป็น ‘อาวุธ’ ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมานั้น – มันมีสีอะไร, และมีที่มาจากไหน ทำไมบางครั้งเราจึงกดข่มคนอื่น และทำไมบางครั้งเราถึง ‘ยอม’ ให้คนอื่นกดข่มเราได้ขนาดนั้น
‘นาง (ร้าย)’ ไม่ได้ตั้งคำถามพวกนี้ออกมาตรงๆ แต่คำถามเหล่านี้ดำรงตนอยู่เงียบงันในท่ามกลางการตวัดเสียง ความตลกขบขัน การเล่นล้อกับมายาคติและขนบของนางร้ายในละคร รวมถึงการใช้สื่อที่หลากหลายและชาญฉลาดเพื่อขับเคลื่อนละครให้ดำเนินไปแบบเดียวกับชีวิตจริงของพวกเราทุกคน
เพราะในชีวิตจริงที่ดำรงอยู่ มีบางสิ่งคอยกำกับควบคุมเราอยู่เงียบงัน เยียบเย็น ไม่รู้ตัว และบีบให้เราต้องส่งเสียงกรีดร้องออกมาอย่างไร้สติจนไม่อาจถูกมองว่าเป็นอื่นใดไปได้ – นอกจากนางร้ายที่บ้าคลั่ง