พูดได้ว่า เบนจามิน แฟรงคลิน คือบุรุษผู้เป็นตัวแทนแห่ง ‘ความรู้’
แฟรงคลินคือคนที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นตัวแทนของ ‘ความรู้’ แบบรอบด้านที่เรียกว่า ‘พหูสูตร’ หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Polymath แบบเดียวกับนักคิดและปราชญ์โบราณจำนวนมาก เช่นอริสโตเติล หรือ ลีโอนาร์โด ดาวินชี เป็นต้น
แต่แฟรงคลินไม่ได้เป็นแค่ ‘นักคิด’ ที่รอบรู้เท่านั้น เขายังเป็นคนที่เชื่อในความดีและความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ หรือการ ‘ให้’ สิ่งที่ดีๆ กับคนอื่นๆ ด้วย ซึ่งถ้าเรียกเป็นภาษาอังกฤษก็ต้องบอกว่าเขาเป็นคนที่เชื่อใน Altruism คนหนึ่ง
แฟรงคลินนั้นมองโลกในแง่บวกมากเสียจนเคยเล่าถึง ‘หลักการ’ อย่างหนึ่งที่เขาสังเกตพบ – ว่าในมนุษย์เรานั้น ถ้ามีใครคนหนึ่งเป็นคนที่เป็น ‘ผู้ให้’ กับคนอื่นแล้ว ก็มีแนวโน้มอย่างมากที่คนคนนั้นจะเป็น ‘ผู้ให้’ ต่อไปอีก แม้ว่าเขาจะ ‘ได้รับ’ ตอบแทนกลับจากการให้นั้นน้อยกว่าการให้ของตัวเองก็ตามที
เขาเขียนว่า – He that has once done you a kindness will be more ready to do you another, than he whom you yourself have obliged.
โดยแฟรงคลินเล่าถึงนักกฎหมายคนหนึ่ง ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นคู่แข่งหรือเป็นปรปักษ์กับเขา แต่แฟรงคลินได้ยินว่า คู่แข่งคนนี้มีหนังสือที่หายากมากแต่น่าสนใจอย่างมากอยู่เล่มหนึ่ง เขาจึงเขียนจดหมายน้อยไปหา แล้วแสดงความปรารถนาอยากขอยืมหนังสือเล่มนี้สักสองสามวัน ปรากฏว่าปรปักษ์คนนี้ส่งหนังสือมาให้เขาโดยเร็ว แล้วเขาก็อ่านหนังสือ พร้อมกับส่งคืนกลับไปในไม่กี่วัน
เมื่อทั้งคู่พบกันอีกครั้ง แฟรงคลินเล่าว่าอีกฝ่ายเข้ามาทักทายเขาในแบบที่ไม่เคยทักทายมาก่อน และบอกเขาว่า ถ้าแฟรงคลินอยากให้ช่วยเหลืออะไรอีก เขาก็ยินดีจะช่วย นั่นทำให้ทั้งคู่เปลี่ยนจากคู่แข่งที่มีความเป็นปรปักษ์กัน กลายมาเป็นเพื่อนจนกระทั่งวันตาย
ลักษณะแบบนี้ นักจิตวิทยาเรียกว่า Benjamin Franklin Effect หรือ ‘ผล’ แบบเบนจามิน แฟรงคลิน ซึ่งก็มีการทดลองทางจิตวิทยาต่อเนื่องมา โดยมีคำอธิบายอย่างหนึ่งบอกว่า เกิดขึ้นจากการรับรู้ที่ไม่สอดคล้องกัน (หรือ Cognitive Dissonance) คือความคิด ทัศนคิต และการกระทำ ไม่สอดคล้องกัน ในกรณีนี้ของ Franklin Effect ความไม่สอดคล้องกันก็คือ ‘ทัศนคติ’ ในแง่ลบ ที่มีต่อคนอีกคนหนึ่ง กับ ‘ความรู้’ ที่เขามอบให้คนคนนั้น
ซึ่งถ้านึกถึงมนุษย์โดยทั่วไปแล้ว เราอาจคิดว่า เราไม่ควรจะมอบ ‘ความรู้’ อะไรให้กับ ‘ศัตรู’ ของเรา แต่แฟรงคลินบอกว่า การทำแบบนี้ ในที่สุดจะทำให้ศัตรูเปลี่ยนกลับมาเป็นมิตร ซึ่งลักษณะแบบนี้นี่แหละครับ ที่เรียกได้ว่าเป็น Altruism หรือความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ขั้นสูงสุด ซึ่งก็เหมือนกับที่พระเยซูบอกให้เรารักศัตรูของเรานั่นเอง
ประหลาดดี ที่ Franklin Effect ทำให้ผมนึกย้อนกลับมาถึง ‘พื้นที่แห่งความรู้’ ในสังคมไทย
ถ้าคุณพาเบนจามิน แฟรงคลิน มาสู่เมืองไทยยุคปัจจุบันได้ แล้วถามเขาว่าอยากไปเที่ยวไหนในกรุงเทพฯ มากที่สุด เชื่อว่าเขาน่าจะตอบว่า – อยากไปดูห้องสมุด
คำถามก็คือ ถ้าเราอยากพาเบนจามิน แฟรงคลิน ไปดูห้องสมุด หอสมุด หรือแม้แต่พื้นที่เรียนรู้ หรือ Knowledge Sapce สักแห่งในกรุงเทพฯ เราควรพาบิดาแห่งความรอบรู้และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ผู้นี้ไปที่ไหนดี
ตอบตรงๆ – ผมยังนึกไม่ออกเลยครับ
ที่จริงแล้ว เวลาพูดถึงเบนจามิน แฟรงคลิน เราอย่าไปนึกถึงเนิร์ดหรือศาสตราจารย์คร่ำเคร่งอยู่แต่กับตำรานะครับ เพราะแฟรงคลินเป็น ‘นักทำ’ ด้วย เราคงจำเรื่องเล่าเกี่ยวกับการค้นพบกระแสไฟฟ้าได้ว่า แฟรงคลินเคยชักว่าวในพายุ เพื่อพิสูจน์ว่าฟ้าผ่าฟ้าแลบนั้น แท้จริงก็คือกระแสไฟฟ้าอย่างหนึ่ง ซึ่งต่อมาส่งผลให้เกิดประดิษฐกรรมใหม่ๆ ขึ้นอีกมาก (รวมถึงการประดิษฐ์ ‘สายล่อฟ้า’ ที่แฟรงคลินเป็นต้นตำรับด้วย)
แต่แฟรงคลินไม่ได้ ‘ทำ’ แค่นั้นนะครับ เขายัง ‘ทำ’ อะไรต่อมิอะไรอีกมากด้วย เช่น การศึกษาประชากรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการศึกษาที่ขัดกับหลักการในศาสนาคริสต์ที่เชื่อว่าประชากรไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่แฟรงคลินพบว่า ประชากรอเมริกันนั่นแหละ ที่กำลังมีอัตราเพิ่มเร็วที่สุดในโลกยุคนั้น งานของแฟรงคลินกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับโธมัส มัลธัส ต้นตำรับประชากรศาสตร์ในเวลาต่อมา
แฟรงคลินยังศึกษากระแสน้ำในมหาสมุทรแอตแลนติกร่วมกับคนอื่นๆ จนกระทั่งทำแผนที่และตั้งชื่อกระแสน้ำที่ทุกวันนี้เรารู้จักกันในชื่อ Gulf Stream อันเป็นตัวการทำให้ยุโรปและอเมริกาทางตอนเหนือๆ มีความอบอุ่นเนื่องจากกระแสน้ำอุ่นพัดมาจากเส้นศูนย์สูตร แล้วยังสนใจเรื่องทฤษฎีคลื่นของแสง การทำความเย็น อุตุนิยมวิทยา การเล่นดนตรี การเล่นหมากรุก การอ่านการเขียน การออกหนังสือพิมพ์ ประชาธิปไตย การเมืองการปกครอง รวมถึงความรู้หลากแขนง ซึ่งทั้งหมดนี้ ทำให้เขากลายเป็นหนึ่งใน Founding Fathers หรือกลุ่มบิดาแห่งอเมริกา ผู้พาอเมริกาออกจากอิทธิพลของอังกฤษ และประกาศอิสรภาพ
ทั้งหมดนี้ เบนจามิน แฟรงคลิน ไม่ได้นั่งอยู่เฉยๆ ในห้องส่วนตัว แล้วก็อ่านเขียนไปตามเรื่อง แต่เขาปรากฏตัวอยู่ใน ‘พื้นที่สาธารณะ’ และพยายามนำ ‘ความรู้’ ที่ได้ออกสู่สาธารณะ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและต่อยอดความรู้เหล่านั้นให้เพิ่มขึ้นไป
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เบนจามิน แฟรงคลิน มีกระบวนการเรียนรู้ที่ปัจจุบันกำลังฮิตพูดถึงกันในวงการศึกษาไทย นั่นก็คือมี Active Learning อยู่ตลอดเวลา โดยผ่านทั้งการศึกษา การแลกเปลี่ยนกับคนอื่น และรวมไปถึงการ ‘ลงมือทำ’ ด้วย
และเพราะความเป็น ‘นักทำ’ นี่แหละครับ ที่ทำให้แหล่งเรียนรู้สาธารณะในอเมริกาหลายแห่ง โดยเฉพาะห้องสมุดต่างๆ ได้รับแรงบันดาลใจจากปรัชญาของแฟรงคลิน (ที่ได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่) และเริ่มเปลี่ยนตัวเองจากการเป็น Library ที่คร่ำครึ ต้องเงียบฉี่ อ่านแต่หนังสืออย่างเดียว กลายมาเป็น Makerspace คือให้ผู้คนที่เข้ามาใน Makerspace นั้น ได้ลงมือ ‘ทำ’ อะไรบางอย่าง เพื่อให้ตอบรับกับวิธีเรียนรู้แบบ Active Learning ด้วย
ห้องสมุดแรกในอเมริกาที่มี Makerspace ด้วย ก็คือ Fayetteville Free Library ในรัฐนิวยอร์ค ซึ่งนำเอาเครื่องพิมพ์สามมิติเข้ามาใส่ไว้ในห้องสมุดด้วย และเปิดเป็นพื้นที่สำหรับ ‘นักทำ’ หรือ Maker ที่จะเข้ามาสร้างสรรค์อะไรก็ได้ จนในที่สุด พื้นที่นี้ก็กลายมาเป็น Fab Lab (มาจาก Fabrication Lab) ซึ่งต่อไปก็อาจพัฒนาไปเป็น Creation Lab หรือห้องปฏิบัติการแห่งความสร้างสรรค์ได้ในอนาคต
ปัจจุบันนี้ Makerspace ในอเมริกา แพร่หลายมาก ระบบห้องสมุดสาธารณะ (Public Library System) ในหลายเมือง เริ่มเปิดพื้นที่ให้เป็น Makerspace มากขึ้น เช่นในวอชิงตันดีซี มี Fab Lab มากกว่า 25 แห่ง และทั้งหมดเข้าไปใช้งานได้ฟรี (โดยอาจต้องเสียค่าอุปกรณ์บ้าง เช่นในกรณีใช้เครื่องพิมพ์สามมิติ)
คอลัมนิสต์จาก The Atlantic อย่าง เดบอราห์ ฟาลโลว์ส (Deborah Fallows) (ซึ่งจริงๆ ก็มีส่วนผลักดันให้เกิดพื้นที่เรียนรู้สาธารณะแบบ Makerspace) เคยบอกไว้ว่า ถ้าเธอพาเบนจามิน แฟรงคลิน มาในยุคปัจจุบันได้ เธอเชื่อว่าแฟรงคลินจะต้องอยากไปห้องสมุด และพื้นที่ในห้องสมุดที่แฟรงคลินน่าจะขลุกอยู่นานที่สุด ก็คือ Makerspace นี่เอง
เรื่องของเบนจามิน แฟรงคลิน รวมไปถึง Franklin Effect ทำให้ผมนึกย้อนกลับมาสู่ ‘พื้นที่เรียนรู้สาธารณะ’ ในไทย
เรายังมีพื้นที่สำหรับความรู้น้อยเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ Makerspace หรือพื้นที่สาธารณะเพื่อความรู้อื่นๆ
เรื่องของ Franklin Effect ทำให้ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า การที่เรามีพื้นที่แห่งความรู้น้อยนั้น เป็นไปได้ไหมว่ามันแสดงให้เห็นไปพร้อมกันด้วย ว่าเราเป็นสังคมที่ไม่มี Altruism หรือไม่มีความ ‘เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่’ ในทางความรู้ให้แก่กันและกัน โดยเฉพาะจากผู้มีอำนาจ (เช่นรัฐ) ที่จะ ‘มอบ’ ความรู้ให้กับผู้คน
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ สังคมไทยอาจไม่มี Franklin Effect คือไม่ได้เห็นว่า ‘ความรู้’ ควรเป็นเรื่องที่อยู่เหนือทัศนคติหรืออารมณ์ความรู้สึกที่เรามีต่อคนอื่น สิ่งที่เราพบเห็นมาตั้งแต่โบราณ – ก็คือการกักความรู้เอาไว้เฉพาะสำหรับคนบางกลุ่มเท่านั้น เช่นถ้าเป็นสมัยโบราณ ความรู้ก็อยู่ในหมู่คนชั้นสูงหรือสถาบันทางศาสนา ส่วนในปัจจุบัน ระบบการศึกษาที่ยังเหลื่อมล้ำก็ทำให้โรงเรียนแต่ละแห่งมี ‘มาตรฐานความรู้’ ที่ไม่เท่ากัน มีเฉพาะครอบครัวที่มีฐานะดีเท่านั้น ที่สามารถส่งลูกเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีทรัพยากรแห่งความรู้มากๆ ได้ ส่วนมหาวิทยาลัยนั้น เมื่อออกนอกระบบและต้องแข่งขันกันทางธุรกิจ ก็ดูเหมือนความรู้จะมีไว้สำหรับคนที่มีกำลังทรัพย์ในการจ่ายเท่านั้น นอกนั้นแล้วต้องเริ่มต้นด้วยการติดลบ คือต้องเป็นหนี้การศึกษาเสียก่อน ถึงจะได้รับความรู้ต่างๆ
คำถามก็คือ – เราไม่สนใจเลยจริงๆ ใช่ไหม ที่จะให้สังคมแห่งนี้มีแหล่งเรียนรู้สาธารณะที่เริ่มต้นจากรัฐ เป็นพื้นที่สาธารณะที่เข้าถึงได้จริง ใช้งานได้จริง เปิดกว้างจริงๆ และส่งเสริมความคิดที่แตกต่างหลากหลาย สามารถต่อยอดถกเถียงกันได้อย่างอารยะจริงๆ
เหตุผลที่สังคมไทยต้องการพื้นที่สาธารณะแห่งความรู้เพิ่มขึ้น ไม่ใช่เพราะเราจะได้สร้างคนอย่าง เบนจามิน แฟรงคลิน ขึ้นมาได้เท่านั้น แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ – เราควรสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้เหล่านั้น เพื่อทำให้ Franklin Effect ขึ้นได้ในสังคมไทยต่างหาก
นั่นคือไม่ได้แค่ ‘รู้’ แต่รู้จักมอบ ‘ความรู้’ เหล่านั้นให้กับคนอื่น ในแบบที่เหนือพ้นไปจากความเป็นปรปักษ์ระหว่างกันด้วย
เป้าหมายของพื้นที่แห่งการเรียนรู้สาธารณะ จึงไม่ใช่สักแต่ว่ามี
แต่การมีอยู่ของพื้นที่ทำนองนี้ คือหลักฐานที่แสดงให้เราเห็นว่า สังคมหนึ่งๆ มีความอารยะและศิวิไลซ์มากน้อยแค่ไหน