ศาสตร์แห่งการ ‘พินิจอึ’ นั้น มีชื่อเรียกเพราะๆ หลายชื่อนะครับ เช่น Scatomancy, Spatalomancy, Copromancy หรือ Spatilomancy ซึ่งไม่ใช่ของใหม่ แต่เป็นศาสตร์เก่าแก่ ไม่ว่าจะเป็นจีนโบราณ กรีกโบราณ หรือกระทั่งอียิปต์โบราณ ก็มี ‘ศาสตร์พินิจอึ’ กันอยู่แล้ว
ที่จริงในปัจจุบัน เราก็คงเคยได้ยินพวกหมอๆ บอกเราว่าหลังลุกจากโถส้วมแล้ว ให้ลองย้อนกลับไปพิจารณาสิ่งที่เราเพิ่งขับถ่ายลงไปดูบ้างก็จะดี ว่ามีมีสภาพเป็นอย่างไร แข็งหนืด ผุพัง ลอย จม เรียวยาว กลมเต็ม หรือเป็นเม็ดๆ มีสีอะไร เพราะไม่ว่าจะเป็นอึรูปร่างแบบไหน มีสีแบบไหน มีเลือดแห้งเลือดสดปนอยู่มากน้อยแค่ไหน ล้วนบ่งบอกได้เป็นอย่างดีถึงชีวิตที่ผ่านมาของอึ
มันผ่านลำไส้แบบไหนมา ก็จะแสดงออกให้เราเห็นตรงหน้าเรานี่แหละครับ
เอ…แล้วถ้าไม่ใช่ลำไส้มนุษย์ เป็นลำไส้สัตว์ล่ะครับ มันจะบอกอะไรกับเราได้หรือเปล่า
เรื่องนี้เคยมีการศึกษาอึของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในสวนสัตว์ที่แอตแลนต้า ในจอร์เจีย นะครับ เขาลองไปเก็บตัวอย่างอึของสัตว์ 34 สปีชีส์ที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แล้วนำมาวัดความหนืดความเหลวและความหนาแน่น
พบว่าถ้าเป็นสัตว์กินพืช เช่นช้างหรือสัตว์อื่นๆ อึของสัตว์เหล่าน้ีจะลอย เรียกสัตว์เหล่านี้ว่าเป็นพวก Floaters คือพวกอึลอย ส่วนสัตว์จำนวกเสือและสัตว์กินเนื้อทั้งหลาย จะมีอึที่จม เรียกว่าเป็น Sinkers แล้วพอนำอึมาเรียงลำดับกันแล้ว ก็จะไล่เรียงได้ตั้งแต่เสือ แรด ไปจนกระทั่งอึเบาที่สุดคือแพนด้า
นอกจากดูอึแล้ว เขายังวัดค่านั่นโน่นนี่ของอึสัตว์เหล่านี้อีกนะครับ แล้วก็ได้ข้อสรุปที่น่าสนใจออกมาว่า ถ้าเป็นสัตว์ตัวใหญ่ อึของมันจะยาวกว่าสัตว์ตัวเล็ก (ก็แหงละสิ) แล้วสัตว์ตัวใหญ่ก็จะมี ‘ความเร็วของอึ’ ที่มากกว่าด้วย
ตัวอย่างเช่น ช้างจะอึที่ความเร็วราว 6 เซนติเมตรต่อวินาที (คือความเร็วที่อึเคลื่อนออกจากรูทวารน่ะนะครับ) ซึ่งเร็วกว่าอึของสุนัขถึงเกือบหกเท่า
ส่วนถ้าใครอยากรู้ว่ามนุษย์เราอึเร็วแค่ไหน ก็ต้องบอกว่าไม่ว่าจะเบ่งให้สุดแรงเกิดเท่าไหร่ ค่าเฉลี่ยของความเร็วในการอึของมนุษย์ก็จะอยู่ที่ 2 เซนติเมตรต่อวินาที นี่แหละครับ
เขาพบว่า ค่าเฉลี่ยของ ‘เวลา’ ในการอึของสัตว์ต่างๆ นั้น ต่อหนึ่งครั้ง (หนึ่งพรวด) จะกินเวลาราวๆ 12 วินาที (บวกลบ 7 วินาที ขึ้นอยู่กับว่าเป็นสัตว์ชนิดไหนใหญ่เล็ก) โดยมีสัตว์ 66% ที่ใช้เวลาในการอึระหว่าง 5-19 วินาที ซึ่งเร็วมากๆ อย่างอึช้างนี่มีปริมาตรมากถึง 20 ลิตร (ซึ่งเยอะกว่าของสุนัขราวๆ เกือบพันเท่า) ทำให้ช้างต้องอึด้วยความเร็วสูง
แต่คำถามก็คือ แล้วสัตว์พวกนี้อึด้วยความเร็วสูงได้อย่างไร ใช้กลไกอะไร เขาค้นพบว่าเป็นคุณสมบัติของเยื่อเมือกที่ปกคลุมผนังด้านในลำไส้ใหญ่ ชั้นของเยื่อเมือกพวกนี้บางมาก คือบางเท่ากับเส้นผมของมนุษย์ แต่ถึงจะบางแค่ไหน มันก็ลื่นมากเหมือนกัน ความลื่นของเยื่อเมือกนี้ทำให้อึของช้างพุ่งออกมาพรวดๆ รวดเร็วกว่าอึของสัตว์อื่น
แต่แค่นั้นก็ยังไม่พอที่จะอธิบายความเร็วของอึตามหลักฟิสิกส์ได้ เราต้องย้อนกลับมาดูกันก่อนครับ ว่าปริมาณอึที่อยู่ในลำไส้มันมีอยู่มากน้อยแค่ไหน
อึย่อมต้องเคลื่อนตัวไปตามรูปร่างของลำไส้ใช่ไหมครับ เพราะฉะนั้น อึก็จะมีรูปร่างยาวๆ เหมือนกับลำไส้ โดยเขาค้นพบว่า อึในช้างนั้นเวลามันค้างอยู่ในลำไส้ มันสามารถยาวจากทวารไปตามลำไส้มากถึงราวครึ่งหนึ่งของลำไส้ใหญ่เลยทีเดียว พูดได้ว่ามีอึเต็มท้องนั่นแหละ
สัตว์ย่ิงตัวใหญ่เท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีอึยาวเท่านั้น แล้วยิ่งอึยาว ก็จะยิ่งมีชั้นเยื่อเมือกที่ว่านี้หนาขึ้นด้วย ทำให้อึสามารถเคลื่อนตัวไปด้วยความเร็วและแรงดันที่เป็นสัดส่วนกัน ถ้าไม่มีชั้นเยื่อเมือกนี้ การอึแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะมันไม่ลื่น ไม่ส่งให้ตัวอึเดินทางไปได้โดยสะดวก ถ้าชั้นเยื่อเมือกนี้มีการเปลี่ยนแปลงผิดแปลกไป ก็อาจทำให้คนเป็นโรคท้องผูกเรื้อรังหรือติดเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ได้
ที่ว่ามานั่น อาจพอกล้อมแกล้มเรียกได้ว่าเป็น ‘ฟิสิกส์’ แห่งอึ เพราะศึกษาการเคลื่อนที่ของอึจากลำไส้ออกมาสู่โลกภายนอก แต่ยังมีการศึกษาถึงอึอีกหลายด้าน บางอย่างก็เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เราอาจคาดไม่ถึง อาทิเช่น
-ทำไมตอนกลางคืนเราถึงต้องตื่นมาฉี่ ทำไมเราไม่ตื่นมาอึ : คำถามนี้ฟังดูประหลาดๆ แต่ก็มีคนสงสัยและศึกษากันอย่างจริงจังนะครับ นั่นก็คือคุณ Pankaj Pasricha จากภาควิชา Neurogastroenterology แห่งมหาวิทยาลัยจอห์น ฮ็อบกินส์ ซึ่งเขาบอกว่ามนุษย์เราต้องการทำให้กระเพาะปัสสาวะว่าง แต่เพราะเหตุใดจึงไม่ต้องทำให้ลำไส้ว่างด้วยเล่า คำตอบก็คือในสมองของเรานั้น มีเซลล์ประสาทที่ควบคุมการหดตัวของลำไส้อยู่ ซึ่งเซลล์ประสาทนี้จะทำงานร่วมกับนาฬิกาชีวภาพในร่างกาย ทำให้ลำไส้ไม่บีบรัด
-ทำไมเราถึง ‘มีความสุข’ กับการอึ ถึงขั้นเรียกมันว่าเป็นการ ‘ปลดทุกข์’ : เรื่องนี้ฝรั่งก็เป็นนะครับ เขาเรียกอาการรู้สึกดีหลังอึว่า Poo-Phoria ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อการบีบรัดของลำไส้นั้นกระตุ้นให้เส้นประสาทวากัส (Vagus Nerve) ที่เป็นระบบประสาทเชื่อมจากก้านสมองมาถึงลำไส้ทำงาน เมื่อเส้นประสาทนี้ถูกกระตุ้น มันจะทำให้เราเหงื่อออกและร่างกายเย็นลง ความดันเลือดและอัตราการเต้นของหัวใจก็จะลดลงด้วย ซึ่งอาการเหล่านี้พอได้ ‘ปลด’ ออกไปแล้ว จะรู้สึกผ่อนคลายและเป็นสุขอย่างมาก แต่มันไม่ได้เกิดขึ้นทุกครั้งนะครับ จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อได้ปลดทุกข์ ‘ก้อนใหญ่’ มากพอเท่านั้น ถึงจะกระตุ้นเส้นประสาทวากัสได้
-ทำไมเวลาเดินทางเราถึงท้องผูก : หลายคนบอกว่าเราไม่คุ้นที่น่ะสิ แต่จริงๆ แล้วมันเกิดกับคนมากถึง 40% ของโลกเลยนะครับ แล้วหลายคนก็ไม่ใช่คนที่ตื่นกลัวที่ใหม่ๆ ด้วย เรื่องนี้มีการศึกษาจากคอนเน็คติกัต โดยคุณหมอ Ed Levine ซึ่งเป็นนัก Gastroenterologist คุณหมอบอกว่ามันเกี่ยวพันกับนาฬิกาชีวภาพของเรานี่แหละ การที่เราต้องเปลี่ยนตารางการนอน มื้ออาหาร หรืออาการเจ็ตแล็ก ทำให้นาฬิกาชีวภาพของเราเสียสมดุลไป ระบบย่อยอาหารก็เลยเจ๊งตามไปด้วย ทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า Travelelr’s Consipation ขึ้นมา
จะเห็นว่า ‘อึศาสตร์’ นั้นเกี่ยวพันกับสุขภาวะของร่างกายเราอย่างแนบชิด ดังนั้นครั้งต่อไปที่เข้าห้องน้ำ พึงทำตามที่คุณหมอบอกนะครับ คือให้สังเกตอึของเราอย่างละเอียด อาจไม่ต้องถึงขั้นควักแว่นขยายออกมาส่องดูก็ได้ แต่อย่างน้อยก็ควรสังเกตทุกครั้ง จะได้รู้ว่าสุขภาพของเราตอนนี้เป็นอย่างไร
ขอเอาใจช่วยให้อึแล้วได้พบกับสภาวะ Poo-Phoria บ่อยๆ นะครับ