ผมทดลองใช้มอเตอร์ไซค์มาระยะหนึ่งแล้ว ใช้แบบจริงจัง คือเป็นยานพาหนะที่ไปเกือบทุกหนแห่งในกรุงเทพฯ
จริงๆ อยากใช้มอเตอร์ไซค์มานานแล้ว แต่มีแต่คนห้าม บอกว่าอันตรายบ้าง ตัวเหม็นบ้าง ฯลฯ แต่พอไปซิซิลี เห็นชาวซิซิเลียนเขาขี่เวสป้ากันเป็นล่ำเป็นสัน ก็เลยคิดว่าจะลองซื้อมาใช้ดูบ้าง
พบว่า
1. คนใช้มอเตอร์ไซค์มีหลายแบบมาก ถ้าไม่ได้ขี่เอง จะไม่รู้เลยว่ามีทุกแบบ ทั้งคนที่เป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนขี่มอเตอร์ไซค์ส่งเอกสาร ไปจนถึงพนักงานบริษัท ใส่สูท ใส่ส้นสูงขี่มอเตอร์ไซค์กระโปรงพลิ้วก็มี
2. ลองถามพนักงานบริษัทส่วนใหญ่ที่ขี่มอเตอร์ไซค์ หลายคนบอกว่าเป็นคนต่างจังหวัด คุ้นเคยกับการขี่มอเตอร์ไซค์ดี แต่ไม่คุ้นเคยเลยกับการยอมทนนั่งในรถติด และไม่คุ้นเคยเลยกับขนส่งมวลชนที่แย่และไม่ทั่วถึง คือการใช้มอเตอร์ไซค์ในกรุงเทพฯ นั้นมันทำให้ซอกซอนไปไหนต่อไหนได้ตามใจกว่า และอิสระกว่ารถยนต์มาก
3. พบว่าสะพานข้ามแยก (หรืออุโมงค์) ในกรุงเทพฯ นั้น มีความไม่ ‘สม่ำเสมอ’ ในการห้ามหรือไม่ห้ามมอเตอร์ไซค์ขึ้น (หรือลง) อย่างมาก บางสะพานที่มีไหล่ทางกว้างพอสมควร และรถไม่สามารถใช้ความเร็วได้มากนัก ห้ามขึ้น โดยป้ายห้ามขึ้นมักจะติดอยู่ในตำแหน่งที่มองหาไม่ค่อยเห็น (จาก POV ของมอเตอร์ไซค์นะครับ ไม่ใช่รถยนต์) แต่หลายสะพานที่มอเตอร์ไซค์ขึ้นได้ (เช่นตรงห้าแยกลาดพร้าว) มีที่ทางที่ค่อนข้างคับแคบ
4. พูดอีกอย่างก็คือ เวลาสร้าง ‘สาธารณูปโภค’ พวกนี้ขึ้นมา ไม่น่ามีมอเตอร์ไซค์อยู่ในสมการ เพราะถ้าไม่ขึ้นสะพานลอย มอเตอร์ไซค์ไม่สามารถ ‘ไปต่อ’ ได้ แต่เมื่อต้องขึ้น ก็กลับไม่ทำที่ทางที่ปลอดภัยให้ ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า ทั้งสองฝ่ายอยู่ในภาวะจำยอม รัฐจำยอมให้ขึ้นเพราะไม่งั้นมันไปไม่ได้จริงๆ ส่วนมอเตอร์ไซค์ก็จำยอมต้องขึ้นทั้งที่เห็นชัดว่าไม่ปลอดภัยและไม่ได้สร้างมาเพื่อมอเตอร์ไซค์ อันเป็นสภาพที่โดยส่วนตัวคิดว่าน่าเวทนาแบบ urban
5. ในซิซิลีและอิตาลี เวสป้าหรือมอเตอร์ไซค์เป็นคล้ายๆ มรดกของชาติ เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่คนภูมิใจ มีบทความวิชาการชื่อ From Necessity to Style – How the Vespa Influenced Culture and Design
6. คำถามที่น่าสนใจก็คือ ในสังคมไทย โดยเฉพาะสังคมกรุงเทพฯ ที่การใช้รถยนต์นั้นน่าเวทนา การใช้รถเมล์ก็น่าเวทนา หรือกระทั่งรถไฟฟ้าทั้งหลาย บ่อยครั้งก็อยู่ในสภาพที่น่าเวทนาด้วย แต่ในเวลาเดียวกัน มอเตอร์ไซค์ (และที่จริงก็นับรวมถึงจักรยานด้วย) กลับเป็นพาหนะที่มีประสิทธิภาพสูงในการขนคนนั้น, เรามอง ‘สัญญะ’ ของการใช้มอเตอร์ไซค์ในเมืองอย่างไร
7. มอเตอร์ไซค์มักถูกตำรวจเรียกเสมอ บ่อยครั้งด้วยน้ำเสียงที่เห็นชัดว่าแตกต่างจากการเรียกรถเบนซ์ตรวจ, การออกแบบเมืองที่ไม่มีมอเตอร์ไซค์อยู่ในสายตาและสมการ, การมองว่ามอเตอร์ไซค์เป็นเสมือน ‘แมลงหวี่’ ที่บินว่อนไปมา (และอาจมีนัยว่าควรตบให้ตาย) กำลังบอกเราว่า – เรามองมอเตอร์ไซค์อย่างไร ทั้งที่มันอาจเป็นวิธีเดินทางที่ดีที่สุดในความโกลาหลของเมืองก็ได้
8. มอเตอร์ไซค์ (และจักรยาน) คือ Necessity ในสภาวะจำยอมอันน่าเวทนาทั้งปวงของการจราจรในกรุงเทพฯ แต่ถ้าสัญญะของมอเตอร์ไซค์ยังเป็นแบบที่เป็นอยู่ เราจะไม่มีวันแก้ปัญหาความขัดแย้งในการใช้พื้นที่ระหว่างคนเดินเท้า จักรยาน มอเตอร์ไซค์ และรถยนต์ ได้เลย เพราะมันสะท้อนให้เห็นการเหยียดเป็นชั้นๆ ลงไปเรื่อยๆ จึงเกิดโครงสร้างอำนาจบนท้องถนน ที่ฝังตัวแน่นอยู่ในวัฒนธรรมอำนาจของเรา จนแทบพูดได้ว่าอำนาจอยู่ในราคาของเครื่องจักรมากกว่าชีวิตคน
9. การอยู่ร่วมกันในเมืองนั้นซับซ้อน ถ้าคนที่มีอำนาจ ไม่ว่าอำนาจในมิติไหน, ยังขังตัวเองอยู่เฉพาะในรถหรู ไม่เคยเรียนรู้ที่จะใช้รถเมล์ รถสาธารณะ เดินเท้า ปั่นจักรยาน หรือกระทั่งใช้มอเตอร์ไซค์ คือคลุกคลีอยู่บนท้องถนน เราก็คงไม่อาจแก้ปัญหาเมืองในมิติต่างๆ ได้ ตั้งแต่จราจรจนถึงความเหลื่อมล้ำอื่นๆ ที่ใหญ่กว่านี้