ทำไมชีวิตถึงยากอย่างนี้

ทำไมชีวิตถึงยากขึ้นเรื่อยๆ ขนาดนี้, 

รุ่นน้องคนหนึ่งที่อยู่ในวัยสามสิบกลางๆ เอ่ยขึ้นในวันหนึ่ง 

เขาบอกผมด้วยว่า สมัยที่ผมอายุเท่าเขา เพราะอะไรก็ไม่รู้ ผมถึงดูเป็นผู้ใหญ่กว่าเขามาก ในขณะที่เขาและเพื่อนรุ่นเดียวกันยังแลดูเป็นเด็กกะโปโลอยู่เลย

รุ่นน้องอีกคนหนึ่งที่คุยอยู่ด้วยกันค้านว่า – ไม่หรอก อาจเพราะเรามองดูคนรุ่นเดียวกันหรือเปล่า เราจึงรู้สึกว่ายังไม่มีอะไรก้าวหน้าสักเท่าไหร่ แต่ถ้ามองจากสายตาของคนรุ่นเด็กกว่า หลายคนก็อาจรู้สึกว่าคนวัยสามสิบกลางๆ นั้น มีความเป็นผู้ใหญ่ไม่น้อยทีเดียว

บทสนทนากับรุ่นน้องทั้งสอง ทำให้ผมนึกย้อนไปถึงวัยยี่สิบต้นๆ ของตัวเอง ตอนนั้นผมมองว่า คนที่อายุยี่สิบปลายๆ ใกล้แตะสามสิบ คือ ‘ผู้ใหญ่’ ที่ผมขามเกรงแทบทุกคน ยิ่งคนวัยสามสิบกลางๆ ปลายๆ หรือไล่ไปถึงสี่สิบต้นๆ ด้วยแล้ว ยิ่งเป็นผู้ใหญ่ยิ่งกว่าผู้ใหญ่

แต่วันนี้ เมื่อตัวเองผ่านวันวัยมาจนเลยเลขสาม และกำลังจะผ่านพ้นเลขสี่ไปแล้ว ผมกลับรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากสมัยยี่สิบหรือสามสิบปีสักเท่าไหร่

พูดให้ถูกยิ่งกว่านั้น – ผมรู้สึกว่าเป็นไปได้ไม่น้อย ที่ตัวเองจะไม่ได้เปลี่ยนไปเลยมาตั้งแต่เกิด

เดวิด เซดาริส นักเขียนที่มีอารมณ์ขันแสบคัน เคยบอกไว้ว่า As a child I assumed that when I reached adulthood, I would have grown-up thoughts. หรือ สมัยที่เป็นเด็ก เขาเคยคิดว่าเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว เขาจะมีความคิดแบบคนที่เติบโต แต่เมื่อเขาเติบโตขึ้นมาจริงๆ เขากลับพบว่าตัวเองยังคงบ้าบอคอแตกอยู่ภายในเหมือนเดิมแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย

จริงอยู่ สภาพของร่างกายอาจทำให้เราเชื่องช้าลงบ้าง เดินเหินติดขัดบ้าง แต่ลึกลงไปภายใน เราต่างรู้ว่าเราแต่ละคนยังคงเป็นเด็กตัวน้อยๆ คนเดิม 

มีแต่ภาพภายนอกเท่านั้นหรอกที่เปลี่ยนแปลงไป มีการความพยายามสร้างเกราะกำบังความทุกข์ และรอยยับย่นจากการต่อสู้มากมายจนหน่ายเหนื่อยเท่านั้นหรอก ที่ทำให้รูปลักษณ์ของเราเปลี่ยนแปลงไป

ทว่าข้างในของเรา – เด็กตัวเล็กๆ คนนั้นยังคงอยู่

นักจิตวิทยาพยายามหาว่า คนแบบไหนเวลาเจอเรื่องร้ายๆ สามารถทำให้ร้ายกลายเป็นดีได้ และคนแบบไหนถูกบดขยี้จนพังทลายไปเลย คำตอบที่ได้แสนจะไม่ยุติธรรมเอาเสียเลย นั่นคือ คนที่มองโลกในแง่ดีมักจะได้ประโยชน์จากเรื่องร้ายๆ มากกว่าคนที่มองโลกในแง่ร้าย

นักจิตวิทยาบอกว่า ส่วนใหญ่แล้ว คนมองโลกในแง่ดีและมีความสุข มักจะเป็นคนที่ถูกล็อตเตอรี่สมอง ทำให้เป็นคนที่มี ‘จุดตั้งต้นของความสุข’ มากกว่าคนอื่นๆ คนเหล่านี้มักจะมองด้านบวกจนติดเป็นนิสัย และมักหาวิธีแก้ปัญหาได้ หรือไม่ต่อให้พบเจอปัญหาที่แก้ไม่ได้ พวกเขาก็จะยิ้มและหัวเราะให้มัน

โจนาธาน เฮดท์ นักจิตวิทยาเจ้าของหนังสือ Happiness Hypothesis บอกว่า – ความสุขก็เหมือนความร่ำรวย คือคนรวยยิ่งรวยขึ้น และคนที่มีความสุขก็ยิ่งมีความสุขมากขึ้น ซึ่งใช่ – นั่นไม่ยุติธรรมเลย แต่หากนึกย้อนกลับไปตอนเด็กๆ เราจะพบว่า ส่วนใหญ่แล้วมักเป็นช่วงเวลาที่แสนสุขเสมอ

ชีวิตนั้นยากขึ้นเรื่อยๆ มันจึงมักทำให้เรามองโลกในแง่ดีได้น้อยลงเรื่อยๆ ไปด้วย แต่กระนั้น ก็โปรดอย่าละเลยเด็กคนนั้น – เด็กที่อยู่ในตัวเราทุกคน แม้บ่อยครั้ง ชีวิตจะทำให้พวกเราไม่รู้สึกถึงพวกเขาอีกต่อไป คล้ายว่าพวกเขาได้จากไปแล้ว ทว่าโดยเนื้อแท้ – พวกเขายังมีชีวิตอยู่ แม้จะหลับใหลอยู่ในบางซอกมุมของหัวใจเรา รอคอยให้เราปลุกพวกเขาขึ้นก็ตามที

ใช่ – ชีวิตยากขึ้นเรื่อยๆ, ผมบอกรุ่นน้อง และจะยิ่งยากขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ แต่ปลุกเด็กคนนั้นขึ้นมาเถิด เพราะเขาจะใช้รอยยิ้ม ความสดใหม่ และวิธีมองโลกที่ไร้เดียงสาและเปี่ยมความหวัง มาเป็นแสงสว่างสาดส่องใส่ความมืดหม่นยากเย็นในชีวิตของเรา

ไม่ง่ายหรอกที่จะปลุกเขาขึ้นมาอีกครั้ง

แต่ก็คุ้มค่านัก – หากจะลองพยายาม