POPS vs PPS: พื้นที่สาธารณะที่ไม่ใช่พื้นที่สาธารณะ

ตลอดเวลาที่ผ่านมานับพันหมื่นปีนั้น มนุษย์ส่วนมากกระจายตัวอยู่ในชนบท เก็บผักหักฟืนกันไปตามประสา

แต่เมื่อเกิด ‘เมือง’ มากขึ้น มนุษย์เริ่มเห็นว่าเมืองมีความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายกว่า มีสถิติบอกว่า คนเมืองมีสุขภาพที่ดีกว่าเพราะอยู่ใกล้หมอ มีฐานะดีกว่าเพราะอยู่ใกล้แหล่งงาน มีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเพราะอยู่ใกล้แหล่งให้บริการต่างๆ แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ คนเมืองนั้นสร้างภาระต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า เพราะเมื่อเข้ามาอยู่รวมตัวกันหนาแน่นแล้ว ‘ค่าเฉลี่ย’ ในการทำลายสิ่งแวดล้อม ‘ต่อหัว’ จะน้อยกว่า 

ในโลกสมัยก่อน (หรือสมัยนี้ก็เถอะ) มนุษย์สมาทานการครอบครองพื้นที่ นั่นคืออยากมี ‘พื้นที่ส่วนตัว’ เยอะๆ ทั้งนี้ก็เพราะพื้นที่หรือ ‘ผืนดิน’ นั้นพูดได้ว่าเป็นแหล่งที่มาของทรัพยากร คนจีนในหนังสืออย่าง ‘ทรัพย์ในดิน’ ของเพิร์ล เอส. บัค จึงสอนลูกหลานว่าให้เก็บสะสมที่ดิน เพราะที่ดินนั้นไม่หายไปไหน คนตะวันตกก็คล้ายกัน ชาวอเมริกันเลือกอยู่บ้านที่มีพื้นที่ใหญ่ๆในย่านชานเมือง ไม่ใช่เพื่อทำกินจากผืนดิน แต่เพื่อครอบครองพื้นที่ แม้แต่คนไทยเราก็เช่นกัน ถ้าเลือกได้ ใครๆก็อยากมีบ้านจัดสรรอยู่ชานเมืองมากกว่าอุดอู้อยู่คอนโดฯ กันทั้งนั้น

พื้นที่พวกนี้เรียกว่า ‘พื้นที่ส่วนตัว’ (Private Space) ซึ่งในความเป็นจริง ผืนดินรวมของโลกมีอยู่เท่าเดิม การมี ‘พื้นที่ส่วนตัว’ มากๆ ย่อมแปลว่า ‘พื้นที่สาธารณะ’ (Public Space) จะต้องลดน้อยลงไปโดยปริยาย

กรุงเทพฯ เป็นตัวอย่างที่ดีของการที่ที่ดินตกอยู่ในมือของ ‘เจ้าผู้ครองที่ดิน’ (Land Lord) ในฐานะที่เป็น ‘พื้นที่ส่วนตัว’ กันมาก ที่ดินเหล่านี้ไม่ ‘หลุด’ ออกจากกรรมสิทธิ์แบบ ‘ส่วนตัว’ เพราะมันตกทอดเป็นมรดก และคนที่มีต้นทุนเป็นที่ดิน ก็สามารถสร้างความมั่งคั่งเพื่อซื้อที่ดินเพิ่มได้อีก จนในที่สุดพื้นที่ส่วนตัวก็ ‘เบียดขับ’ พื้นที่สาธารณะให้เหลืออยู่น้อยนิด 

ในโลกตะวันตก หลายประเทศแก้ไขวิธีคิดแบบนี้ด้วยภาษีมรดกและภาษีที่ดิน ทำให้คนต้องรับภาระภาษีในการครอบครองพื้นที่ส่วนตัวกันมาก จึงเกิดการ ‘ปล่อย’ พื้นที่ส่วนตัวออกมาจากการครอบครอง แต่ในไทยไม่มีแนวคิดแบบนี้ เราจึงมีพื้นที่สาธารณะที่ดีๆ เช่นพื้นที่ที่อยู่ใน Prime Area ตรงใจกลางกรุง – น้อยมาก แต่ถ้าทอดตาดูเมืองใหญ่อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นนิวยอร์คหรือลอนดอน เราจะพบว่าเมืองเหล่านั้นมีการกันพื้นที่สาธารณะในเขตที่เป็น Prime Area เอาไว้มากมาย นิวยอร์คมีเซ็นทรัลปาร์คขนาดมหึมาอยู่กลางเมือง ส่วนลอนดอนก็มีสวนสาธารณะขนาดเล็กใหญ่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปหมด นี่ยังไม่นับ ‘สาธารณูปโภคทางปัญญา’ อื่นๆ อย่างเช่นพิพิธภัณฑ์และห้องสมุดอีกนับไม่ถ้วน

คำถามก็คือ แล้วเราจะทำอย่างไรกันดี ถึงจะเพิ่ม ‘พื้นที่สาธารณะ’ ให้กับผู้คนได้

แนวคิดสำคัญอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นหลายแห่งในโลก ก็คือแนวคิดที่ ‘รวม’ พื้นที่ส่วนตัวเข้ากับพื้นที่สาธารณะเข้าด้วยกัน

แล้วจะทำอย่างนั้นได้อย่างไร?

 

img_2936

 

มีคำอยู่สองคำ ที่เริ่มใช้กันแพร่หลาย คำแรกก็คือ Pseudo-Public Space (หรือ PPS) กับอีกคำหนึ่งคือ Privately Owned Public Open Space (หรือ POPOS) หรือในบางกรณีก็ไม่มีคำว่า Open ทำให้ย่อเหลือแค่ POPS)

ถ้าแปลตรงๆ จากศัพท์ จะเห็นคำว่า POPS ก็คือพื้นที่สาธารณะ – ที่ไม่ได้เป็นสาธารณะจริงๆ เพราะเจ้าของยังเป็นใครหรือองค์กรอะไรสักอย่างอยู่ ส่วน PPS ก็ชัดเจนว่าเป็น ‘พื้นที่สาธารณะเทียม’ ซึ่งฟังๆ ดู ทั้งสองอย่างก็น่าจะเหมือนกัน คือไม่ได้เป็นพื้นที่สาธารณะที่แท้จริงทั้งคู่

ก็แล้วสองอย่างนี้แตกต่างกันอย่างไรเล่า?

POPS นั้น แม้ฟังดูเทียมๆ (แบบโจ่งแจ้งด้วยนะครับ เพราะบอกเลยว่า Privately Owned) แต่ท่ีจริงแล้วหมายถึง ‘พื้นที่สาธารณะ’ แบบหนึ่ง ซึ่งแม้จะมีองค์กรอะไรสักอย่างเป็นเจ้าของ ทว่า ‘ตามกฎหมาย’ แล้ว จำเป็นจะต้อง ‘เปิด’ ให้เป็นพื้นที่สาธารณะ โดยอยู่ใต้ข้อกำหนดการจัดโซนของเมือง (Zoning Ordinance) หรือกฎหมายเกี่ยวกับการใช้ที่ดินอื่นๆ

ที่จริงแล้ว POPS ไม่ใช่ของใหม่นะครับ เพราะมันเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 1961 โน่นแล้ว เมื่อเมืองนิวยอร์คเริ่มใช้กลไกโซนนิ่งแบบมีแรงจูงใจ (Incentive Zoning Mechanism) โดยเสนอให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในนิวยอร์คนั้น ได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่ม คือถ้าเปิดพื้นที่ให้เป็นพลาซ่าหรืออาร์เคด (ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะให้คนในชุมชนเข้าไปใช้ประโยชน์พักผ่อนหย่อนใจได้) จะได้รับอนุญาตให้สร้างอาคารสูงเพิ่มขึ้น คือมีชั้นที่สามารถขายหรือให้เช่าเพิ่มได้จากเดิม จึงเป็นแรงจูงใจทำให้เกิด ‘พื้นที่สาธารณะ’ แบบนี้มากขึ้น ตั้งแต่ปี 1961 ถึงปี 2000 มีพื้นที่แบบนี้ถึง 503 แห่งในแมนฮัตตัน (สามารถดูรายละเอียดวิวัฒนาการของ POPS ในนิวยอร์คได้ที่นี่)

เมืองใหญ่ๆ ในโลก ตั้งแต่นิวยอร์ค ซานฟรานซิสโก ซีแอตเติล กรุงโซล สิงคโปร์ ฯลฯ ต่างก็มีพื้นที่แบบ POPS นี้กันทั้งนั้น อย่างในสิงคโปร์นั้น องค์กรที่ดูแลเรื่องผังเมืองอย่าง Urban Redevelopment Authority (หรือ URA) มี ‘คู่มือ’ การสร้าง POPS ออกมา (ดูรายละเอียดที่นี่) โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาพื้นที่สาธารณะของเมือง โดยมีตัวอย่าง Good Practice ที่ดี

ในบางเมือง กฎหมายเกี่ยวกับ POPS เป็นไปโดยใช้แรงจูงใจ (เช่นในนิวยอร์ค) แต่ในบางเมืองก็ใช้วิธีบังคับ เช่นในซานฟรานซิสโก ซึ่งทำให้เกิดผลที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ บทความใน citylab.com บอกว่า ซานฟรานซิสโกมีกฎหมายผังเมืองตั้งแต่ปี 1985 แล้ว ที่กำหนดว่าอาคารสำนักงานและโรงแรมใหญ่ๆ จะต้องมี ‘พื้นที่สาธารณะ’ อยู่ด้วย

คำว่า ‘พื้นที่สาธารณะ’ ในที่นี้ หมายถึงพื้นที่ที่คนทั่วไปเข้าไปใช้ประโยชน์ต่างๆ ได้ แม้ว่าจะมีเจ้าของ แต่เจ้าของไม่สามารถ ‘หารายได้’ จากพื้นที่ที่ว่านี้ได้ เช่น ให้เช่าไม่ได้ เป็นต้น เพราะจะขัดกับประโยชน์สาธารณะ

แต่ในซานฟรานซิสโก บางทีพื้นที่สาธารณะที่ว่าก็ไปอยู่ชั้นบนๆ ของอาคาร เช่น ชั้นชมวิวเมืองที่ตัวอาคารยกให้เป็น POPS ตามกฎหมาย หรือบางทีก็เป็นพลาซ่าในร่มที่อยู่ใจกลางอาคารไปเลย ทำให้คนนอกไม่กล้าเข้ามาใช้งาน ที่สำคัญก็คือ หลายอาคารมีการขายเปลี่ยนมือ แล้วเจ้าของใหม่ไม่รู้ว่าตึกของตัวเองนั้นมีพื้นที่แบบ POPS อยู่ด้วย ทำให้เกิดการเรียกร้องให้ปรับปรุงการบังคับใช้เสียใหม่

ในระยะหลัง หลายคนอาจเริ่มคิดว่าเมืองไทยก็มี POPS กับเขาเหมือนกัน เพราะเราจะเห็น ‘เทรนด์’ ใหม่ๆ ที่ศูนย์การค้าทำพื้นที่บางส่วนเหมือนเป็นพื้นที่สาธารณะ เช่น จัดเป็นคล้ายๆ จัตุรัสกลางเมือง หรือเปิดพื้นที่ในศูนย์การค้าให้คนมานั่งเล่นทำโน่นนั่นนี่ได้ จนรู้สึกเหมือนนั่นคือ ‘พื้นที่สาธารณะ’

แต่เสียใจนะครับ ที่ต้องบอกว่านั่นไม่ใช่ POPS เพราะพื้นที่เหล่านั้นไม่มีกฎหมายมารองรับเพื่อบอกว่านั่นเป็น ‘พื้นที่สาธารณะ’ (ที่มีเอกชนหรือหน่วยงานบางอย่างเป็นเจ้าของ) เพียงแต่เจ้าของพื้นที่เล็งเห็นประโยชน์อะไรบางอย่าง (ซึ่งก็มีตั้งแต่อยากสร้างความเป็นชุมชนที่ดีให้กับละแวกนั้นๆ จนกระทั่งใช้เป็นกลยุทธ์ดึงดูดลูกค้าเข้าศูนย์การค้า ฯลฯ) จึง ‘เปิด’ พื้นที่ให้คนเข้าไปใช้งานได้ประดุจว่าเป็นพื้นที่สาธารณะ

พื้นที่แบบนี้แหละครับ ที่เรียกว่า Pseudo-Public Space หรือ PPS

PPS ต่างจาก POPS เพราะว่าไม่มีกฎหมายอะไรมารองรับ ดังนั้น เจ้าของจะเอาพื้นที่คืนเมื่อไหร่ก็ได้ จะให้เช่าจัดงานอะไรก็ได้ ไม่มีอะไรผิดเลย ไม่ว่าในทางกฎหมายหรือในทางความรู้สึกใดๆ 

 

DSCF6178

 

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการด้านเมืองจำนวนมาก เริ่มวิเคราะห์กันว่า พื้นที่แบบ PPS นั้น กำลังกลายเป็นเทรนด์ใหญ่ และเทรนด์แบบนี้ จะทำให้คนเมืองจำนวนมากคุ้นเคยกับ PPS มากเสียจนไม่สนใจพื้นที่สาธารณะจริงๆ อีกต่อไป จึงเกิดคำถามขึ้นมาว่า PPS จะนำไปสู่ ‘จุดจบของพื้นที่สาธารณะ’ ได้ไหม โดยมีการศึกษาในเมืองใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้และฉงชิ่ง (ดูรายละเอียดได้ที่นี่) ซึ่งแม้อาจฟังดูเป็นการตื่นตัวเกินจริงไปหน่อย แต่ก็น่าขบคิดต่อ

ที่สำคัญ เมืองที่ไม่มี ‘คอนเซ็ปต์’ เรื่องพื้นที่สาธารณะ (จริงๆ) รวมไปถึง POPS มาก่อน อย่างเมืองไทยอันเป็นที่รักยิ่งของเรานี้ ถ้าเราคุ้นเคยแต่กับ PPS มากๆ เข้า คำถามที่น่าใคร่ครวญก็คือ – มันจะก่อให้เกิดการ ‘สร้างเมือง’ ไปข้างหน้าแบบไหนกันแน่

เราต้องยอมรับว่า ทุกวันนี้ ศูนย์กลางเมืองไม่ได้เกิดขึ้นจากการวางแผนของรัฐอีกต่อไปแล้วนะครับ อย่างกรุงเทพฯ ซึ่งมีหลายศูนย์กลางนั้น ทุกศูนย์กลางล้วนมี ‘ศูนย์การค้า’ เป็นดาวน์ทาวน์ทั้งนั้น และศูนย์การค้าก็เกิดขึ้นตามผังเมือง แล้วเราก็รู้กันอยู่ว่า ผังเมืองนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ด้วยปัจจัยอะไรต่างๆ หลายอย่าง ดังนั้น พูดให้ถึงที่สุด  คนที่กำลังเป็นผู้กำหนด ‘เนื้อเมือง’ จึงไม่ใช่รัฐ แต่คือทุน

แน่นอนว่ามี PPS หลายแห่งที่อยากสร้างประโยชน์ให้สังคมในรูปของ ‘สาธารณูปโภคทางปัญญา’ จริงๆ (อย่างเช่นให้เช่าพื้นที่เพื่อสร้างห้องสมุดหรือศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ ในราคาไม่แพง) แต่ในที่สุดแล้ว เงื่อนไขทางการค้าก็จะเป็นตัวกำหนดความอยู่รอดของ PPS นั้นๆ อยู่ดี เช่น ถ้าไม่มีคนเข้า ก็อาจจำเป็นต้องยกเลิก PPS เพื่อนำพืิ้นที่ไปทำอย่างอื่น หรือถ้าได้รับความนิยมมากๆ เจ้าของก็อาจขึ้นค่าเช่าพื้นที่แบบ PPS นั้น จนผู้ที่มาให้บริการไม่สามารถอยู่ได้

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ‘เงื่อนไข’ ที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ ทำให้สังคมไทยมีแต่ PPS ที่เจ้าของสามารถดึงพื้นที่กลับคืนได้ทุกเมื่อ ไม่ใช่ POPS ที่แม้จะมีเอกชนหรือหน่วยงานบางอย่างเป็นเจ้าของ แต่ก็เป็น ‘พื้นที่สาธารณะ’ จริงๆ

ในอนาคต คนเมืองจะมี ‘พื้นที่ส่วนตัว’ ที่เล็กลง เพราะเมืองย่อมหนาแน่นขึ้น ดังนั้น พื้นที่ที่จะเข้ามาแทนที่พื้นที่ส่วนตัวที่เล็กลงได้ ก็คือพื้นที่สาธารณะนั่นเอง

คำถามก็คือ ถ้าเรามีพื้นที่สาธารณะที่แท้จริงไม่ได้ ก็แล้วเราอยากมี POPS หรือ PPS มากกว่ากันล่ะครับ