เฮอร์มานน์ เฮสเส คือนักเขียนชาวเยอรมันผู้ยิ่งใหญ่ เขาได้รับรางวัลโนเบลในปี 1946
หลายคนรู้จักเขาจากงานอย่าง ‘สิทธารถะ’ ที่ผสานร้อยปรัชญาตะวันออกกับแนวคิดตะวันตกเข้าด้วยกัน
แต่คนรุ่นใหม่อีกจำนวนมาก ก็รู้จักเขาจาก ‘เดเมียน’ เพราะแท็ก #นัมจุนอ่าน จากเกาหลี ที่พัดพาเหล่าชาว ‘อาร์มี่’ ให้หันเหมาสู่วรรณกรรมสำคัญระดับโลกของเฮอร์มานน์ เฮสเส
งานของเฮสเสยิ่งใหญ่ งดงาม และพาเราเข้าสู่การสลายเลือนของขอบเขตแห่งมายาทั้งปวง และผู้พางานของเฮสเสให้ปรากฏสู่สายตาคนไทยในภาษาไทยคนสำคัญยิ่ง ก็คือนามปากกา ‘สดใส’ หรือ อ.สดใส ขันติวรพงษ์ ผู้ได้ชื่อว่าเป็น ‘ลูกสาวเฮสเส’ เพราะแปลงานของเฮสเสเกือบทั้งหมด ด้วยสำนวนภาษาอันงดงาม บอบบาง และละเอียดอ่อนยิ่งราวกับเป็นลมหายใจเดียวกับผู้เขียน
ต่อไปนี้คือ 10 เล่มของเฮสเส โดยฝีมือแปลของ ‘สดใส’ ที่สำนักพิมพ์เคล็ดไทยนำมาจัดพิมพ์ใหม่เป็นชุด ที่หากประกอบร่างกันครบถ้วน เราก็จะได้พบเห็นใบหน้าของเฮสเสอีกครั้ง
ปีเตอร์ คาเมนซินด์ (1904)
นิยายเล่มแรกของเฮสเส ทีได้รับความสำเร็จท่วมท้น เฮสเสเล่าเรื่องราวของปีเตอร์ คาเมนซินด์ ตั้งแต่วัยเด็ก วัยหนุ่ม กระทั่งถึงวัยกลางคน ด้วยภาษาที่แสนงามและชีวิตแห่งชนบท กับความเข้าใจในเพื่อนมนุษย์ผู้ถูกมองว่าด้อยค่า เขาพาเราหยั่งลึกเข้าไปในหัวใจของมนุษย์ ในแบบที่มีแต่นักเขียนหนุ่มผู้เข้าใจโลกเท่านั้นจะทำได้
บทเรียน (1906)
ผลงานเล่มถัดมาที่กล้าหาญ เป็นขบถทั้งต่อขนบแห่งการศึกษาของเยอรมนีในยุคกระโน้น การศึกษาที่หล่อหลอมและกดดันเด็ก ให้ต้องบิดผันไปจากธรรมชาติเดิมแท้อันสะอาดงดงาม จนกระทั่งผิดรูปผิดร่างทั้งภายนอกและภายใน คล้ายถูกบดขยี้ด้วยกงล้อมหึมา
เกอร์ทรูด (1910)
เรื่องราวของนักดนตรีผู้มีพรสวรรค์ ทว่าต้องพลิกผันกลายเป็นคนพิการ และทุกข์ทรมานอยู่กับความโดดเดี่ยว ชีวิตไม่ใช่เรื่องง่าย บางคราวก็ขมขื่นยุ่งยาก แต่นักดนตรีผู้มีพรสวรรค์คนนี้ ได้รับการยอมรับ มันมาพร้อมชื่อเสียงและการเข้าสู่สังคมชั้นสูงอันฉาบฉวย โดยมีความรักอันลึกซึ้งเป็นเครื่องนำทาง จนสามารถค้นพบความเร้นลับระหว่างดนตรี ชีวิต และจักรวาล
รอสฮัลด์ (1914)
เรื่องของจิตรกรใหญ่ผู้โด่งดังและร่ำรวย เขาควรจะเป็นคนที่มีความสุข แต่กลับมีชีวิตแต่งงานที่ล้มเหลว เขากลายเป็นคนที่ติดอยู่ในบ่วงแห่งความว่างเปล่า แต่ชีวิตอันล้มเหลวก็ยังมีผลึกแห่งกาลเวลาอันทรงคุณค่า เขาจะค้นพบสิ่งนั้น สิ่งที่พาเขาเข้าสู่อิสระอย่างแท้จริง
เพลงขลุ่ยในฝัน (1919)
นิทานแสนงามแปดเรื่อง หลากหลายร้อยเรียงไปในจินตนาการอันแสนประหลาด เรื่องราวอันจะอ้อยอิ่งอยู่ในความคำนึงของผู้ที่ได้อ่านไปอีกนานแสนนาน เรื่องราวของชีวิต ความรัก การได้รับความรัก การให้ความรัก การพังทลายของภูเขา ความงามของดอกไม้แสนบอบบาง รางวัล และการลงทัณฑ์
เดเมียน (1919)
นิยายที่จะกระตุกคนหนุ่มสาวให้ครุ่นคิดถึงการตีความชีวิตด้านใน นี่คือนิยายที่มาก่อนหน้า ‘สิทธารถะ’ เป็นดังศาสดาพยากรณ์ เป็นการบอกใบ้ถึงความยิ่งใหญ่ที่กำลังจะดำเนินต่อเนื่องไปอีกนานแสนนาน ไม่น่าประหลาดเลย ที่หนังสือเล่มนี้จะทำให้คนหนุ่มสาวพิศวงงงงวย และมหัศจรรย์ใจไปกับความซับซ้อน โรแมนติก และหม่นหมองของเรื่อง
สิทธารถะ (1922)
งานเขียนยิ่งใหญ่ของเฮสเส ที่บอกเล่าถึงการแสวงหาและการค้นพบ การเดินทางของเด็กหนุ่ม จากวัยเยาว์สู่วัยชรา การเดินทางข้ามแม่น้ำครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อจะพบพานกับตัวตนที่สลับซับซ้อนดั่งหัวหอม และเมื่อลอกเปลือกออกทีละชั้นๆ อย่างเจ็บปวดรวดร้าวแล้ว ที่สุดก็ไม่ได้พบพานอะไรนอกจากความว่างเปล่า แต่เป็นความว่างเปล่านั้นเอง – ที่ศักดิ์สิทธิ์และมีค่า
สเตปเปนวูล์ฟ (1927)
เล่มนี้ เฮสเสเขียนขึ้นเมื่ออายุ 50 ปี และกลายเป็นงานที่เป็นที่ถกเถียงมากที่สุดเล่มหนึ่งของเขา เรื่องราวของหมาป่าเปลี่ยวกลางทุ่งหญ้า กับเรื่องราวสลับซับซ้อนคล้ายมีเวทมนต์ มีคนตั้งข้อสงสัยว่า เฮสเสใช้ยาทำให้เรื่องราวของเขาพริ้งพราวพิสดารหรือเปล่า แต่ก็ไม่มีหลักฐานอย่างนั้น ทว่างานชิ้นนี้ของเขาก็ได้ชื่อว่าเป็นงานเขียนที่ ‘ไซคีเดลิก’ ที่สุดเล่มหนึ่ง
นาร์ซิสซัสกับโกลด์มุนด์ (1930)
คนสองคนที่มีบุคลิกและนิสัยใจคอตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง คนหนึ่งอยู่ในโลกทางปัญญา คุณธรรม ศาสนา และจิตวิญญาณ แต่อีกคนหนึ่งใช้ชีวิตโลดโผนโจนทะยานอยู่กับเนื้อหนังมังสาและการเตร่ไปในโลก พวกเขาต่างแสวงหาสิ่งเดียวกันด้วยวิถีที่แตกต่าง ทว่าทั้งคู่ต่างก็ปลุกวิญญาณแห่งความรักขึ้นมาในอีกฝ่าย กระทั่งเกิดความงดงามสมบูรณ์ขึ้น
ท่องตะวันออก (1932)
เล่มนี้แลดูคล้ายไม่ได้เป็น ‘เรื่องแต่ง’ (ในความหมายของ Fiction) แต่ที่จริงก็เป็นนิยายเล่มหนึ่งที่เล่าถึงการเดินทางจริงของผองเพื่อนในนามของ ‘สันนิบาต’ มุ่งหน้าสู่โลกตะวันออก ทว่าในระหว่างการเดินทาง เกิดเหตุการณ์ผันผวนพลิกผันขึ้น นำไปสู่ตอนจบที่แปลกประหลาด