อำนาจในห้องเรียน : ความสัมพันธ์ของครูกับนักเรียน

ไปอ่านงานวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจในห้องเรียน แล้วเจอคำถามสำคัญอันนึงที่คิดว่าน่าสนใจมากๆ

มีคนตั้งคำถามว่า Do teachers have an impact on students’ attitudes and behaviors? คือครูมีผลต่อทัศนคติและพฤติกรรมต่างๆ ของนักเรียนหรือเปล่า

โดยส่วนตัวคิดว่า ถ้าเป็นครูสมัยก่อน คำตอบคือมีแน่ๆ เพราะคนสมัยก่อนไม่ได้มี ‘แบบและเบ้า’ (Model) ของความเป็นคนมากมายนัก ครูจึงสามารถสอดตัวเองเข้าไปอยู่ในมาตรฐานตามแบบและเบ้าความเป็นคนที่ยอมรับกันกว้างขวางทั่วไป จนกลายเป็นหนึ่งในบุคคลที่ถูก Institutionalize ให้กลายเป็นที่นับหน้าถือตาและเป็นที่เคารพนับถือ ไม่ใช่เฉพาะในห้องเรียน แต่กับละแวกท้องถิ่นนั้นๆ (พอกับหมอและพระ ที่ก็ถูกกระบวนการ Institutionalization กระทำด้วยเหมือนกัน)

ครูสมัยก่อนจึงไม่ได้เป็นแค่ครู แต่มีหน้าที่แบกรับศักดิ์ศรี เกียรติยศ มาตรฐานศีลธรรม ความถูกต้อง และคุณค่าของความเป็นคน (อย่างน้อยก็แบบหนึ่งซึ่งเป็นแบบที่สังคมนั้นๆ เห็นว่าดีงาม) เอาไว้บนบ่าด้วย เมื่อแบกสิ่งเหล่านี้เอาไว้ ก็ช่วยไม่ได้ที่ครูจะรู้สึกว่าตัวเองต้องส่งผ่านคุณค่าพวกนี้ไปให้ศิษย์ เพราะฉะนั้น ทั้ง Attitudes และ Behaviors ของนักเรียน จึงมีแหล่งที่มาสำคัญอย่างหนึ่งจากครู

เช่น ครูอาจจะเล่านิทานให้นักเรียนฟัง แล้วบอกว่า ‘นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า…’ เจ้าการ ‘สอนให้รู้ว่า…’ นี้แหละ ที่จะไป shape วิธีคิด วิธีมองโลก ทัศนคติ และพฤติกรรมของนักเรียนออกมา นี่ยังไม่นับรวมทัศนคติต่อรสนิยมทางศิลปะ (เช่นครูสอนศิลปะที่ต้องทำหน้าที่ ‘ตัดสิน’ ว่างานแบบไหนดีเลว) หรือทัศนคติทางการเมืองที่แทรกซ่อนอยู่ในการสอน (โดยเฉพาะครูที่สอนวิชาแนวสังคมศาสตร์) หรือวิธีตีความโลกผ่านโจทย์ต่างๆ แม้กระทั่งโจทย์คณิตศาสตร์ หรือโจทย์ที่มีชอยส์ให้เลือกแล้วครูบอกว่ามีคำตอบที่ถูกต้องเพียงคำตอบเดียว ฯลฯ

ครูสมัยก่อนจึงมี impact ต่อทัศคติและพฤติกรรมของนักเรียนแน่ๆ และถือเป็นหน้าที่ที่ต้องทำด้วย ครูต้อง internalize แบบและเบ้าพวกนั้นเข้าไว้ในตัว แล้วทำหน้าที่สืบทอดส่งต่อแบบและเบ้าเหล่านั้นให้นักเรียนต่อไปเหมือนกระสือถุยน้ำลายใส่ฝ่ามือ ซึ่งไม่ใช่แค่ว่าครูอยากหรือไม่อยากทำเท่านั้น แต่นี่คือ ‘หน้าที่’ ของ ‘ความเป็นครู’ ที่ครูก็ภูมิใจด้วยซ้ำ

ครูสมัยก่อนจึงมักบอกลูกศิษย์ว่า ไม่ได้สอนแค่วิชาความรู้ แต่สอน ‘ความเป็นคน’ ให้ลูกศิษย์ด้วย

แต่ปัญหาของโลกยุคใหม่ก็คือ ในตอนนี้ ‘แบบและเบ้า’ ของ ‘ความเป็นคน’ มันหลากหลายมาก เด็กที่เรียนกับครู ไม่ได้เจอกับ source ของความเป็นคนเพียงแบบหรือสองแบบเหมือนเมื่อก่อน (คือไม่ได้เจอแค่กับพ่อแม่และครูเท่านั้น) แต่ต้องเจอโลกที่หลากหลายมาก แค่เปิดยูทูป ก็จะเห็นความหลากหลายของโลกในแบบที่ครูและพ่อแม่ไม่เคยรู้จักมาก่อน

ดังนั้น คำถามที่ควรถามกันต่อไปก็คือ เมื่อตระหนักว่าครูสมัยก่อนมี impact ต่อทัศนคติและพฤติกรรมของเด็ก ‘โดยหน้าที่’ แล้ว พอมาถึงยุคสมัยนี้ ครูยังควรต้องแบกรับหน้าที่หนักอึ้งอันนั้นเอาไว้ต่อไปหรือเปล่า

ครูอาจไม่มีความสามารถพอที่จะเข้าใจ หรือถึงเข้าใจก็อาจรู้สึกว่าตัวเองกำลังยืนอยู่บนเขาควายของความขัดแย้งระหว่างความคิด ความเชื่อ ค่านิยม ที่หลากหลายก็ได้ ตัวอย่างเช่น ถ้าเด็กที่ท้องในวัยเรียนพิจารณาต้นทุนในชีวิตต่างๆ แล้วเห็นว่าตัวเองควรไปทำแท้ง ครูควรจะทำอย่างไร

เขาควายของทุกความขัดแย้งที่เกิดจากความหลากหลายของโลกสมัยใหม่ ต่างมาสุมรุมที่ครู คำถามจึงคือ – ครูควรถูกแยกออกมาจากการสอน ‘ความเป็นคน’ ไหม เพราะก็ต้องยอมรับว่า ครูเองก็เหมือนคนอื่นๆ ทั่วไป นั่นคือมีมุมมองต่อ ‘ความเป็นคน’ ที่จำกัด เรารู้จักความเป็นคนได้ก็เฉพาะสิ่งที่ preconceptions ของเราตีกรอบให้เรา ต่อให้เป็นครู ก็ไม่ใช่จะรู้จักความเป็นคนได้ทุกรูปแบบ และดังนั้น ครูจะยังควรทำหน้าที่เดิมเหมือนในโลกแบบเก่า ด้วยการยัดเยียดความเป็นคนบางแบบให้กับนักเรียนอยู่ต่อไปหรือเปล่า

อย่างไรก็ตาม แม้คำตอบจะคือ – ไม่, ในทางปฏิบัติก็ยังเป็นเรื่องยากเย็นอยู่ดี เพราะความสัมพันธ์เชิงอำนาจในห้องเรียนนั้น ครูคือผู้ที่อยู่เหนือกว่า ประวัติศาสตร์และหน้าที่ดั้งเดิมของ ‘ความเป็นครู’ จับครูวางไว้ในที่ทางที่เป็น ‘ผู้กำหนด’ ซึ่งก็คือผู้ที่มีอำนาจเหนือนักเรียน และดังนั้น ไม่มากก็น้อย ครูย่อมมี impact ต่อทัศนคติและพฤติกรรมของนักเรียน – โดยที่ครูเองก็อาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ

ยิ่งถ้าเป็นครูที่ดีหรือครูที่นักเรียนรัก (ซึ่งเราบอกไม่ได้อีกเช่นกันว่าดีและเป็นที่รักนั้น มีนิยามอย่างไร และเป็นนิยามของใคร ใช้มาตรฐานไหนมาวัด) และนักเรียนอยาก conform กับครู ก็ยิ่งมีโอกาสมากที่ครูจะส่ง impact ทางทัศนคติและพฤติกรรมให้นักเรียน ทำให้ทัศนคติและพฤติกรรมนั้นๆ ยิ่งแข็งแรงขึ้น และในบางกรณีก็อาจเป็นอันตรายได้ด้วย เช่น preconceptions ของทั้งนักเรียนและครูอาจสอดคล้องกันมาตั้งแต่ต้น จึงเสริมกันและกันจนในที่สุดก็ขังทั้งครูและนักเรียนเอาไว้ใน filter bubble ทางความคิด

อำนาจในห้องเรียนเป็นเรื่องซับซ้อนมาก เพราะโดยมากแล้ว ทั้งครูและนักเรียนมักไม่ได้ตระหนักถึงอำนาจพวกนี้ และอำนาจจะทำงานได้ดีที่สุด ก็เมื่อไม่มีใครมองเห็นมัน

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s