เวลาพูดถึงการลงทุน หลายคนไม่ค่อยคิดอะไรมาก มักจะเชื่อตามคำแนะนำในการลงทุนของผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน ซึ่งโดยมากก็ดีนั่นแหละครับ
แต่ปัญหาก็คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินส่วนใหญ่จะให้คำแนะนำแบบ ‘กว้างๆ’ เพราะคุณคงไม่ได้ร่ำรวยเป็นเจ้าสัวขนาดที่สามารถจ้างผู้เช่ียวชาญด้านการเงินมา ‘เทย์เลอร์เมด’ แผนการลงทุนหรือการออมเฉพาะตัวให้คุณได้
หลายคนอาจจะอ่านจากหนังสือเอาด้วยซ้ำ หรือไม่ก็อาจจะไปปรึกษาบริษัทกองทุนต่างๆ ที่มักจะมีการจัดเสวนาอยู่เนืองๆ หรือกระทั่งไปใช้บริการบางกองทุนที่เขามีการแนะนำการลงทุนตามต้นทุนที่มีอยู่ เช่น ลงทุนหนึ่งล้านบาท ควรจะซื้อกองทุนอะไรอย่างไรบ้าง เพื่อให้เกิดการคละเคล้าเฉลี่ย ลดความเสี่ยง และสร้างรายได้จากกองทุนเหล่านั้นขึ้นมา
ถ้าคุณอยู่ในวัย 30s และพบว่าตัวเองเคยลงทุนมาแล้วเรื่อยๆ ตั้งแต่อายุยังน้อย เช่นตั้งแต่ได้เงินเดือนก้อนแรกก็แบ่งมาลงทุนนั่นโน่นนี่เลย คุณอาจไม่น่าเป็นห่วงเท่าไหร่ โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดหุ้นอยู่ในขาขึ้น ตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีทำให้หลายคนมีแต่รอยยิ้ม
แต่ในความเป็นจริงของสังคมไทย เราจะพบว่าคนที่สามารถลงทุนได้ตั้งแต่อายุยังน้อยๆ แปลว่าต้องเป็นคนที่มี ‘ต้นทุน’ ในชีวิตอยู่แล้ว เช่น มีเงินเก็บที่พ่อแม่ให้มา หรือไม่ต้องเช่าบ้านซื้อรถ
ทว่ามีคนอีกจำนวนมากเลยที่ไม่มีโอกาสแบบนั้น แค่รับเงินเดือนมาเพื่อจ่ายค่าเช่าห้อง ค่าน้ำค่าไฟ กันเงินไว้เป็นค่ากิน ส่งกลับบ้าน ฯลฯ ก็แทบจะไม่เหลืออะไรแล้ว จะให้เอาเงินไปลงทุนอีกก็คงไม่ไหว เพราะเงินที่เหลืออยู่นั้นน้อยนิด ในบางคนไม่พอที่จะฝากประจำเสียด้วยซ้ำ สิ่งที่ทำได้จึงมักจะเก็บเงินกันเอาไว้ในบัญชีออมทรัพย์เสียมาก ทั้งที่จริง หากนำไปเก็บไว้ในรูปของการลงทุนอื่นๆ เช่น การซื้อกองทุนพันธบัตร ฯลฯ ก็อาจให้ผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน และหลายกองทุนก็ซื้อได้โดยใช้เงินน้อยๆ ด้วยซ้ำไป
ยังจำได้เลยว่า สมัยผมเรียนจบใหม่ๆ เพื่อนๆ ที่จบมาด้วยกันบอกว่าให้พยายามเก็บเงินจากเงินเดือนให้ได้ครบหนึ่งแสนบาท แล้วเอาหนึ่งแสนนั้นไปลงทุน มันจะค่อยๆ งอกเงยขึ้นมา
ที่จริงต้องบอกว่าผมพอจะมีต้นทุนในชีวิตอยู่บ้างนะครับในช่วงนั้น สิ่งที่ทำจึงคือการกระโดดลงไปซื้อหุ้นของบริษัทมหาชนรายใหญ่เจ้าหนึ่ง ที่แค่เปิดขายหุ้นราคาพาร์ คนก็จองกันมหาศาลจนต้องใช้วิธีจับฉลาก เพราะทุกคนเชื่อว่าหุ้นของบริษัทใหญ่ยักษ์ระดับนี้ (ใหญ่ขนาดที่พูดได้ว่าเป็นบริษัทระดับ ‘ประจำชาติ’ แห่งหนึ่งเลยทีเดียว) ไม่มีทางตกแน่ๆ จากราคาพาร์ 60 บาท ซื้อแล้วต้องพุ่งทะลุขึ้นไปเป็นร้อยๆ บาทแน่ๆ เหมือนหุ้นของธนาคารบางแห่งที่ก็มีลักษณะ ‘ประจำชาติ’ เหมือนกัน
แต่การณ์กลับกลายเป็นตรงข้าม เพราะราคาหุ้นของบริษัทนั้นข้ึนเลยราคาพาร์ไปนิดเดียว แล้วหลังจากนั้นก็ร่วงลงมา และไม่เคยไต่ขึ้นไปถึงราคาพาร์อีกเลย จนที่สุดผมก็ระอาใจกับมัน และเลือกจะ ‘ทิ้ง’ เงินก้อนนั้นไปโดยไม่ Cut Loss อะไรด้วยซ้ำ ได้แต่ป่าวประกาศบอกคนอื่นด้วยความภาคภูมิใจว่า ผมเป็นเจ้าของบริษัท ‘ประจำชาติ’ แห่งนั้นกับเขาด้วยนะ แถมยังไม่เคยไปรับเงินปันผล (ที่ปันออกมาปีละน้อยนิด) อีก
ที่เล่าเรื่องของตัวเองให้ฟังก็คือ ในวัย 20s นั้น มีคนหลายคนที่เลือกลงทุนแล้วได้รับโอกาสดีๆ กลับมา แต่ในเวลาเดียวกันก็มีอีกหลายคนที่ยังไม่สามารถลงทุนอะไรได้ และก็มีอีกหลายคนที่ใช้ต้นทุนของตัวเองจนหมดหรือเกือบหมด หรือไม่ก็ลอง ‘แหยม’ เข้าไปนิดๆ หน่อยๆ จากนั้นก็เกิดอาการเข็ด ไม่กล้าลงทุนอะไรอีกเลย
คนที่เพิ่งลงทุนใหม่ๆ มักจะมีความรู้สึกร่วมกันอย่างหนึ่ง นั่นคือเมื่อไหร่ที่เราซื้ออะไรสักอย่าง ราคาของมันมักจะตก แต่เมื่อไหร่เราขาย ราคาของมันมักจะขึ้น คล้ายกับเป็นคำสาปบางอย่าง
แต่ถ้าคุณค่อยๆ ศึกษาเรียนรู้ไป ไม่ใช่แค่ศึกษาเรียนรู้เรื่องของกองทุนนั้นๆ สินทรัพย์นั้นๆ ฯลฯ เท่านั้นนะครับ แต่รวมไปถึงการศึกษาเรียนรู้ ‘ภายใน’ ของคุณด้วย ว่าคุณสามารถ ‘มั่นคง’ กับมันได้มากแค่ไหน เมื่อมั่นคงและสุขุม ไม่ผลีผลามแล้ว คุณก็จะค่อยๆ เรียนรู้จังหวะซื้อขายที่แม่นยำขึ้นเรื่อยๆ จนแม้จะยังอยู่ในสถานะ ‘แมลงเม่า’ อยู่ แต่ก็คงจะไม่เจ็บตัวเสียจนรู้สึกว่าไม่ควรก้าวเท้าเข้ามาเลย
อย่างไรก็ตาม เมื่ออายุถึง 30s หลายคนมักจะเริ่มมีต้นทุนบางอย่างมากขึ้นแล้ว และคิดว่าตัวเองน่าจะ ‘ลงทุน’ อะไรไว้บ้าง ซึ่งถ้าคุณอยากจะลงทุนในอะไร ก็ต้องไปศึกษากันเอาเองนะครับ เพราะการลงทุนแต่ละประเภทมีรายละเอียดของมันที่แตกต่างกันออกไป แต่เรื่องหนึ่งที่อยากจะเตือนกันไว้ (เพราะไม่ค่อยเห็นใครพูดถึงเท่าไหร่) ก็คือไม่ว่าคุณจะมีต้นทุนเท่าไหร่ สิ่งที่คุณจะลงทุนไปนั้น ก็ควรจะ ‘สมดุล’ กับสิ่งที่เรียกว่า Life Events ของคนวัย 30s (หรือของตัวคุณเอง) ด้วย
อะไรคือ Life Events?
Life Events ในที่นี้ไม่ใช่การประกาศลงไปในเฟซบุ๊คว่าวันนี้ฉันลดน้ำหนักได้ครบ 10 กิโลกรัมตามที่ตั้งใจเอาไว้แล้วเท่านั้น แต่ Life Events คือเหตุการณ์ใหญ่ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตของเราได้จริงๆ ตัวอย่างที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งของคนในวัย 30s ก็คือการแต่งงาน
แน่นอน การแต่งงานไม่ใช่การลงทุน และหลายคนก็อาจมองว่าการแต่งงานไม่เกี่ยวอะไรกับการลงทุนที่เรากำลังพูดถึงกัน แต่จะว่าไม่เกี่ยวเลยก็ไม่ได้นะครับ ถ้าไปดูค่าเแลี่ยของชีวิตแต่งงานของคนในโลก เขาบอกว่าผู้ชายจะแต่งงานมากที่สุดที่อายุเฉลี่ย 29 ปี ส่วนผู้หญิงอยู่ที่ 27 ปี แต่ถ้าเป็นคนเมือง คนที่อายุน้อยหน่อย หรือคนที่มีการศึกษาสูง ก็จะแต่งงานช้ากว่านี้ นั่นแปลว่าอายุเฉลี่ยที่คนรุ่นใหม่จะแต่งงาน ก็มักจะอยู่ในวัย 30s นี่แหละครับ เพราะฉะนั้น การแต่งงานจึงถือเป็น Life Events อย่างหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งเมื่อแต่งงานแล้ว ก็จะมี Life Events อื่นๆ ตามมาเป็นพรวน เช่น ความรับผิดชอบต่อครอบครัวที่เปลี่ยนไป การมีลูก การเลี้ยงดูลูก หรือ Life Events อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือ พ่อแม่ของคนวัย 30s จะเริ่มเกษียณ ซึ่งถ้าเป็นครอบครัวที่มีเงินเก็บก็แล้วไป แต่ถ้าไม่ใช่ การเกษียณแปลว่าคนวัย 30s ก็ต้องใช้จ่ายเงินเพื่อเลี้ยงดูพ่อแม่ด้วย โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาลที่จะแพงขึ้นเรื่อยๆ
แน่นอน – ซึ่งทั้งหมดนี้คือค่าใช้จ่าย
ที่น่าสนใจ (และบางคนอาจรู้สึกว่าชีวิตไม่ยุติธรรมนัก) ก็คือ Life Events (ที่เป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ) พวกนี้ มันดันมาเกิดตอนที่เราดูเหมือนจะตั้งหลักปักฐานได้ คืออยู่ในวัย 30s ที่เริ่มมั่นคงทางการทำงาน เริ่มมีรายได้สูงขึ้น เป็นกำลังหลักในการสร้างผลิตภาพหรือ Productivity ให้กับประเทศ ควรจะสามารถใช้เงินเพื่อปรนเปรอตัวเองได้บ้าง แต่ก็กลับต้องมามีภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ เพิ่มขึ้นเพราะ Life Events เหล่านี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณอาจไม่เคยคาดคิดมาก่อนตอนอายุ 20s
ดังนั้น เวลาจะวางแผนการเงิน แผนการลงทุนอะไร ก็ต้องนำแผนของผู้เชี่ยวชาญต่างๆ มาประกอบเข้ากับเหตุการณ์ในชีวิตของคุณ ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะตัวด้วยนะครับ
Life Events ที่อาจเกิดขึ้นได้ นอกจากการแต่งงาน, มีลูก, ดูแลพ่อแม่ที่เกษียณหรือเจ็บป่วย แล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่หลายคนอาจไม่ได้คิดหรือไม่อยากคิด ก็คือการต้อง ‘เปล่ียนงาน’ เพราะคนวัย 30s นั้นเป็นช่วงเวลาพิเศษหนึ่งของชีวิต นั่นคือหลายคนจะรู้สึกว่าตัวเองมาถึง ‘ขาลง’ บางอย่าง เช่น ตันกับอาชีพการงาน ชนกำแพงความสามารถของตัวเอง ฯลฯ พูดง่ายๆ ก็คือ ค้นพบข้อจำกัดของตัวเอง เป็นข้อจำกัดที่ไม่เคยมองเห็นเลยสมัยที่อายุ 20s และยังเห็นทุกอย่างในโลกสดใสไปหมด
ดังนั้น อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องคิดเอาไว้ด้วยก็คือเรื่องของการเปลี่ยนงาน หรือกระทั่งเปลี่ยนอาชีพไปเลย เพราะพูดโดยทั่วไป อายุ 30s น่าจะเป็นหัวโค้งสุดท้ายแล้วที่คุณจะสามารถเริ่มต้นเรียนรู้งานใหม่ๆ ได้ ไม่อย่างนั้นก็อาจจะต้องกลายเป็นเจ้าของกิจการเสียเอง ซึ่งก็จะมีความเสี่ยงอีกแบบหนึ่ง
ในโลกที่ทุกอย่างผันผวนเปลี่ยนแปลงรวดเร็วอย่างนี้ Life Events ของเราก็มักจะผันผวนเปลี่ยนแปลงรวดเร็วตามไปด้วย ดังนั้นเรื่องสำคัญอย่างหนึ่งของการที่จะนำเงินออมไปลงทุน จึงคือการคำคำนวณเรื่องที่คิดคำนวณได้ยาก อย่าง Life Events ต่างๆ ที่มีผลต่อภายใน ความสุข และความนึกคิดจิตใจของตัวคุณด้วย
ถ้าถามว่า วัย 30s ควรลงทุนอย่างไร
คำตอบที่พูดง่ายจนเหมือนพูดพล่อยๆ แต่ทำได้ยากมาก – ก็คือ, ต้องลงทุนอย่างสมดุล แต่จะลงทุนอย่างสมดุลได้ คุณก็ต้อง ‘รู้จัก’ กับชีวิตของตัวเองอย่างถ่องแท้โดยไม่หลอกตัวเองเสียก่อน
ตรงนั้นนั่นแหละครับ – ที่มักเป็นเรื่องยาก