คุณเคยสงสัยไหมว่า-ถ้าเราทุกคนอยู่ไปได้ถึงอายุ 100 ปีกันหมด, โลกจะเป็นอย่างไร
เท่าที่เป็นมาตลอดระยะเวลาหลายพันปี ใครอายุถึง 40 ปีได้นี่นับว่าเก่งแล้วนะครับ อายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์นั้นต่ำมาก ยุคโรมันอยู่ที่ยี่สิบกว่าปี และส่วนใหญ่ก็ไม่เคยเกิน 30 ปี ซึ่งไม่ได้แปลว่าทุกคนในสังคมจะตายตอนอายุน้อยๆนะครับ มีผู้อาวุโสอายุเกิน 40 ปี ไปจนถึงเจ็ดสิบแปดสิบปีอยู่ด้วย แต่ไม่มากนัก และอัตราการตายตอนวัยเด็ก (โดยเฉพาะตอนคลอด) ก็สูง นั่นจึงไปดึงค่าเฉลี่ยของอายุลงมา
แต่นับตั้งแต่ปี 1840 เป็นต้นมา อายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์เราก็สูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกวันนี้ เขาบอกว่าเด็กที่เพิ่งเกิดในแต่ละปี จะมีอายุขัยเฉลี่ยสูงกว่าเด็กที่เกิดในปีก่อนหน้าราวๆ 3 เดือน ซึ่งก็แปลว่ายิ่งเวลาผ่านไปนานขึ้น คนเราก็จะมีอายุขัยเฉลี่ยสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากความเป็นอยู่และวิทยาการทางการแพทย์ดีขึ้น
ดังนั้น การที่คนเราจะมีอายุถึง 100 ปี จึงไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป
แต่คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ แล้วหากเรา (แทบ) ทุกคน มีอายุถึง 100 ปี พร้อมๆกัน-อะไรจะเกิดขึ้น
เราพูดกันถึง Ageing Society กันมาระยะหนึ่งแล้ว แต่หากแนวโน้มยังเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ในที่สุดมนุษยชาติอาจเข้าสู่สภาวะที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนก็ได้ นั่นก็คือการกลายเป็นสังคมแบบ Ultra-Ageing Society หรือสังคมผู้สูงอายุ (มาก)
เราพูดกันว่า ถ้าสังคมเป็น Ageing Society สังคมต้องเปลี่ยนไปเป็นสังคมที่มีการออกแบบที่ ‘นับรวม’ คนทุกคน (คือมี Inclusive Design) เช่น สะพานลอยที่คนสูงวัยเดินข้ามไม่ไหว ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือออกแบบใหม่ให้คนทุกคนในสังคม ไม่ว่าจะมีสภาพร่างกายอย่างไร, สามารถใช้งานได้
Ageing Society ไม่ได้หมายถึงสังคมที่มีแต่คนชราแบบที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หรือเป็นคนชราใน ‘แบบ’ ที่เราคิดนะครับ เพราะคนชราใน Ageing Society คือผู้สูงวัยที่ยังกระฉับกระเฉง กระตือรือร้น เต็มไปด้วยพลังงานที่จะใช้ชีวิต แถมยังมีต้นทุนให้ใช้ชีวิตได้ดีกว่าหนุ่มสาวด้วยซ้ำ เพราะสั่งสมทรัพย์สินมาทั้งชีวิต และมีเวลาว่างจากการทำงานมากกว่า
แต่การเป็น Ultra-Ageing Society นั้นต่างออกไป เพราะต่อให้มนุษย์มีอายุยืนยาวถึง 100 ปี หรือกว่านั้น ก็ไม่ได้แปลว่าคนจำนวนมากจะยังคงแข็งแรงหรือกระตือรือร้นเหมือนผู้สูงวัยที่อายุหกสิบถึงแปดสิบปีกันทุกคนไป แน่นอนว่ามีผู้สูงวัยอายุเก้าสิบหรือร้อยปีที่ยังแข็งแรงและมีพลังอยู่ แต่ก็มักจะเป็นคนส่วนน้อย ดังนั้น Ultra-Ageing Society จึงเป็นสภาวะของสังคมที่น่าสนใจมาก ว่าเราจะมีวิธีจัดการอย่างไร เนื่องจากนี้เป็นสภาวะของสังคมในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลยในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ
อย่าคิดว่านี่เป็นเรื่องขำๆเอาไว้อำกันเล่นนะครับ เพราะสังคมแบบนี้น่าจะเป็นไปได้จริงในอนาคตอันใกล้ ดังนั้น การสร้างสังคมแบบที่ ‘นับรวมทุกคน’ (Inclusive Society) คือออกแบบทุกสิ่งทุกอย่างในสังคมเพื่อให้คนทุกคนมีโอกาสใช้งานสิ่งต่างๆได้เท่าเทียมกันโดยใช้ฐานคิดในปัจจุบันจึงอาจไม่พอเพียงด้วยซ้ำ เราอาจต้องคิดถึงเทคโนโลยีที่ใหม่กว่าที่เป็นอยู่ หรือดัดแปลงประยุกต์เทคโนโลยีที่มีอยู่ โดยให้มีทิศทางที่คำนึงถึงผู้สูงวัยเป็นหลัก (เรียกได้ว่าเป็นสินค้าหรือบริการแบบ Ageing Oriented ก็ได้) อย่างเช่นญี่ปุ่นก็กำลังคิดรถที่ไร้คนขับขึ้นมา ไม่ใช่เพื่อสำแดงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีหรือเอื้อประโยชน์ให้กับคนหนุ่มสาวเท่านั้น ทว่าคิดเพื่อให้รถไร้คนขับนั้นเป็นรถที่เหมาะสมกับผู้สูงวัยในระดับ Ultra-Ageing กันโดยเฉพาะ
ในแง่นี้ นอกจากกลุ่มคนเจนเนอเรชั่นใหม่ๆที่นักการตลาดต้องจับตาดูแล้ว คนในเจนเนอเรชั่นเก่าๆที่กำลังจะกลายเป็นปรากฏการณ์ใหม่นั้น-พวกเขาต้องการสินค้าและบริการอะไรอีกบ้าง,
ใครเห็นก่อนได้เปรียบกว่าแน่ๆครับ!