วิทยาศาสตร์ของมิตรภาพ : จากชีววิทยาวิวัฒนาการถึงอายุขัยของความเป็นเพื่อน

คุณเคยมีเพื่อนที่ ‘หาย’ ไปจากชีวิตไหมครับ

บางคนบอกว่า เมื่อคบใครเป็นมิตรสหายแล้ว มิตรภาพนั้นจะดำรงคงอยู่ไปชั่วฟ้าดินสลาย แต่เอาเข้าจริงแล้ว ความเป็นเพื่อนก็มีอายุขัยของมันอยู่นะครับ

หลายปีก่อน นักสังคมวิทยาชาวดัตช์อย่าง เจอรัลด์ โมลเลนฮอร์สต์ (Gerald Mollenhorst) แห่งมหาวิทยาลัยอุเทรคท์ (Utrecht University) ได้ทดลองและสำรวจเรื่องราวของ ‘มิตรภาพ’ ของคนส่วนใหญ่ และพบว่าเมื่อเวลาผ่านไป 7 ปี มนุษย์เรามีแนวโน้มจะทำเพื่อนหายไปครึ่งหนึ่ง

การทดลองนี้ทำในคนถึง 1007 คน ที่อยู่ในวัย 18-65 ปี โดยมีการสัมภาษณ์และสำรวจเอาไว้ก่อน จากนั้นผ่านไป 7 ปี ก็ย้อนกลับมาสัมภาษณ์กันใหม่อีกรอบหนึ่ง ซึ่งก็จะเหลือกลุ่มตัวอย่างอยู่ 604 คน 

คำถามสัมภาษณ์มีอาทิ ปกติแล้วคุยกับใครบ้างเวลามีเรื่องสำคัญๆ โดยเฉพาะเรื่องส่วนตัว ใครช่วยคุณทำโน่นทำนี่ที่บ้าน (เช่น ซ่อมของต่างๆ แบบ DIY) คุณรู้จักคนคนนั้นได้อย่างไร เวลาพบกันไปพบกันที่ไหน อะไรทำนองนี้

งานวิจัยนี้มีเป้าหมายเพื่อดูว่า บริบททางสังคมมีผลอย่างไรต่อความสัมพันธ์ของผู้คน อย่างเช่น ในบรรดาคู่สามีภรรยาทั้งหลาย บริบททางสังคมส่งผลอย่างไรต่อชีวิตคู่บ้าง หรือในความสัมพันธ์แบบเพื่อน บริบททางสังคมส่งผลอย่างไรบ้าง โดยเขาคาดเดาเอาไว้เป็นสมมุติฐานว่า ถ้าเป็นความสัมพันธ์ที่ ‘แข็งแรง’ (Strong Relationships) เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักหรือคู่แต่งงาน บริบททางสังคมน่าจะมีผลต่อความสัมพันธ์น้อยกว่า

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ถ้าคนเรารักชอบพอกันแล้วละก็ ต่อให้สภาพแวดล้อมรอบข้างเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ก็ไม่ควรจะทำให้ความสัมพันธ์นั้นเปลี่ยนแปรไปได้ ไม่เหมือนความสัมพันธ์ประเภทที่อ่อนแอ (Weak Relationships) เช่นความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนหรือคนรู้จัก

แต่ปรากฏว่า ผลลัพธ์ที่ได้ที่น่าสนใจมากกว่าก็คือเรื่องความสัมพันธ์ของเพื่อน

เขาพบว่า เมื่อเวลาผ่านไปราว 7 ปี คนเราจะทำเพื่อนหายไปราวครึ่งหนึ่ง โดยที่การทำหายนั้น แม้จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยตั้งใจส่วนหนึ่ง (เช่น ทะเลาะกันจนเลิกคบกันไป) แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่ใช่อย่างนั้น

เขาพบว่า ‘เครือข่าย’ ทางสังคมที่เกิดขึ้น หลักๆ แล้วไม่ได้ก่อตัวขึ้นมาบน ‘ทางเลือก’ ของเราเอง นั่นคือต่อให้เราชอบพบเพื่อนคนนั้นคนนี้ และอยากคบหาสมาคมกันไป แต่เงื่อนไขทางสังคมต่างๆ จะเป็นตัวกำหนดมากกว่าว่าเราจะได้คบกันต่อหรือเปล่า

โดยทางเลือกนั้นจะถูกกำกับโดย ‘โอกาส’ ที่จะได้พบกัน และอย่างที่เรารู้กันอยู่ เวลาที่เราไม่ได้พบกับเพื่อนบางคนหรือบางกลุ่มเป็นเวลานานๆ ความสัมพันธ์ก็มักจะห่างหายกันไปโดยไม่รู้ตัว กว่าจะมารู้ตัวอีกทีก็คือเพื่อนได้หายไปแล้วราวครึ่งหนึ่ง แต่นั่นไม่ได้แปลว่าเราไม่มีเพื่อนใหม่นะครับ เพราะในช่วงเวลา 7 ปีที่ว่านั่น เราก็สร้างเพื่อนใหม่ขึ้นมาทดแทนเพื่อนที่สูญหายไปเรื่อยๆ ด้วยเหมือนกัน 

คำถามถัดมาก็คือ แล้วเรา ‘สร้างเพื่อน’ ขึ้นมาจากอะไร

เรื่องนี้มีอีกงานวิจัยหนึ่งของมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนียมารองรับนะครับ เป็นงานวิจัยของ ปีเตอร์ เดอสซิโอลี (Peter DeScioli) และ โรเบิร์ต เคิร์ตซบาน (Robert Kurzban) ซึ่งตั้งทฤษฎีที่บอกว่า ‘เพื่อน’ แท้จริงก็คือ ‘พันธมิตร’ (Allies) ของเรา ในอันที่จะต่อกรกับเรื่องต่างๆ รอบตัว

ดังนั้น เราจะเลือกคบเพื่อนคนไหนหรือกำจัดเพื่อนคนไหนออกไปจากตัว ก็ขึ้นอยู่กับกลไกการรับรู้ (Cognitive Mechanism) ที่มีเป้าหมายอยู่ตรงการ ‘สร้าง’ กลุ่มสนับสนุน (Support Group) แบบพร้อมใช้ (เขาใช้คำว่า Ready – Made) ต่อความขัดแย้งในสถานการณ์หนึ่งๆ

‘ความเป็นเพื่อน’ ส่วนใหญ่จึงมักเกิดขึ้นเมื่อมีปฏิปักษ์บางอย่างร่วมกัน โดยสิ่งที่เป็นศัตรูร่วมนั่นแหละครับ คือตัวการฟูมฟักความสัมพันธ์กับเพื่อนเหล่านี้เอาไว้ เคิร์ตซบานบอกว่า เราอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งหรือ Conflict ดังนั้น ‘เพื่อน’ หรือคนที่มีความคิดเห็นต่อความขัดแย้งต่างๆ แบบเดียวกับเรา จึงถูกเรามองและ ‘ให้คุณค่า’ ว่าเป็นพันธมิตรที่ ‘ร่วมรบ’ กับเรา

ฟังดูเกินจริงเอามากๆ ใช่ไหมครับ เพราะบางคนบอกว่า เราไม่ได้เลือกคบเพื่อนเพื่อให้เพื่อนมาอยู่ฝั่งเราเสียหน่อย เราเลือกคบเพื่อนเพราะเพื่อนเป็นคนน่ารักหรืออะไรทำนองนั้นมากกว่า ไม่ได้ ‘คิดคำนวณ’ อะไรเลยว่าเพื่อนจะต้องมาอยู่ฝ่ายเดียวกับเราหรือคอยสนับสนุนเราเวลาเกิดความขัดแย้งอะไรขึ้นมา

แต่นักชีววิทยาวิวัฒนาการอย่าง ลอเรน เบรนต์ (Lauren Brent) แห่งมหาวิทยาลัยเอ็กซีเทอร์ ก็อธิบายเอาไว้คล้ายๆ กันด้วย เธอบอกว่าเรื่อง ‘เพื่อน’ เป็นเรื่องที่ฝังลึกอยู่ในวิวัฒนาการของมนุษย์

มีการทดลองให้อาสาสมัครทำเรื่องที่ตัวเองคิดว่าเสี่ยง เช่น พูดต่อหน้าที่ชุมนุมชน เขาพบว่าถ้าขณะพูดมีเพื่อนอยู่ในกลุ่มผู้ฟังด้วย อัตราการเต้นของหัวใจของอาสาสมัครจะต่ำกว่าเวลาไม่มีเพื่อนอยู่ด้วย

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ถ้ามีเพื่อนอยู่ด้วยเราจะไม่ตื่นเต้นอะไรมาก ซึ่งเรื่องนี้ เบรนต์บอกว่ามันมาจากวิวัฒนาการเลย เพราะการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน (หรือสมาชิกที่อยู่ร่วม ‘ฝูง’ เดียวกัน) จะทำให้ความเครียดของเราลดน้อยลง (โดยเฉพาะเวลาออกไปล่าสัตว์หรือหาของป่าด้วยกัน) การมีเพื่อนทำให้สมองหลั่งสารโดปามีนและเอนดอร์ฟินออกมามากกว่า และทำให้เรามีแรงขับเคลื่อนอยากทำสิ่งนั้นสิ่งนี้มากกว่า 

บางคนอาจจะสงสัยว่า ก็เพื่อนไม่ได้เป็นญาติอะไรกับเรานี่นา ทำไมเราถึงยังสามารถ ‘ให้คุณค่า’ กับเพื่อนได้ขนาดนั้นอีกล่ะ

ต้องบอกว่า มนุษย์เป็น ‘สัตว์ฝูง’ ที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่นะครับ ดังนั้นจึงแวดล้อมอยู่ด้วยคนที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัวของตัวเองด้วย (คือเป็น non-family members)

จึงทำให้เกิดรูปแบบของความสัมพันธ์ในฝูงที่ไม่จำเป็นต้องเป็นญาติหรือมีสายเลือดใกล้ชิดร่วมกันเท่านั้นจึงจะไว้วางใจกันได้ เบรนต์บอกว่ารูปแบบนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์โน่น และทำให้เราสามารถ ‘ลงทุน’ กับคนที่เป็นเพื่อนของเรา ได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้เวลา พลังงาน หรือกระทั่งให้ของต่างๆ กับเพื่อน

ถ้ามองอย่างนี้ ก็อาจไม่น่าประหลาดใจเท่าไหร่นักหรอกนะครับ ที่เพื่อนบางคนจะได้รับการเอื้อเฟื้อจากเพื่อนบางคนมากเป็นพิเศษ ถึงขั้นที่สามารถหยิบยืมเงินเป็นร้อยๆ ล้าน หรือให้นาฬิการาคาแพงๆ กันยืมได้

คนเหล่านี้อาจเข้าใจความหมายของคำว่าเพื่อนดีกว่าคนอื่นๆ ก็เป็นได้!