ถ้าตรวจเลือดดูได้ว่า อีกสามสิบปีข้างหน้าเราจะเป็นอัลไซม์เมอร์หรือเปล่า – คุณจะตรวจไหม

อัลไซม์เมอร์เป็นโรคที่น่ากลัว

หลายคนอาจคิดว่า ถ้าเราป่วยเป็นอัลไซม์เมอร์ อาจไม่ค่อยน่ากลัวเท่าไหร่ ก็แค่จำอะไรไม่ได้เท่านั้น ปัญหาน่าจะเกิดกับคนดูแลเรามากกว่า เพราะต้องทุ่มเทกำลังกายกำลังใจและกำลังทรัพย์ในการดูแล

แต่ลองนึกดูสิครับ ว่าถ้าคุณเป็นอัลไซม์เมอร์แบบรุนแรง กระทั่งไม่อาจจดจำใครได้เลย ก็เท่ากับว่าตื่นขึ้นมาทุกๆ วัน คุณต้องพบกับ ‘คนแปลกหน้า’ (ที่จริงๆ คือญาติมิตรหรือกระทั่งคู่ชีวิตของคุณ) ตลอดเวลา คุณไม่รู้จักใครเลย จำใครไม่ได้ หรืออาจจะจำกระทั่งบ้านและสถานที่ที่ตัวเองอยู่ก็ไม่ได้ ความหวาดกลัวนี้อาจถึงขั้นรุนแรงมากๆ ได้ โดยเฉพาะถ้าเดิมทีคุณเป็นคนไม่ชอบคนแปลกหน้าอยู่แล้ว และต่อให้คุณเป็นเอ็กซ์โทรเวิร์ตขั้นสุดอย่างไรก็ตาม ถ้าตลอดเวลาคุณไม่รู้สึกเหมือน ‘อยู่บ้าน’ (Feel At Home) เลย เพราะจดจำอะไรไม่ได้สักอย่าง สภาวะแบบนั้นย่อมไม่ใช่เรื่องดีแน่ๆ

แต่เราจะรู้ได้อย่างไรล่ะครับ ว่าเรามีแนวโน้มจะเป็นอัลไซม์เมอร์หรือเปล่า หรือว่ามีแนวโน้มแล้วจะแก้ไขได้อย่างไรบ้างไหม

ล่าสุด เพิ่งมี ‘ข่าวดี’ ออกมานะครับ เขาบอกว่าการตรวจเลือดแบบใหม่อาจทำให้เรารู้ตัวก็ได้ ว่าเรามีความเสี่ยงจะเป็นโรคอัลไซม์เมอร์ในอนาคตหรือเปล่า

การตรวจเลือดที่ว่านี้ เป็นการตรวจในพลาสมา (Plasma) ของเลือด เพื่อดูว่าพลาสมามีระดับของโปรตีนเหนียวๆ ที่เรียกว่า อะมีลอยด์ – เบต้า (Amyloid – Beta) อยู่มากแค่ไหน

โปรตีนชนิดนี้เป็นโปรตีนที่ไปสะสมอยู่ในสมองของผู้ป่วยอัลไซม์เมอร์ โดยจะค่อยๆ สะสม กินเวลานานนับสิบๆ ปี ก่อนที่ผู้ป่วยจะแสดงอากาารของโรคออกมา ซึ่งจะรู้ได้ก็ต้องสแกนสมองหรือเจาะไขสันหลังดู แต่กว่าจะสแกนสมองแล้วรู้ว่ามีโปรตีนนี้อยู่ ก็สายไปเสียแล้ว เพราะเราได้ป่วยเป็นอัลไซม์เมอร์ไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม เพิ่งมีรายงานวิจัยที่บอกว่าการตรวจเลือดว่ามีสารอะมีลอยด์ – เบต้า อยู่มากน้อยแค่ไหน สามารถบอกเราได้ถึงความเสี่ยงเรื่องอัลไซม์เมอร์ในอนาคต โดยการทดลองนี้จริงๆ ไม่ใช่การทดลองใหม่ เคยมีการทดลองมาก่อนหน้าแล้วในปี 2017 ทว่าเป็นการทดลองของทีมนักวิทยาศาสตร์อีกทีมหนึ่ง และเป็นการทดลองในกลุ่มที่เล็กกว่า ดังนั้น การทดลองครั้งนี้ (ของวิทยาลัยแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตันในเซนต์หลุยส์) จึงเป็นการยืนยันผลการทดลองแรก

ในปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีรักษาผู้ป่วยอัลไซม์เมอร์ได้ และไม่มีวิธีที่จะชะลอหรือหยุดยั้งอาการของโรคนี้ด้วย ดังนั้น การตรวจรู้เสียตั้งแต่เนิ่นๆ จึงจะช่วยให้เราประเมินได้ว่าผลลัพธ์สุดท้ายของผู้ป่วยอัลไซม์เมอร์จะเป็นอย่างไร รวมทั้งจะได้เตรียมตัว (และเตรียมใจ) ล่วงหน้าด้วย ว่าถ้าเกิดอาการของอัลไซม์เมอร์ขึ้นมาจริงๆ แล้ว เราต้องทำอย่างไร

การตรวจเลือดเป็นวิธีที่ง่าย เพราะแค่เจาะเลือดแล้วนำไปตรวจก็พอรู้ได้เลยว่า ผู้ป่วยแต่ละคนมีโอกาสที่จะเป็นอัลไซม์เมอร์มากน้อยแค่ไหน แต่กระนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะตรวจหาอะมีลอยด์ – เบต้า เพราะแม้มันจะล่องลอยอยู่ในกระแสเลือด แต่ก็มีปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับที่ไปสะสมอยู่ในสมอง ดังนั้น การศึกษาวิจัยก่อนหน้านี้ จึงไม่พบความสัมพันธ์ที่คงที่ระหว่างสารชนิดนี้ในเลือดกับในสมอง 

แต่ในการทดลองใหม่นี้ นักวิจัยใช้เทคโนโลยี Spectrometry แบบใหม่ ที่มีเทคนิคในการวัดปริมาณสารที่ละเอียดอ่อนยิ่งขึ้นกว่าสมัยก่อน ทำให้ตรวจพบโปรตีนชนิดนี้ได้แม้จะอยู่ในปริมาณน้อยๆ ก็ตาม 

ที่สำคัญก็คือ แทนที่จะไปมองหาระดับของโปรตีนนี้ในเลือดทั้งหมด ก็ใช้วิธีคำนวณอัตราส่วนของโปรตีนชนิดนี้ในรูปแบบต่างๆ กัน ซึ่งเมื่อได้ค่าการตรวจวัดออกมาแล้ว ก็สามารถแยกแยะได้ระหว่างคนที่มีโปรตีนนี้สะสมอยู่ในสมองเป็นปริมาณมาก กับคนที่ไม่ได้มีโปรตีนนี้สะสมอยู่ในสมอง โดยเขาบอกว่า ผลการตรวจเลือดนี้มีความแม่นยำมากถึง 90% ในผู้ป่วยที่เป็นอาสาสมัคร ซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่น 121 คน และชาวออสเตรเลีย 252 คน

การตรวจเลือดนี้จะทำนายได้ว่า ในปี 30 ปีข้างหน้า เราจะป่วยเป็นโรคอัลไซม์เมอร์หรือเปล่า นั่นทำให้มีเวลาหลายทศวรรษในการเตรียมตัว แต่คำถามก็คือ คนท่ัวไปจะตรวจเลือดเพื่อหาอัลไซม์เมอร์หรือเปล่า เพราะโดยทั่วไป หากยังไม่ได้แสดงอาการของโรคออกมา หลายคนก็คงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องตรวจเลือดเพื่อดูว่าตัวเองมีความเสี่ยงในเรื่องนี้หรือเปล่า อย่างไรก็ตาม ถ้าเราดูตัวเลขผู้ป่วยอัลไซม์เมอร์ เราจะพบว่าผู้ป่วยอัลไซม์เมอร์เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ประมาณว่าคนอเมริกันที่มีอาการอัลไซม์เมอร์นั้น มีมากถึงราวห้าล้านคน ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษามากถึง 259 พันล้านเหรียญ ในขณะที่อังกฤษมีผู้ป่วยโรคนี้ราว 520,000 คน ต้องใช้งบประมาณปีละ 26.3 พันล้านปอนด์ ซึ่งเป็นตัวเลขมหาศาล

ดังนั้น การ ‘รู้’ เสียแต่เนิ่นๆ ว่าใครมีความเสี่ยงที่จะเป็นอัลไซม์เมอร์หรือไม่ จึงน่าจะทำให้เกิดการวางแผนใหญ่ ทั้งในระดับปัจเจกและในระดับรัฐ เพื่อรับมือกับ ‘คลื่น’ ของผู้คนที่จะป่วยเป็นอัลไซม์เมอร์ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม งานนี้ก็ยังต้องศึกษาค้นคว้ากันต่อไปอีกระยะหนึ่ง และที่สำคัญก็คือ นี่ ‘ไม่ใช่’ การรักษาโรคอัลไซม์เมอร์อะไรนะครับ เป็นเพียงแต่การ ‘เตือน’ ของร่างกายเท่านั้น ว่าในอนาคตคนคนนั้นอาจมีอาการอัลไซม์เมอร์ขึ้นมาก็ได้ แต่ บิล เกตส์ ก็ได้ประกาศเมื่อปลายปีที่แล้วว่าจะมอบเงินตั้งต้น 100 ล้านเหรียญ เพื่อช่วยต่อกรกับอัลไซม์เมอร์ ซึ่งก็นับว่าเป้นข่าวดี แต่กระนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

เอาเข้าจริง อัลไซม์เมอร์อาจเป็นโรคที่น่ากลัวที่สุดของมนุษย์ก็ได้ เพราะมันหมายถึงการลบเลือนสิ้นถึงสิ่งต่างๆ ท่ี่เคยมี ‘ความหมาย’ กับชีวิตของเรา

และทำให้ตัวเราไม่ได้เป็นตัวเราอีกต่อไป