ครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลก : เมื่อผู้หญิงวัย 30s มีลูกมากกว่าผู้หญิงวัย 20s

เวลาพูดถึงวัยมีลูก หลายคนคิดว่าผู้หญิงน่าจะมีลูกในวัย 20s มากกว่าวัยหลังจากนั้นใช่ไหมครับ

ใช่แล้ว – ตามสถิติแล้ว แม่ๆ ทั้งหลาย มักจะเริ่มมีลูกกันในช่วงอายุ 20s จริงๆ ด้วย โดยเราเชื่อถือกันมายาวนานว่า ถ้าผู้หญิงอายุเลย 30 ปีไปแล้ว การมีลูกจะทำให้เกิดปัญหา เช่น ลูกไม่แข็งแรง มีอาการเจ็บไข้ได้ป่วยโน่นนั่นนี่ตามมา

แต่ในปีที่ผ่านมานี้นี่เอง ตัวเลขใหม่ของ CDC หรือ Centres of Disease Control and Prevention ของสหรัฐอเมริกา เพิ่งประกาศออกมาว่า ผู้หญิงที่มีอายุ 30 ถึง 34 ปี จะมีอัตราการให้กำเนิดทารกมากถึง 102.6 คน ต่อ 1,000 คน พูดอีกอย่างก็คือ ผู้หญิงวัยนี้พันคนจะมีลูก 102.6 คน ส่วนผู้หญิงวัย 25 ถึง 29 ปี จะมีอัตราการให้กำเนิดทารกแค่ 101.9 ต่อ 1,0000 ซึ่งน้อยกว่า

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ผู้หญิงวัย 30-34 ปี มีลูกมากกว่าผู้หญิงวัย 25-29 ปี

ซึ่งไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อน!

ในปีก่อนหน้านี้ อัตราการเกิดในผู้หญิงวัย 30-34 ปี อยู่ที 101.5 ต่อ 1,000 ส่วนของผู้หญิงวัย 25-29 ปี อยู่ที่ 104.3 ต่อ 1,000 ซึ่งแสดงว่าผู้หญิงวัย 25-29 ปี มีลูกมากกว่าผู้หญิงวัยสามสิบ แต่ตอนนี้ไม่เป็นแบบนั้นอีกแล้ว

คำถามก็คือเกิดอะไรขึ้นกันแน่?

อีกเทรนด์หนึ่งที่น่าสนใจมากก็คือ ปัญหาเรื่อง ‘ท้องในวัยรุ่น’ หรือการมีลูกตั้งแต่อยู่ในวัยทีนในสหรัฐอเมริกานั้น เริ่มจะพบเห็นได้น้อยลงเรื่อยๆ นะครับ เขาบอกว่า อัตราการมีลูกของแม่วัยรุ่นระหว่างปี 2000 ถึง 2014 นั้น พบว่าลดลงไปถึงครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว

ตัวเลขชัดๆ ก็คือ ในปี 2016 วัยรุ่นหญิงหนึ่งแสนคน ให้กำเนิดทารกแค่ 25 คนเท่านั้น แต่ในทศวรรษ 90s วัยรุ่นหญิงหนึ่งแสนคนจะมีคนที่มีลูกถึง 93 คน 

แล้วถ้าไปหาค่าเฉลี่ยอายุของผู้หญิงที่เป็นแม่ครั้งแรก เขาพบด้วยนะครับว่าจากที่ในปี 2014 ผู้หญิงที่เป็นแม่ครั้งแรกจะมีอายุเฉลี่ย 26.3 ปี ตอนนี้อายุเฉลี่ยที่ว่านี้ขึ้นไปอยู่ที่ราว 28 ปี แล้ว นั่นแปลว่าผู้หญิงมีลูกช้าลงอย่างเห็นได้ชัด

เขาบอกว่า แม้จะสำรวจในสหรัฐอเมริกา แต่เทรนด์นี้ก็พบได้ทั่วโลก และสะท้อนให้เราเห็นว่า คนไม่กลัวเรื่อง ‘ต้องห้าม’ ที่บอกว่าถ้ามีลูกตอนอายุมากๆ จะไม่ดีต่อทั้งลูกและต่อสุขภาพร่างกายของแม่อีกต่อไปแล้วนะครับ

งานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงทั้งทางสังคมและเทคโนโลยี ทำให้ความเป็นแม่เปลี่ยนแปลงไปด้วย

อย่างแรกสุดก็คือ เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทำให้แม่ไม่ต้องกลัวว่าลูกที่อยู่ในท้องจะมีอาการไม่ครบสามสิบสอง หรือมีปัญหานะครับ เพราะวิทยาการทางการแพทย์ป้องกันและรักษาความผิดปกติต่างๆ ได้มากและดีขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือเรื่องทางสังคม งานวิจัยหลายชิ้นบอกว่า ผู้หญิงเริ่มเป็นแม่คนเมื่ออายุมากขึ้น เพราะพวกเธอคิดว่าการเป็นแม่ในช่วงเวลาที่ ‘มั่นคง’ แล้ว ไม่ว่าจะทางสังคม หน้าที่การงาน การเงิน หรือแม้กระทั่งอารมณ์ความรู้สึกภายในตัว เป็นเรื่องที่เมื่อชั่งน้ำหนักแล้ว เหนือกว่าความกลัวอาการแทรกซ้อนที่จะเกิดกับกาารตั้งครรภ์มาก

ในสวีเดน มีการศึกษาในทั้งชายและหญิงมากถึง 1.5 ล้านคน พบว่าผู้หญิงจำนวนมากเลือกมีลูกช้าลง โดยอาจช้าไปถึงขั้นที่แม่มีอายุถึง 40 ปีด้วยซ้ำ แต่กระนั้น ผลการศึกษาก็บอกด้วยว่า แม่ที่มีลูกตอนอายุมาก กลับมีลูกที่สุขภาวะดีกว่า เช่น ร่างกายแข็งแรงกว่า สูงกว่า เรียนดีกว่า และมีโอกาสเรียนสูงกว่า ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะแม่ (และพ่อ) มีความพร้อมมากกว่า

เรื่องนี้น่าสนใจมาก เพราะมนุษย์เราเชื่อว่าช่วงวัย 20s เป็นวัยที่ดีที่สุดในการมีลูก (เรียกว่าเป็น Fertile Prime กันเลยทีเดียว) แต่เมื่อศึกษาแม่คนเดียวกันที่มีลูกในวัย 20 กับมามีลูกอีกทีในวัย 40s เขาพบว่าลูกคนเล็กที่เกิดตอนแม่อายุ 40s นั้น กลับมีอะไรๆ เหนือกว่าลูกคนโตที่เกิดตอนแม่อายุ 20s

ประเด็นสำคัญก็คือ ในช่วง 20 ปี คือระหว่างทศวรรษเก้าศูนย์ กระทั่งถึงปัจจุบันนี้ มีความเปลี่ยนแปลงในโลกที่ ‘ใหญ่’ มาก นั่นทำให้เกิดการเคลื่อนตัวทางสังคมในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน 

มีการคาดการณ์กันว่า ในอีก 20 ปี ถัดไป การเกิดของมนุษย์น่าจะยิ่งน่าตื่นตะลึงมากขึ้น เพราะเทคโนโลยีการตัดต่อยีนทั้งหลาย น่าจะไปปฏิวัติวิธีเกิดของมนุษย์ และช่วยให้โรคทางพันธุกรรมสามารถป้องกันได้มากขึ้น ทำให้เด็กไม่ป่วยเป็นโรคต่างๆ ที่เคยรักษาไม่หายและป้องกันไม่ได้หลายอย่าง

แต่นอกจากตัวเด็กแล้ว ยังมีการศึกษาใหม่พบว่า แม่ที่มีลูกในวัย 30s ยังมีแนวโน้มที่จะอายุยืนยาวกว่าด้วยนะครับ นี่เป็นผลการศึกษาของมหาวิทยาลัย Coimbra ในโปรตุเกส โดยเปรียบเทียบอายุขัยของแม่ในประเทศต่างๆ ในยุโรป พบว่าคนที่เป็นแม่ช้า จะมีอายุยืนกว่าคนที่มีลูกตั้งแต่วัยรุ่นหรือวัย 20s 

อีกการศึกษาหนึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิชาการเกี่ยวกับสุขภาวะของผู้หญิงชื่อ Menopause พบว่า ผู้หญิงที่มีลูกตอนอายุ 33 ปี หรือหลังจากนั้น พบว่าพวกเธอมี DNA ที่แสดงถึงอายุขัยที่ยืนยาวว่าแม่ที่มีลูกตั้งแต่ยังเด็ก ซึ่งต้องขอเน้นย้ำไว้นะครับ ว่านี่ไม่ได้แปลว่าการมีลูกช้าจะทำให้มี DNA นี้เกิดขึ้นมา แต่การมีลูกช้าอาจเป็นผลที่มาจาก DNA ที่ว่านี้ก็ได้ คือยังไม่มีใครสรุปได้ว่าสองเรื่องนี้เป็นเหตุและผลซึ่งกัน (Causation) แต่มีความสัมพันธ์ (Correlation) ซึ่งกัน

ที่จริงยังมีการศึกษาเรื่องนี้ในผู้ชายด้วยนะครับ ซึ่งก็ให้ผลคล้ายๆ กัน นั่นคือผู้ชายที่มีลูกตอนอายุมากๆ แล้ว มักจะมีอายุขัยยืนยาวกว่าผู้ชายที่มีลูกตอนยังหนุ่ม ซึ่งเอาเข้าจริง นักวิทยาศาสตร์ก็อธิบายปรากฏการณ์นี้ไม่ค่อยจะได้ มีคำอธิบายที่ฟังดูไม่ค่อยเป็นวิทยาศาสตร์เท่าไหร่ อย่างเช่นพอมีลูกตอนอายุมาก ก็เลยต้องดูแลตัวเอง เพื่อให้สามารถดูแลลูกไปจนโตได้ เป็นต้น แต่อีกทฤษฎีหนึ่งก็บอกว่า หลายคนที่มีลูกตอนอายุน้อยๆ มักจะมาจากสภาพครอบครัวที่ค่อนข้างมีปัญหา ทำให้มีฐานะทางการเงินและความพร้อมต่างๆ น้อยกว่า 

ปรากฏการณ์นี้แสดงให้เราเห็นว่า โลกและสังคมของมนุษย์กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนโดยแท้