1
สุภาษิตเก่าแก่บทหนึ่งบอกว่า-เป็นเรื่องยากที่จะหาแมวสีดำในห้องมืดพบ,
ฟังแค่นี้ หลายคนคงนึกตามว่า การหาแมวสีดำในห้องมืดนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยจริงๆ เพราะแมวนั้นปราดเปรียว หากไม่อยู่ในอารมณ์จะเคล้าแข้งเคล้าขา มันจะวิ่งหนีปรู๊ดปร๊าดหายไป ความมืดทำให้เราไม่รู้เลยว่ามันอยู่ตรงไหน และเป็นไปได้อย่างยิ่ง ที่มันจะไม่ได้นอนหลับนิ่งๆอยู่กับที่
ดังนั้น จึงมีโอกาสมากทีเดียว ที่เราจะใช้เวลาเท่ากับนิรันดร…ในการตามหาแมวสีดำตัวนั้นในห้องมืดจนพบ
แต่กระนั้น สุภาษิตบทนั้นก็ไม่ได้จบลงเพียงนั้น
มันยังมีต่อไปอีกนิด-ว่า,
…โดยเฉพาะเมื่อไม่ได้มีมีแมวอยู่ในห้องนั้น…
เมื่อได้ยินสุภาษิตบทนี้ครั้งแรกในหนังสือชื่อ Ignorance : How it Drives Science ของ Stuart Firestein ผมอดนึกขำอยู่ในใจไม่ได้ว่า มันช่างเป็นสุภาษิตที่ ‘หลอกลวง’ อะไรเช่นนั้น
มันหลอกให้เราเชื่อว่า ในห้องมืดนั้นมีแมวอยู่ หลอกให้เราคลำหาแมวในห้องมืดนั้นไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้เลยว่ามีอยู่หรือไม่มีอยู่ เราอาจหลงทางค้นหาแมวตัวนั้นไปชั่วชีวิตของเรา หรือตลอดชั่วลูกชั่วหลาน กระทั่งมนุษยชาติสูญพันธุ์ไปแล้ว ก็เป็นไปได้อย่างยิ่งที่เราจะไม่มีวันรู้เลยว่า-ห้องนั้นมีแมวอยู่หรือเปล่า
แต่แล้วห้องนั้นก็ยังหักมุมทำร้ายเราอย่างถึงที่สุด ด้วยการเฉลยในท้ายที่สุดว่า – ในนั้นไม่มีแมวอยู่
แต่กระนั้น หลายครั้งเราก็ยังสงสัย-ไม่มีแมวอยู่ในห้องนั้นจริงๆหรือ,
หรือเพียงแค่เรายังหามันไม่พบ!
เราไม่อาจรู้ได้เลยจริงๆ
2
หนังสือ Ignorance บอกเราว่า-ที่จริงแล้ว วิทยาศาสตร์ก็เป็นอย่างนั้น
ตลอดระยะเวลาหลายร้อยปีที่ผ่านมา วิทยาศาสตร์คลำทางในความมืด วิทยาศาสตร์ไม่ใช่แสงเทียนส่องสว่างที่เอาไว้จุดหาแมวในห้องมืด แต่เป็นความโง่เขลาดำมืดต่างหากที่ผลักขับวิทยาศาสตร์ให้เดินหน้าต่อไป มีคำถามมากมายถึงความมืดนั้น ถึงการดำรงอยู่ของแมวตัวนั้น ที่ทำให้วิทยาศาสตร์เดินหน้าไป นักวิทยาศาสตร์ไม่ได้คุยกันถึงสิ่งที่พวกเขา ‘รู้’ แล้ว แต่นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลกสนทนากันเสมอว่าพวกเขา ‘ยังไม่รู้’ อะไรบ้าง
แมวในห้องมืดไม่ใช่ความฝัน และเราก็ไม่รู้จริงๆว่ามันคือความจริงหรือเปล่า
เพราะมีแต่ความไม่เป็นวิทยาศาสตร์เท่านั้นแหละ ที่ยืนยันเสมอว่าตัวเองคือความจริง
เหมือนบทสนทนาว่าด้วย ‘ความเชื่อ’ ที่เกลื่อนกล่นบนท้องถนนในทุกวันนี้…