คนเดี๋ยวนี้ ‘หัวร้อน’ กันง่ายมาก เอะอะนิดเดียวก็มีเรื่องกันถึงเลือดถึงเนื้อถึงเป็นถึงตาย
คุณเคยสงสัยไหมครับ ว่าทำอะไรทำให้เราเกิดอาการ ‘หัวร้อน’ ขึ้นมาได้?
ถ้าคุณถามใครสักคนว่าทำไมเขาถึงโกรธ คุณอาจได้รับคำตอบประเภท
“ก็มันมาด่าฉันก่อน” “ก็มันมาจอดรถขวาง” “ก็มันมาแกล้งฉัน” “ก็มันไม่ยอมทำตามคำสั่ง ฉันเป็นเจ้านายมันนะ” “ก็มันบิดเบือนความจริง” “ก็มันหมิ่นประมาทฉัน” ฯลฯ
เราพบว่ามี ‘คำอธิบาย’ ให้กับอาการหัวร้อน หัวฟัดหัวเหวี่ยง หรืออาการโกรธต่างๆ นานา เหล่านี้ได้หลากแบบ แต่ส่วนใหญ่เป็นคำอธิบายที่บอกถึงเหตุผลทางสังคมมากกว่า คำถามก็คือ แล้วในทางวิทยาศาสตร์ล่ะ มีคนมอง ‘ความโกรธ’ อย่างไรบ้าง มันมาจากไหน มีจุดกำเนิดที่ไหน
นักจิตวิทยาบอกว่า ความโกรธของเรามีที่มาสามแหล่งหลักๆ คือ
1. เมื่อความปรารถนา ความต้องการ หรือเป้าหมายของเราไม่บรรลุถึง
2. เรารู้สึกเหมือนถูกข่มขู่คุกคาม
3. เราพยายามจะซ่อนอารมณ์อื่นของเรา โดยเฉพาะในผู้ชายที่อาจเกิดความรู้สึกอ่อนไหวบางอย่าง เช่น ความเศร้า ความกลัว หรือความไม่มั่นคง ก็เลยต้องแสดงท่าว่าโกรธออกมาแทน
แต่ถ้าไปดูคำอธิบายเรื่องความโกรธจากนักประสาทวิทยากัน (ดูรายละเอียดได้จากบทความวิชาการชื่อ Considering Anger from a Cognitive Neuroscience Perspective) เขาบอกว่า ความโกรธก็คือ ‘ปฏิกิริยา’ ที่เกิดจากการถูกกระตุ้น แล้วร่างกาย (หรือจริงๆ คือสมอง) ทำงานแบบนั้นแบบนี้ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความโกรธเป็นเรื่องที่เริ่มต้นขึ้นจากสมองของเรานั่นเอง
ปกติแล้ว ความโกรธไม่ใช่เรื่องที่จู่ๆ ก็จะเกิดขึ้นนะครับ แต่มันเป็น ‘ปฏิกิริยาตอบสนอง’ (Reaction) จากสิ่งเร้าอะไรบางอย่างที่ทำให้เกิดความรู้สึกไม่สบายใจ (Frustration) ตามด้วยความโกรธซึ่งอาจจะคุกรุ่นอยู่ข้างใน ก่อนระเบิดออกมาเป็นความก้าวร้าวรุนแรง ดังนั้นจึงแบ่งได้เป็นสามเฟสด้วยกัน คือ
Frustrated –> Anger –> Aggression
โดยอาการที่เรียกว่า ‘หัวร้อน’ นั้น น่าจะเป็นอาการในเฟสที่สองและสาม เฟสที่สองคือ Anger ที่อาจจะหัวร้อนอยู่ภายใน ยังไม่ได้แสดงออกให้ใครเห็น แต่ตัวเองรู้สึกว่าหัวร้อน – ซึ่งเอาจริงๆ ต้องบอกว่าศัพท์ ‘หัวร้อน’ นี้เป็นศัพท์ที่ตรงกับสภาพในสมองของเรามาก เนื่องจากบางส่วนในสมอง (เช่น อะมิกดาลา – Amygdala) ทำงานกันแบบเดือดปุดๆ เลยทีเดียว ทำให้เกิดการหลั่งสารเคมีหลายอย่าง (เช่น อะดรีนาลีน) ออกมาเตรียมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในเฟสที่สาม คือ Aggression นั่นคือมีการแสดงออกให้คนอื่นเห็นว่าคนที่โกรธกำลัง ‘หัวร้อน’ อยู่
ด้วยเหตุนี้ นักประสาทวิทยาจึงบอกว่า ความโกรธในระดับที่แสดงความก้าวร้าวรุนแรงให้เห็นนั้นเป็น Reactive Aggression คือเป็นความโกรธที่เกิดจากการถูกกระตุ้นเร้าบางอย่าง ซึ่งเป็นอาการที่พบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดนะครับ
ความโกรธคือส่วนหนึ่งของปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งคุกคามในสัตว์ (ซึ่งก็รวมทั้งมนุษย์ด้วย) ถ้าเป็นอันตรายแบบบางเบา ไม่หนักหนาสาหัส และอยู่ไกล สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหลายจะเกิดอาการหยุดชะงัก (Freezing) ก่อน แต่ถ้าระดับการคุกคามเริ่มมากและใกล้เข้ามา ก็จะเกิดปฏิกิริยาแรกเริ่มก่อน คือการหนี (Flight) แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ หนีไม่ได้ ก็จะต้องตอบโต้ด้วย Reactive Aggression (หรือ Fight) นี่แหละครับ
ดังนั้น ปฏิกิริยาต่อสิ่งคุกคามของเราจึงมักเริ่มจาก Freeze ตามด้วย Flight และจบด้วย Fight (ถ้าสิ่งคุกคามไม่ได้หายไป) ซึ่งปฏิกิริยาเหล่านี้ ล้วนมีระบบประสาทเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งนั้น สมองส่วนที่ตอบสนองต่อปฏิกิริยาพวกนี้ มีตั้งแต่อะมิกดาลา, ไฮโปธาลามัส, สมองส่วนที่เป็นเนื้อสีเทา และในมนุษย์ กระทั่งสมองส่วนหน้า (Frontal Systems) ที่คอยควบคุมอารมณ์ความรู้สึกก็ยังเกี่ยวข้องด้วย ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นมีมากมาย เช่น ม่านตาเบิกกว้าง (ลองนึกถึงนางร้ายในละครไทยดูก็ได้นะครับ) กล้ามเนื้อหัวใจสูบฉีดเร็วขึ้นโดยคุณไม่รู้ตัว อะดรีนาลีน อีพิเนฟรินและนอร์อีพิเนฟรินหลั่งออกมา ความดันเลือดสูงขึ้น แถมยังอาจเหงื่อแตก (แบบที่บอกกันว่าโกรธจนเลือดเดือดนั่นแหละครับ) ซึ่งทั้งหมดนี้เราแทบควบคุมอะไรมันไม่ได้เลย พูดง่ายๆ ก็คือ ความโกรธนั้นเป็นเรื่องที่ ‘ถูกตั้งโปรแกรม’ เอาไว้แล้วในมนุษย์แต่ละคน ทว่าแต่ละคนจะถูกกระตุ้นให้โกรธง่ายโกรธยากไม่เท่ากัน ด้านหนึ่งเป็นไปตามพันธุกรรม แต่อีกด้านหนึ่งเป็นไปตามการกล่อมเกลาของสังคม พูดแบบบ้านๆ ก็คือ แต่ละคนถูก ‘กระตุกต่อม’ ได้เร็วช้าไม่เหมือนกัน
ปัจจัยที่ทำให้เราเกิดความโกรธ (หรือเกิด Reactive Aggression ซึ่งก็คืออาการ ‘หัวร้อน’) นั้น มีหลายอย่าง อย่างหนึ่งก็คือการต้องเผชิญกับภัยคุกคาม (Threats) (หรือสิ่งที่เราอาจ ‘คิดไปเอง’ ว่าเป็นภัยคุกคาม) ในระดับรุนแรง ซึ่งจะทำให้ระบบตอบสนองในร่างกายของเราทำงานขึ้นมาแบบฉับพลันทันที ความโกรธอีกอย่างหนึ่งก็คือการเผชิญกับภัยคุกคามที่ไม่รุนแรงแต่ต่อเนื่องยาวนาน แบบนี้จะก่อให้เกิดอาการที่เราเรียกกันทั่วไปว่า ‘ประสาทเสีย’ ขึ้นมาได้ แต่จริงๆ ก็คือการที่สมองส่วนหน้า (Frontal Cortex หรือ Frontal System) ที่คอยควบคุมพฤติกรรมต่างๆ มันเกิดอาการไม่ทำงาน (Dysfunction) ขึ้นมา ก็จะทำให้ความโกรธที่ค่อยๆ สะสมตัวอยู่นั้นระเบิดออกมาได้ในคราวเดียว จึงทำให้คนอื่นเห็นว่าคนคนนั้นมีอาการหัวร้อน
ความโกรธอีกแบบหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อคนเรามีอาการไม่พอใจในระดับ Frustrate นานๆ แต่ไม่ได้เกิดจากภัยคุกคามนะครับ แต่เกิดเพราะพยายามทำอะไรบางอย่างต่อเนื่องยาวนาน แต่ไม่ได้รับผลตอบแทน (Reward) เช่นคุณอาจจะตั้งใจเรียน ตั้งใจทำงาน แต่สุดท้ายครูหรือเจ้านายมองไม่เห็นความตั้งใจพวกนี้ ก็จะเกิดความน้อยใจขึ้นมาก่อน แล้วถ้ามากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะกลายเป็นความโกรธจนแสดง Reactive Aggression ออกมาได้เหมือนกัน ทั้งนี้ก็เพราะรางวัลหรือผลตอบแทนนั้น จะทำให้สมองหลั่งสารเคมีที่ให้ความสุขออกมา แต่เมื่อไม่ได้รางวัลเสียที ก็จะเกิดผลตรงข้าม
ทุกคนคงรู้ดีนะครับ ว่าเวลาเราโกรธหรือ ‘หัวร้อน’ เรามักจะทำอะไรๆ ออกไปโดยไม่คำนึงถึงผลลัพธ์ ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะสมองส่วนหน้าของเรามักจะไม่ทำงาน เราจึงสูญเสียความสามารถที่จะเห็นถึงผลจากการกระทำของเรา เราก็เลยทำอะไรบางอย่างที่ปกติแล้วเราจะไม่ทำเวลาที่เราสงบๆ
อย่างไรก็ตาม ความโกรธ (ในระดับที่พอดีๆ) ก็มีประโยชน์ของมันด้วยเหมือนกันนะครับ อย่างแรกก็คือ เวลาที่เราโกรธ (ในระดับ ‘หัวระอุ’ ยังไม่ร้อนออกมาให้คนอื่นเห็นน่ะนะครับ) มันจะส่งผลให้เราอยากเอาชนะสิ่งคุกคามต่างๆ มากขึ้น สิ่งคุกคามที่ว่านี้เป็นได้ตั้งแต่เพื่อน คู่แข่ง การบ้าน การทำงาน ลูกค้าที่ต้องไปพิตช์งาน ฯลฯ สมมุติว่าเราไม่โกรธเลย อารมณ์ของเราราบเรียบอยู่ตลอดเวลา ไม่รู้สึกรู้สาอะไร เราก็จะทำงานออกไปงั้นๆ แต่ถ้าเมื่อไหร่เราโกรธ เราอาจจะใช้ความโกรธเป็นแรงผลักดัน ทำให้ทำงานบางอย่างออกไปได้อย่างแข็งแรงและรัดกุมมากยิ่งขึ้น
อีกเรื่องที่หลายคนอาจคาดไม่ถึงก็คือ ความโกรธทำให้เรามองโลกในแง่บวกได้ด้วยนะครับ มันอาจจฟังดูขัดแย้งกัน แต่ความโกรธจะทำให้เรามองอนาคตในแง่บวกมากขึ้น เพราะเราข้ามผ่านขั้นตอน Flight หรือการหนีเพราะความหวาดกลัวไปสู่โหมด Fight หรือสู้กับสิ่งคุกคามแล้ว มีงานวิจัยที่ไปลองถามคนที่อยู่ในสภาวะกลัวกับโกรธ พบว่าคนที่กลัวจะหวาดหวั่นกับอนาคตมากกว่า พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือมองอนาคต (หรือผลลัพธ์ของงาน) ออกมาในแง่ลบมากกว่า แต่คนที่โกรธ (แต่พอดี) จะเห็นว่าสิ่งที่เป็นอุปสรรคนั้นคือความท้าทายที่จะต้องเอาชนะให้ได้ จึงมักมองผลลัพธ์ในแง่บวกมากกว่า ความโกรธยังส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ด้วยนะครับ ยิ่งถ้าเรารู้จัก Channel ความโกรธของเราไปสู่งาน มันคือการนำพลังงานอย่างหนึ่งไปแปรเป็นพลังงานอีกอย่างหนึ่งนั่นเอง
คำถามก็คือ เอ๊ะ! แล้วเราจะควบคุมความโกรธได้มั้ย คำตอบก็คือได้สิครับ เราสามารถ ‘ปิดสวิตช์’ ความโกรธได้ด้วยนะครับ ถ้าหากว่าเราสามารถควบคุมสมองของเราได้ นักวิทยาศาสตร์บอกว่า สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความโกรธและอาการก้าวร้าว ก็คือสมองส่วน Prefrontal Cortex ซีกซ้าย ถ้าเรา ‘ปิด’ การทำงานของมันได้ เราก็เยือกเย็นราวกับเป็นมหาตมะคานธีเลย (แต่ไม่รับรองนะครับ ว่าการทำงานอื่นๆ ที่เกิดจากสมองส่วนนี้จะเสียไปด้วยหรือเปล่า) แต่ในความเป็นจริงก็คือ เราเลือกปิดการทำงานของสมองเฉพาะส่วนแบบนี้ไม่ได้หรอกครับ
ถ้าเราโกรธมากๆ เลือดของเราก็จะเต็มไปด้วยสารเคมีต่างๆ ตั้งแต่ฮอร์โมนอย่างที่ว่าไปแล้ว รวมไปถึงกลูโคสและกรดไขมันด้วย ซึ่งถ้าเราโกรธมากๆ บ่อยๆ ย่อมไม่ดีต่อสุขภาพของเราแน่ๆ บางคนบอกว่าอาจทำให้เส้นเลือดตีบได้เลยทีเดียว
ด้วยเหตุนี้ ลองมาดูแลตัวเองกันหน่อยดีไหมครับ คือโกรธแต่พอดีๆ เอาแค่ให้เรา ‘หัวระอุ’ ผ่าวๆ หน่อยๆ เพื่อเป็นแรงขับในการทำงานต่างๆ ให้เราเข้าไปสู่โหมด Fight แทนที่จะ Flight ก็น่าจะดีกว่าปล่อยตัวให้ Reactive Aggression มันทำงานถึงขั้น ‘หัวร้อน’ แสดงออกมาโดยลืมไปหมดว่าอาจเกิดผลลัพธ์อะไรได้บ้างเลย
ก็จริงเนอะ – คนเราเลือกเกิดไม่ได้พอๆ กับเลือกโกรธไม่ได้นั่นแหละ แต่กระนั้นก็มีตัวอย่างเยอะแยะไปครับ ว่าถ้าฝึกตัวเองบ่อยๆ เราก็จะดูแลความโกรธของเราพอได้เหมือนกันนั่นแหละ
แล้วความโกรธ (แต่พอดี) ก็จะกลายเป็นประโยชน์ได้ในที่สุด