ใครๆ ก็คงรู้ ว่าเบลเยี่ยมเป็นเมืองแห่งช็อกโกแลต โดยเฉพาะช็อกโกแลตยี่ห้อ Godiva ที่มีกำเนิดในเมืองบรัสเซลส์ของเยลเยี่ยม โดยคุณโจเซฟ แดร็พส์ (Joseph Draps) ได้เปิดร้านช็อกโกแลตแห่งแรกที่ Grand Place ในบรัสเซลส์ โดยใช้ชื่อ ‘โกไดวา’ มาตั้งแต่ต้นเลย
ว่าแต่ – คุณรู้ไหมครับ ว่าชื่อโกไดวามาจากไหน
หลายคนคงพอรู้ว่า โกไดวาเป็นชื่อของผู้หญิงคนหนึ่งที่มีอะไรบางอย่างเซ็กซี่อยู่ในตัว ถ้าไปดูรูปปั้นของ ‘เลดี้โกไดวา’ ที่อยู่ที่เมืองโคเวนทรีของอังกฤษ เราจะพบว่าเลดี้โกไดวาคือผู้หญิงเปลือยที่นั่งอยู่บนหลังม้า เธอดูเซ็กซี่ด้วยรูปร่างที่กลมกลึงกะทัดรัด และผมยาวสลวยที่ปล่อยเคลียบ่าไล่ลงมาจนถึงหน้าอก
เห็นภาพแบบนี้แล้ว หลายคนอาจคิดว่านี่เป็นเพียงภาพของผู้หญิงเซ็กซี่ธรรมดาๆ คนหนึ่ง ซึ่งเมื่อนำมาเป็นชื่ีอของช็อกโกแลต ก็น่าจะสื่อถึงความรัญจวนใจและอีโรติก ซึ่งก็น่าจะเข้ากันกับช็อกโกแลตได้เป็นอย่างดี
แต่คุณรู้ไหมครับ ว่าที่จริงแล้วเรื่องราวของเลดี้โกไดวาไม่ได้มีเท่านี้ เธอไม่ได้เป็นแค่หญิงเปลือยที่กระโดดขึ้นหลังม้าเพื่อความเซ็กซี่อีโรติก และเธอก็ไม่ได้เป็นแค่ตำนานหรือเป็นเทพีในเทพปกรณัมใดๆ ทั้งนั้น ทว่าเลดี้โกไดวาเป็นผู้หญิงที่มีเลือดเนื้อจริงๆ ในประวัติศาสตร์
แต่ก็อีกนั่นแหละ – เธอมาเปลือยกายขี่ม้าเพื่ออะไรกัน เลดี้โกไดวาอาจมีตัวตนจริง แต่การเปลือยกายขี่ม้าคือ ‘เรื่องจริง’ ที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ด้วยหรือเปล่า
นี่ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่จนถึงปัจจุบันนี้
เลดี้โกไดวา เป็นภรรยาของลีโอฟริก (Leofric) ผู้เป็นเอิร์ลแห่งเมอร์เซีย (Earl of Mercia) จริงๆ แล้วชื่อของเธอมีการสะกดหลายแบบ ถ้าเป็นภาษาอังกฤษโบราณ (Old English) จะสะกดว่า Godgifu หรือ Godgyfu ซึ่งแปลว่า ‘ของขวัญจากพระเจ้า’ แต่พอนำมาแปลงเป็นภาษาละติน ก็จะกลายเป็น Gidova
เธอมีชีวิตอยู่ในช่วง ค.ศ. 1000 เศษๆ (เชื่อว่าเธอเสียชีวิตระหว่างปี 1066 ถึง 1086 แต่ไม่มีบันทึกว่าเธอเกิดเมื่อไหร่) เธอกับสามีเป็นคนใจบุญสุนทานและเคร่งศาสนาถึงระดับที่ลีโอฟริกนั้นเคยสร้างอารามของพระเบเนดิกทีนในโคเวนทรีขึ้นมอบให้กับศาสนจักรกันเลยทีเดียว โดยมีบันทึกบอกว่า เป็นตัวโกไดวานี่แหละที่คอยผลักดันและสนับสนุนสามีของเธออยู่เบื้องหลัง และหลังจากนั้น ทั้งคู่ก็ร่วมกันทำบุญบริจาคโน่นนั่นนี่อีกมากมาย รวมทั้งสร้างอารามในเมืองต่างๆ หลายแห่งด้วย
แล้วคนใจบุญเคร่งศาสนาอย่างเธอ จะมาเปลือยกายขี่ม้าไปทำไม?
เรื่องนี้ปรากฏจริงๆ ก็ในราว 200 ปี หลังจากเลดี้โกไดวาได้เสียชีวิตไปแล้วนะครับ ในงานเขียนของนักเล่าเกร็ดประวัติศาสตร์พงศาวดารอย่าง โรเจอร์แห่งเวนโดเวอร์ (Roger of Wendover) ซึ่งก็ต้องบอกกันก่อนว่า คุณโรเจอร์นั้นไม่ได้เป็น ‘นักประวัติศาสตร์’ ตามความหมายของการศึกษาประวัติศาสตร์สมัยใหม่ สิ่งที่เขาทำก็คือการบันทึกเกร็ดต่างๆ ตามที่ได้รับฟังต่อๆ กันมาเท่านั้น แต่กระนั้นงานของเขาก็ถือว่าเป็นงานสำคัญ เพราะมันบันทึกหลักฐานหลายอย่างเอาไว้ โดยเฉพาะในงานชื่อ Flores Historiarum (Flowers of History)
เรื่องเล่าที่อยู่ในงานชิ้นนี้ค่อนข้างขัดแย้งกับ ‘ภาพ’ ของลีโอฟริกที่มีบันทึกอยู่ในประวัติศาสตร์ เพราะเรื่องเล่านี้บอกว่า ลีโอฟริกเป็นหนึ่งในสามเอิร์ลที่มีอำนาจมากที่สุดในแผ่นดินอังกฤษ สิ่งที่เขาทำก็คือการเก็บภาษีประชาชนสูงลิบ ทำให้เลดี้โกไดวาเห็นใจประชาชน เธอพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้สามีของเธอลดภาษี เธอร้องขอและอุทธรณ์ต่อสามีครั้งแล้วครั้งเล่าจนสามีระอาใจ ในที่สุดเขาก็ท้าทายเธอว่า ถ้าเธอยอมขี่ม้าเปลือยกายไปในเมืองละก็ เขาจะลดภาษีให้ก็ได้
เธอก็เลยทำตาม ทั้งเนื้อตัวไม่มีอาภรณ์อะไรปกปิด เว้นแต่เส้นผมยาวสลวยของเธอเท่านั้น แต่ในเวลาเดียวกัน เธอก็ออกประกาศด้วยว่า ขอให้ประชาชนทั้งเมืองอยู่แต่ในบ้าน ปิดประตูเสีย อย่าได้ออกมาแอบดูเธอเป็นอันขาด เพราะเธออาย และทั้งหมดที่เธอทำก็ทำไปเพื่อทุกคนนั่นแหละ แต่ก็มีเรื่องเล่าว่า มีกระทาชายนายหนึ่งชื่อทอม (ต่อมาได้ฉายาว่าเป็น Peepign Tom) ที่มาแอบถ้ำมองเธอ
การเปลือยกายบนหลังม้าถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดศีลธรรมและสมควรได้รับการประณามหยามเหยียดอย่างยิ่งในสังคมของคนที่เคร่งครัดศาสนาในเวลานั้น แต่เนื่องจากเลดี้โกไดวาทำไปด้วยเหตุผลที่ดีงาม ผลลัพธ์ก็คือสามีของเธอต้องยอมแพ้ ยอมยกเลิกภาษีที่ไม่เป็นธรรม และทำให้โกไดวากลายเป็นวีรสตรีของเมืองไปในทันที นั่นจึงเป็นสาเหตุที่โกไดวามีรูปปั้นของเธอตั้งอยู่กลางเมือง
แต่ก็อีกนั่นแหละครับ ไม่มีใครรู้หรอกว่าตำนานเรื่องเล่าที่เกิดขึ้นหลังเธอมีชีวิตอยู่ถึง 200 ปี เป็นเรื่องจริงหรือเป็นเพียงเรื่องที่แต่งขึ้นกันแน่ ทว่าในที่สุด เมื่อตำนานเริ่มเป็นที่เชื่อถือมากขึ้นเรื่อยๆ ในศตวรรษที่ 17 ชาวเมืองก็จัดขบวนแห่เลดี้โกไดวากันขึ้นมา โดยให้ผู้หญิงแต่งตัวในชุดสีเนื้อ คล้ายๆ กับเปลือยร่าง แล้วขี่ม้าไปรอบเมืองเพื่อรำลึกถึงเลดี้โกไดวา แม้เทศกาลนี้จะเคยถูกประท้วงจนยกเลิกไปในยุควิคตอเรียที่มีความเคร่งครัดเรื่องเพศ แต่ที่สุดก็ได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมา และยังคงมีการจัดกันต่อมาจนถึงทุกวันนี้
ไม่ว่าตำนานจะเป็นจริงหรือไม่ก็ตาม เลดี้โกไดวาก็ได้รับการบันทึกชื่อเอาไว้เพราะที่เหล่าชาวนอร์มังดีจากฝรั่งเศสบุกเข้ามาสู่อังกฤษ (เรียกว่า Norman Conquest) แล้วจัดทำสำมะโนประชากรที่เรียกว่า Doomsday Survey ขึ้นมาจนเสร็จสมบูรณ์ปี 1086 ตามบัญชาของกษัตริย์วิลเลียม (William the Conqueror) เพื่อบันทึกถึงประชากรและเรื่องราวต่างๆ ทั้งในอังกฤษและบางส่วนของเวลส์
สามีของเลดี้โกไดวาเสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 1057 แล้ว แต่เธอยังมีชีวิตอยู่โดยมีฐานะและยศฐาบรรดาศักดิ์ที่ดี ถือว่าเป็นหนึ่งในเจ้าของที่ดินรายใหญ่ของอังกฤษคนหนึ่ง ดังนั้น การสำรวจของกษัตริย์วิลเลียมจึงต้องบันทึกเรื่องของเธอเอาไว้ด้วย แต่กระนั้น ในตอนที่บันทึกนี้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ (คือปี 1086) เลดี้โกไดวาได้เสียชีวิตไปแล้ว มีการสำรวจรายการที่ดินต่างๆ ของเธอ ซึ่งตอนนั้นอยู่ในความครอบครองของคนอื่น แต่ก็ทำให้เรารู้ว่า เลดี้โกไดวาเสียชีวิตไปในช่วงระหว่างปี 1066 ถึง 1086
ไม่มีใครรู้แน่ว่าศพของเธอถูกฝังเอาไว้ที่ไหน บันทึกหนึ่ง (คือ Evesham Chronicle) บอกว่า เธอถูกฝังไว้ที่โบสถ์ชื่อ Church of the Blessed Trinity ที่เมือง Evesham แต่โบสถ์นี้ก็ไม่เหลืออยู่แล้ว อีกบันทึกหนึ่งบอกว่า เธอน่าจะถูกฝังเอาไว้เคียงคู่กับสามีที่เมืองโคเวนทรี แต่กระนั้นก็ไม่รู้แน่ว่าที่ไหน
แดร็พส์เลือกชื่อ Gidiva ให้กับร้านช็อกโกแลตของเขา เพราะเขาหลงรักตำนานของเลดี้โกไดวา และเมื่อคิดจะสร้างร้านช็อกโกแลตที่มีความเข้มข้นและคุณภาพดีเป็นพิเศษ เขาจึงไม่นึกถึงชื่ออื่นเลยนอกจากชื่อโกไดวา และทำให้เบลเยี่ยมขึ้นชื่อเรื่องช็อกโกแลตมาจนบัดนี้