ว่าด้วยการ ‘แซะ’

คุณคงเคยเห็นคน ‘แซะ’ กันในโลกอินเทอร์เน็ต

การแซะก็คือการบ่อนทำลายอีกฝั่งหนึ่ง โดยมากมักเกิดขึ้นด้วยการกล่าวลอยๆ ไม่เจาะจงตรงไปตรงมาว่าพูดถึงใคร แต่มีการบอกใบ้ให้พอรู้ว่าเป็นใคร

การแซะมักเกิดขึ้นเนื่องจากผู้แซะ ‘พิพากษา’ แล้วว่า อีกฝ่ายหนึ่งกำลังทำอะไรบางอย่างผิด แต่กระนั้น ผู้แซะก็ไม่ต้องการจะใช้วิธีตรงไปตรงมาในการบอกกล่าวกับผู้ถูกแซะ ไม่ว่าจะด้วยวิธี ‘ดีๆ’ เช่น การระบุชื่อออกมาเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ เขียนหลังไมค์ไปหาตรงๆ นัดคุยกัน หรือด้วยการ ‘ด่า’ กันตรงๆ 

ที่จริงแล้ว การแซะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ในสมัยก่อนการแซะเกิดขึ้นในนามของการล้อเลียน โดยเฉพาะการล้อเลียนโดยใช้อารมณ์ขัน เช่นที่เราเห็นในการ์ตูนล้อการเมือง ซึ่งจะเห็นได้เลยว่า มักเป็นการแซะของคนที่มีอำนาจน้อยกว่า (คืออยู่ด้านล่างของโครงสร้างสังคม) ค่อยๆ เซาะ ค่อยๆ แซะ ค่อยๆ สื่อ เพื่อให้คนอื่นเห็นถึงภัยของอำนาจที่อยู่ด้านบนกว่าและใหญ่กว่า โดยใช้อารมณ์ขันมาปกปิดเป็นเครื่องประดับ การแซะในแบบดั้งเดิมจึงเป็น ‘อาวุธ’ ของคนที่มีอำนาจน้อย ที่ใช้เพื่อต่อกรกับผู้มีอำนาจมากกว่า ในโลกออนไลน์ปัจจุบัน เราจะเห็นได้ว่า การแซะที่เกิดเป็นวงกว้าง ไวรัล และแพร่หลายไปได้ไกลๆ หรือพูดได้ว่าเป็นการแซะที่มีสัมฤทธิผล มักเป็นการแซะผู้มีอำนาจหรือสภาวะที่เป็นตัวแทนของอำนาจที่ใหญ่กว่าแทบทั้งนั้น

การแซะผู้มีอำนาจเหนือกว่า จึงคือความพยายามบ่อนทำลายที่ฐานราก โดยหวังว่าจะเกิดผลสะเทือนต่อเนื่อง เพราะมีคนอื่นๆ เห็นด้วยกับการแซะหรือการพิพากษานั้น แล้วค่อยๆ ส่งเป็นคลื่นกระเพื่อมออกไป จนในที่สุดก็ไป ‘ทำลาย’ ผู้ถูกแซะที่ตั้งตระหง่านเหมือนหอคอยให้ล้มครืน หรืออย่างน้อยที่สุดก็ค่อยๆ ทรุดลงมา

แต่ในโลกปัจจุบัน อำนาจของคนที่อยู่ในโลกออนไลน์นั้นค่อนข้างเท่าเทียมกันด้วยหลายเหตุผล ดังนั้น เราจึงมักพบเห็นการแซะอีกแบบหนึ่งได้บ่อยครั้งขึ้น

การแซะในแบบหลังนี้ ผู้แซะจึงมักต้องทำทีออกตัวเอาไว้ก่อนว่า ตัวเองเป็นคนไม่เก่ง รู้น้อย ไม่ได้เชี่ยวชาญอะไรนักหนาหรอก แต่จำเป็นต้องออกมาแซะเพราะมองเห็นถึงอันตรายบางอย่าง แต่การที่ผู้แซะบอกว่าตัวเงมี ‘ความสามารถ’ จะ ‘เห็น’ ถึงอันตรายที่ว่า โดยเนื้อแท้ก็คือการบอกเป็นนัยว่า ผู้แซะมีอะไรบางอย่าง ‘เหนือ’ กว่าผู้ถูกแซะ และในบางกรณีก็ ‘เหนือ’ กว่าผู้อ่านด้วย

การแซะแบบนี้อาจเกิดขึ้นด้วยหลายเหตุผล เช่น ขี้เกียจรำคาญ ไม่กล้าหาญมากพอ ไม่อยากมีปัญหา ไม่อยากต่อความยาวสาวความยืด ไม่อยากสร้าง ‘บทสนทนา’ ต่อเนื่อง หรืออะไรก็แล้วแต่ ดังนั้นจึงเลือกใช้วิธี ‘แซะ’ ซึ่งก็คือการนำ ‘แบบจำลอง’ ของการแซะแบบดั้งเดิมมาใช้ การแซะแบบนี้ไม่ใช่การแซะที่มีความจริงแท้ของการแซะแบบดั้งเดิมอยู่ในตัว จึงพูดอีกอย่างได้ว่าเป็น ‘เฟคแซะ’ 

บ่อยครั้ง ที่การแซะในแบบที่สองมักล้มเหลว เพราะมันคือการแซะที่เป็นขั้วตรงข้ามของอาการ ‘ยกตนข่มท่าน’ (อาจเรียกได้ว่าเป็นการ ‘กดตนข่มท่าน’ ก็ได้) คือทำทีกดตัวเองเพื่อเอื้อมมือลงไปแซะอีกฝ่าย แต่แท้จริงมีสำนึกรู้ในอัตตาอยู่เต็มเปี่ยมว่าตัวเองสูงส่งมากกว่าอีกฝ่ายเพียงใด

การแซะแบบ ‘เฟคแซะ’ จึงมักได้ผลในวงแคบๆ เอออวยกันในเฉพาะในหมู่ผู้ที่มีความคิดเห็นคล้ายๆ กันเท่านั้น โดยมาก ‘เฟคแซะ’ มักไม่ค่อยประสบผลสำเร็จเท่าไหร่ เพราะมันล้มเหลวและย้อนแย้งในหลักการของตัวเองมาตั้งแต่ต้นนั่นเอง

อ่านมาจนถึงตรงนี้ คงพอเห็นภาพแล้วนะครับ ว่าที่เขียนมาทั้งหมดนี้ คือตัวอย่างหนึ่งของวิธีการ ‘เฟคแซะ’ โดยแท้